กพช. เคาะกรอบกู้เงินโปะกองทุนน้ำมัน ขยายไม่เกิน 4 หมื่นล้าน

กพช. ไฟเขียวหักเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานเหลือครึ่งสตางค์/ลิตร ส่งผลเก็บเงินปี 65 เพียง 145-150 ล้านบาทต่อปี จาก 3.5 พันล้าน/ปี แง้มสัปดาห์หน้าจ่อประกาศแผนดำเนินงาน ก่อนเปิดยื่นรับสมัครโครงการปี 2565 ปลัด “กุลิศ” เผยเหลือเพดานกู้เงินดูแลน้ำมันดีเซลอีกหมื่นกว่าล้าน หากจำเป็นต้องเพิ่ม จะกู้ได้ไม่เกินจำนวน 40,000 คาดจะรับเงินได้งวดแรกเร็วสุดประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในช่วงกลางเดือน ม.ค. 65

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุม เห็นชอบการปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของน้ำมันเบนซินน้ำมันก๊าซโซฮอลน้ำมันก๊าดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วหมุนช้าและน้ำมันเตา จากเดิมที่เก็บในอัตรา 10 สตางค์ต่อลิตรเหลือ 0.005 บาทต่อลิตร(ครึ่งสตางค์) เป็นระยะเวลา 1 ปี หรือภายในปี 2565 ส่งผลให้การเก็บเงินเข้ากองทุนฯจะเหลือประมาณ 145-150 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่เคยเก็บอยู่ประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ปี 66-67 จะเก็บในอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร (5สตางค์) ซึ่งจะมีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ จึงเห็นชอบแนวทางหลักเกณฑ์เงื่อนไขและลำดับความสำคัญของการจ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 65-67 เหลือปีละ 4,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 10,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งยังยืนยันว่าจะสามารถส่งเสริมโครงการเพื่ออนุรักษ์พลังงาน หรือพัฒนาพลังงานทดแทนได้ทั่วประเทศรวม 76 จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพฯ) โดยจะจัดสรรงบประมาณให้ 25 ล้านบาทต่อจังหวัด รวมเป็นเงินประมาณ 1,900 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) จะมีการอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ และกำหนดกรอบเป้าหมายการส่งเสริมใน 7 กลุ่ม อาทิ กลุ่มงานตามกฎหมาย กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร เป็นต้น

“ภายในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมเพื่ออนุมัติแผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ และหลังจากนั้นจะเปิดให้แต่ละหน่วยงานยื่นเสนอขอใช้งบประมาณเข้ามาได้ โดยยังเปิดช่องทางให้ยื่นผ่านระดับพลังงานจังหวัดเป็นผู้กลั่นกรองก่อนได้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ ภายในม.ค. 2565 ซึ่งมั่นใจว่าวงเงินที่จัดสรรไว้ 4,000 บาท จะสามารถรองรับโครงการที่ยื่นเสนอเข้ามาได้เพียงพอ” นายกุลิศ กล่าว

นายกุลิศ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ทบทวนแผนรองรับวิกฤตด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2563-67 เพื่อรองรับกรณีมีการเปลี่ยนแปลงวงเงินกู้ โดยให้บริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดกรอบตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ว่าหากจำเป็นต้องมีการกู้เงิน

เมื่อรวมกับเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว จะกู้ได้ไม่เกินจำนวน 40,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันกระทรวงพลังงานสามารถกู้เงินได้ประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท เนื่องจากเงินในกองทุนฯเหลือประมาณ 7,400 ล้านบาท แต่จากมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) แล้วดำเนินการกู้เพียง 20,000 ล้านบาทเท่านั้น คาดว่าจะได้รับงวดแรกในเดือนมกราคม 2565

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังได้เห็นชอบให้ ทบทวนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท PETRONAS LNG LTD., เนื่องจากสถานการณ์ตลาดแอลเอ็นจีในปัจจุบันมีแนวโน้มตึงตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเงื่อนไขสัญญาระหว่าง บริษัท ปตท. และ PETRONAS นั้นก็ให้คู่สัญญาเปิดเจรจา Price Review ได้ในระหว่างปีที่ 5 ของสัญญา

ทั้งนี้ ปตท. จึงขอเจรจาในปี 2564 เพื่อปรับลดราคาแอลเอ็นจี โดยได้ข้อสรุปผลการเจรจา LNG Price Review สามารถปรับลดสูตรราคา LNG SPA ลงเฉลี่ย -7% จากเดิมที่มีสัญญาซื้อขายอยู่ที่ 8.6 เหรียญสหรัฐต่อตัน เหลือประมาณ 8 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ซึ่งสามารถลดต้นทุนการจัดหาแอบเอ็นจีลงได้ประมาณ 900 – 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือรวมประมาณ 4,500 – 5,000 ล้านบาทในปี 2565 – 2569 และส่งผลให้สามารถนำไปลดต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) ประมาณ 0.42 สตางค์ต่อหน่วยทำให้ค่าไฟที่เรียกเก็บกับประชาชนมีแนวโน้มลดลง โดย กพช.มอบหมายให้บริษัท ปตท. เสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาต่อไป

อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบฟีด อิน ทารีฟ (FiT) สำหรับปี 2565 เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT ปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย

และสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 – 50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย และระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี โดยมอบหมายให้ กกพ. พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินการแต่ละโครงการ และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