มัดมือ “อาหารสัตว์” ซื้อข้าว 130 โรงสีหวังระบายสต๊อก

ข้าว

เอกชนลุยแก้ปมสต๊อกข้าวล้น 4 ล้านตัน โรงสี-ผู้ผลิตอาหารสัตว์ 150 ราย เข็นมาตรการซื้อ “ข้าวกล้องผลิตอาหารสัตว์” 3 แสนตัน ตันละ 12,000 บาท ช่วยดันราคารับซื้อข้าวเปลือก 8,300 บาท ด้าน ม.เกษตรฯชู 4 ทางออกสมดุลวัตถุดิบอาหารสัตว์ แนะรัฐตัดสินใจ ลดภาษีนำเข้า 0% เปิดนำเข้าเสรีต้องมีกองทุนช่วยเกษตรกร หรือขึ้นภาษี 27% ใช้วัตถุดิบในประเทศแทน ชี้หากเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 สูญเงินสวัสดิการสังคม 3 หมื่นล้าน

นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสมาคมได้หารือกับตัวแทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เรื่องความร่วมมือการซื้อวัตถุดิบข้าวกล้องในประเทศเพื่อทดแทนวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ

ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะมีสมาชิก 150 ราย จากสมาคมโรงสีข้าว 130 โรง และผู้ประกอบการอาหารสัตว์ 20 โรงงานเข้าร่วมนำร่องรับซื้อ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้โรงงานอาหารสัตว์ซื้อจากโรงสีที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน แต่ละคู่จะเจรจารับซื้อกันเอง คาดว่าจะรับซื้อข้าวกล้องอยู่ที่ตันละ 11,000-12,000 บาท โดยประมาณ

“ความร่วมมือนี้จะช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือกให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่กำลังเกี่ยวผลผลิตปี 2564/2565 หากโรงงานเข้ารับซื้อได้ในปริมาณที่สูงในระดับหนึ่ง เช่นว่า เบื้องต้นซื้อประมาณ 2-5 แสนตัน จากปริมาณสต๊อกข้าวสารที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะมี 4 ล้านตันข้าวสาร”

“หากคำนวณจากราคาที่รับซื้อตันละ 12,000 บาท จะเป็นต้นทุนข้าวเปลือก 8,800 บาท หักต้นทุนการสีและค่าขนส่งซึ่งโรงสีจะรับผิดชอบอีกตันละ 500-600 บาท เท่ากับโรงสีจะสามารถรับซื้อข้าวเปลือกเจ้า (แห้ง) ได้ในราคาตันละ 8,200-8,300 บาท ยกระดับจากราคาตลาดปัจจุบันที่ซื้อตันละ 7,500-7,700 บาท”

“ขณะที่ฝ่ายผู้ผลิตอาหารสัตว์จะได้วัตถุดิบในประเทศที่มีราคาถูก ช่วยแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า เช่น ราคาข้าวสาลีปรับสูงขึ้น จากต้นทุนค่าเฟรตและระวางเรือที่หายาก และยิ่งขนส่งระหว่างโรงสีที่อยู่ในรัศมีใกล้กับโรงงานก็จะยิ่งทำให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลงไปอีก”

พร้อมกันนี้ในงานสัมมนางานวิจัยโครงการศึกษานโยบายทางการค้าสำหรับวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมของประเทศไทย

ผศ.ดร.ณัฐพล พจนาประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ไทยผลิตข้าวโพดได้ 5 ล้านตัน น้อยกว่าต้องการเฉลี่ย 8 ล้านตัน จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบ 3 ล้านตัน

ที่ผ่านมารัฐกำหนดสัดส่วนให้มีการรับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (3 ต่อ 1) ซึ่งผลการศึกษาพบว่า หากยกเลิกมาตรการนี้จะมีการนำเข้าข้าวสาลีมากขึ้น กระทบต่อราคาข้าวโพด และปริมาณการผลิตในประเทศ ส่งผลกระทบทางสวัสดิการสังคมของประเทศสูงสุด 31,440 ล้านบาท เท่ากับว่าเกษตรกรได้รับผลกระทบทางลบ ขณะที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้รับผลทางบวก

