ที่สุดความดัง สินค้า GI ผ้าไหมยกดอกลำพูน บนชุด Lisa BLACKPINK

ที่สุดความดัง สินค้า GI ผ้าไหมยกดอกลำพูน ลายพานจักรพรรดิยกทองบนชุดของ Lisa BLACKPINK เทคนิคทอผ้าจากราชสำนักสู่จิตวิญญาณชาวลำพูนก้าวไปไกลสู่เวทีระดับโลก กรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมผลักดันสินค้า GI อื่น ๆ ให้ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงสู่เวทีสากล

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ​นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า จากกรณีที่นายพลพัฒน์ อัศวะประภา หรือหมู แห่งแบรนด์ ASAVA (อาซาว่า) เลือกใช้ผ้าไหมยกดอกลำพูน ลายพานจักรพรรดิยกทองมาตัดเย็บชุดให้แก่ Lisa BLACKPINK หรือ ลลิษา มโนบาล ในมิวสิควิดีโอเพลง LALISA ซึ่งมีผู้รับชมจำนวนมาก

วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์
วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์

“รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นักออกแบบระดับประเทศอย่างคุณหมู ซึ่งมียอดผู้เข้าชมมากกว่า 200 ล้านครั้งบนยูทูบ และหนังสือบันทึกสถิติโลก กินเนสส์ Guinness Book of World Records (กินเนสส์บุ๊ก) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า “ลิซ่า” เป็นศิลปินหญิงเดี่ยวที่มียอดคนดูในยูทูบภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงสูงสุด ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผ้าไหมยกดอกลำพูนได้รับการยอมรับในเวทีสากลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสมาคมแชมเปญประเทศฝรั่งเศสสั่งผลิตไปใช้เป็นของที่ระลึก ได้รับการจดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซีย และประเทศอินเดีย ปัจจุบันสามารถสร้างมูลค่ากว่า 37 ล้านบาทต่อปี ให้แก่ชุมชนชาวลำพูน”

​นายเรวัต สิงห์ศักดิ์ เจ้าของร้านคุณอู๋ไหมไทย ผู้ประกอบการผ้าไหมยกดอกลำพูนที่ได้รับตราสัญลักษณ์ GI ไทย กล่าวว่า ผ้าไหมยกดอกลำพูนเป็นสิ่งที่ชาวลำพูนสืบต่อกันมาจากราชสำนักจนเป็นจิตวิญญาณของชาวลำพูนถึงทุกวันนี้ โดยลายพานจักรพรรดิยกทองบนชุดของ Lisa BLACKPINK ก็เป็นหนึ่งในลวดลายจากการรวมกลุ่มพัฒนารูปแบบและออกแบบลวดลายผ้า เพื่อเป็นลายส่วนกลางให้แก่ช่างทอในพื้นที่

​นายชีระโชติ สุนทรารักษ์ คณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานการผลิตสินค้า GI ผ้าไหม ยกดอกลำพูนได้กล่าวถึงกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานว่า จุดเด่นของผ้าไหมยกดอกลำพูนคือการควบคุมมาตรฐานผ้าไหมยกดอกลำพูนที่เน้น 3 ด้านหลักเริ่มจาก กระบวนการผลิต ผ้าที่ทอเสร็จ และการตรวจสอบย้อนกลับ โดยผ้าไหมยกดอกลำพูนที่ผ่านมาตรฐานจะได้รับการติดตราสัญลักษณ์ GI ไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้ถึง 40-50%

​นางสาวจิตติมา ศรีถาพร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มเติมว่า ผ้าไหมยกดอกลำพูนเป็นการสร้างชื่อให้กับวงการผ้าไหม GI ไทย ทำให้ชาวไทยและชาวต่างชาติให้การยอมรับ เพราะสินค้า GI คือสินค้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่เกิดจากภูมิปัญญาและธรรมชาติสรรสร้างขึ้นมา ซึ่งสามารถหาได้จากสินค้าที่มีชื่อเสียงทุกจังหวัดในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย และเพื่อส่งเสริมช่องทางการตลาดให้แก่สินค้า GI

ล่าสุด กรมจัดงานในงาน “GI Fest” นำสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กว่า 50 ร้านค้าจากทั่วประเทศมาให้เลือกซื้อ ระหว่างวันที่ 22-25 พฤศจิกายน 2564 ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 3 กระทรวงพาณิชย์ จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมช่วยกันผลักดันสินค้า GI อื่น ๆ ที่มีศักยภาพให้มีชื่อเสียงก้าวไกลทั้งในและต่างประเทศต่อไป