“แนวทางนโยบายที่เหมาะสมรัฐควรคำนึงว่าการเปิดเสรีจะส่งผลต่อความมั่นคงอาหาร (food security) ด้านปริมาณและคุณภาพ ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้าน ข้อตกลงทางการค้าที่ประเทศไทยได้มีการทำข้อผูกพันไว้ คุณค่าทางอาหารและราคาของวัตถุดิบทดแทน และการใช้วัตถุดิบทดแทนในประเทศสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์”

อาทิ มันสำปะหลัง ปลายข้าว และข้าวฟ่าง ซึ่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีศักยภาพในการทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีทั้งวัตถุดิบจากต่างประเทศ ได้แก่ ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ และ DDGS ส่วนวัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ มันสำปะหลัง ปลายข้าว ข้าวฟ่าง

ในงานวิจัยสรุปแนวทางเหมาะสม 4 ด้าน คือ

1) การเก็บภาษีนำเข้าข้าวสาลีเพื่อให้เกิดความสมดุล โดยขอให้รับพิจารณาให้น้ำหนักที่ต้องการปกป้อง หากมองทั้งประเทศควรเก็บภาษีในอัตราน้อยกว่า 0% หากปกป้องเกษตรกรควรเก็บ 27% แต่หากให้น้ำหนักโรงงานอาหารสัตว์ที่เป็นอุตสาหกรรมมีค่าตัวคูณทางเศรษฐกิจสูงก็ควรเก็บภาษีต่ำกว่า 5% ในปีที่ 1

โดยหากเก็บภาษีสูงเกินไปจะทำให้โรงงานอาหารสัตว์หันไปนำเข้าจากประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้าเขตการค้าเสรี หรือเปลี่ยนไปนำเข้าวัตถุดิบอื่นที่ไม่มีภาษี

ซึ่งหากมีการลดภาษีนำเข้าควรตั้งกองทุนช่วยผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) โดยนำเงินจากภาษีนำเข้าข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ ช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การจัดหาอุปกรณ์ทางการเกษตร เป็นต้น พร้อมส่งเสริมการผลิตตาม GAP ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานการปลูก กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ส่งเสริมการจัดการฟาร์ม และการรวมกลุ่มเกษตรกร

2) มาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามความตกลง WTO และ AFTA กำหนดภาษีนำเข้า 0% ได้เฉพาะช่วงเวลาเดือนเมษายน-กรกฎาคมของทุกปี จากเดิมกำหนดไว้กุมภาพันธ์-สิงหาคม และควรกำหนดปริมาณขั้นต่ำ (trigger volume) โดยพิจารณาจากปริมาณอุปสงค์และอุปทานในประเทศในแต่ละปี หากนำเข้าเกินปริมาณ trigger volume เก็บภาษี 73% และต้องเพิ่มมาตรการตรวจสอบการนำเข้า

3) การกำหนดมาตรฐานนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อความปลอดภัยและนำเข้าเฉพาะเมล็ดยังไม่ผ่านการแปรรูปใด ๆ

4) ยืดหยุ่นการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการค้าที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ขอเสนอให้ภาครัฐเดินหน้าโครงการข้าวโพดหลังนา ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีและมีต่อเนื่องมา แต่ยังมีไม่มากพอ พร้อมทั้งเสนอให้ขยายผลศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะในไม่ช้า โดยผู้นำเข้า EU จะเริ่มออกมาตรการ green deal แล้ว เราควรศึกษาว่าจะมีแนวทางลดคาร์บอนอย่างไร เพราะต่อให้ราคาจะถูก แต่ต่อไปจะไปต่อลำบากมากกว่าเดิม

นสพ.สุเมธ ทรัพย์ชูกุล นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก กล่าวว่า ควรจะศึกษาเพิ่มเติมเรื่องคาร์บอนในการผลิตพืชอาหารสัตว์ เพื่อป้องกันการถูกกีดกันทางการค้าในอนาคต ส่วนนายชยานนท์ กฤตยาเชวง นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผมมองว่าโครงการดังกล่าวยังเป็นเพียงงานวิจัยผลกระทบเกษตรกร และผู้ผลิตอาหารสัตว์ แต่ยังขาดคนกลาง