“ประยุทธ์” ลั่นสิ้นปีนี้ฉีดวัคซีนครบ 120 ล้านโดส เชื่อ 3 ปี เศรษฐกิจฟื้น

“ประยุทธ์” ลั่นสิ้นปีนี้ฉีดวัคซีนครบ 120 ล้านโดส เชื่อ 3 ปี เศรษฐกิจฟื้น หลังอัดงบแก้โควิด 25% ของ GDP  พร้อมส่งสัญญาณร่วม CPTPP หากช้าอาจตกขบวน

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ  ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 “Connect the Dots : Design the Future รวมพลัง…สร้างสรรค์อนาคต” หัวข้อ “จับมือรวมใจพาไทยรอด” ว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสร้างผลกระทบต่อทุกคนและยังไม่รู้ว่าโรคจะอยู่ไปถึงเมื่อไหร่  โดยรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาควบคู่ทั้งด้านสุขภาพ การดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีผลกระทบ และยอมรับว่ายังจัดสรรได้ไม่เพียงพอและครอบคลุม

ดังนั้นสิ่งที่พยายามมากที่สุดคือการตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสภายในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งขณะนี้เหลืออีกเพียง 10 กว่าล้านเท่านั้น ซึ่งประเด็นสำคัญ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ทุกคนต้องฉีดวัคซีน และคาดว่าเดือนหน้า ธันวาคมจะครบ 120 ล้านโดส อีกทั้งได้สั่งการให้ดำเนินการฉีดวัคซีนในหลายพื้นที่ให้ครอบคลุม ทั้งนี้ยืนยันว่า รัฐบาลเข้าใจปัญหาของพี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการทางธุรกิจ และอยากให้ทุกคนกลับมาดำเนินชีวิตปกติโดยเร็ว

พร้อมกันนี้รัฐบาลยังได้วางแผนไปถึงปีหน้า โดยมีโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 (วัคซีน Baiya) ซึ่งอยู่ระหว่างการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ดังนั้น มาตรการต่าง ๆ ด้านสาธารณสุข ต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจ แม้ยังไม่เป็นที่พอใจของทุกคนแต่ต่างประเทศชื่นชมการแก้ไขปัญหาของไทยอย่างมาก มั่นใจว่าขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ

พร้อมกับมีการใช้เงิน 25% ของวงเงินงบประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศชิลี  เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งหลายมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ทั้งโครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ 

“หากเดือนพฤศจิกายนนี้ได้ครบ 100 ล้านโดส เดือนธันวาคมอีก 20 ล้านโดส รวมเป็น 120 โดส และแผนปีหน้า 2565 วางเป็นการฉีดบูสต์ไว้อีก 60-70 ล้านโดส  สถานการณ์ในประเทศขณะนี้ดีขึ้น แต่อย่าประมาท เมื่อวานนี้ผมนั่งรถผ่านงานลอยกระทงเห็นทุกคนใส่หน้ากากอนามัย 100% แต่ก็ไม่รู้ว่าจะถอดตอนไหน แต่ก็เชื่อว่า ทุกคนอยากกลับมาใช้ชีวิตปกติโดยเร็วที่สุด

โดยรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ไม่อยากให้ปิด อย่างไรก็ดีตนขอให้ทุกฝ่ายช่วยรณรงรค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีน ผมเห็นถึงความเดือดร้อนของทุกคนมาโดยตลอดซึ่งต่างชาติชื่นชมประเทศไทยในการแก้ปัญหา และเราใช้งบประมาณ 25% ของ GDP ไปกับโควิด-19 ครอบคลุมทุกมิติ จาก GDP ประเทศประมาณ 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ APAC เป็นรองจากชิลิ”

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าในอีก 3 ปี เศรษฐกิจจะดีขึ้น ซึ่งหลังปี พ.ศ.2565-2567 หากโรคระบาดไม่กลับมาอีก และหากไม่มีความขัดแย้งในอาเซียน ทะเลจีนใต้ 

ทั้งนี้ หากเราไม่ร่วมมือกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ ก็จะเกิดระลอกใหม่ ดังจะเห็นว่า หลายประเทศเริ่มกลับมาล็อกดาวน์ เพราะฉะนั้นต้องรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนให้มากที่สุด ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมต้องคำนึงถึงสถานการณ์ความมั่นคงของโลก ร่วมด้วย ไม่ใช่ประเทศไทย หากจะให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจ ต้องช่วยกันคิดว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างทั้งรอบโลก รอบภูมิภาค เพื่อวิเคราะห์ ไม่อย่างนั้นจะเดินหน้าได้ยาก

โดยในนามของรัฐบาลขอให้ทุกคนช่วยกันติดตาม อย่ามองแต่ปัญหา เนื่องจากปัจจุบันการค้า การแข่งขันในขณะนี้มีพันธสัญญา กฎระเบียบเเข่งขันเข้มข้นขึ้นมาก ซึ่งประเด็นการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมในเรื่องการค้าการบริการและการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎหมายระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก หรือ CPTPP แม้มีข้อเสีย แต่มีต้องมีข้อดี ซึ่งข้อสงวนเราสามารถทำได้แต่ขอให้ยกเว้นไปก่อน และไม่ใช่ตอนนี้ ทั้งหมดยังไม่ตกลงว่าจะรับหรือไม่รับ ขอเวลาในการตั้งหลัก  เช่นเดียวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค  (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ RCEP  กว่าจะสามารถตกลงได้ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี  

“CPTPP แม้มีข้อเสีย แต่มีต้องมีข้อดี ต้องเจรจาก่อน เราไม่ได้รับทุกเงื่อนไข   ถ้าเราไม่ร่วมเจรจาในวันนี้ เราก็ไม่มีสิทธิ์เจรจาข้อสงวนในอนาคต  ขอให้จำคำพูดของผมตรงนี้ไว้ ทุกอย่างมีปัญหาทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะต้องใช้สติปัญญาให้รอบคอบในการแก้ไขปัญหา  อย่างวันนี้มีข้อตกลงพันธสัญญาอาเซ็ปซึ่งผ่านมาเกือบ 2 ปียังเริ่มใช้กันไม่ครบเพราะฉะนั้นมันไม่ได้เร็วขนาดนั้นกว่าจะตกลงกว่าจะเจรจากันได้ต้องใช้เวลา”

ขณะที่ปัญหาพื้นฐานที่ประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขได้และมีมาตลอดคือปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ได้บรรจุในยุทธศาสตรชาติ 20 ปี  ขอให้ดูว่าเขาทำงานกันอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีความบึดเบือนคำพูดเจตนารมย์ ขอย้ำว่า ไม่ต้องการการยึดครอง เพื่อจะอยู่ 20 ปี จะเห็นว่า 6 ยุทธศาสตร์ชาติ ที่วางไว้ครอบคลุมอนาคตประเทศไทย ไม่มีใครรู้อนาคตทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ทำเพื่ออนาคตเเละเราต้องปฏิรูปอีกด้วย 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า  ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำอย่างไรจะให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง แต่ทุกวันนี้รายได้น้อยเพราะอยู่ในสภาพทำนาใช้หนี้ ปลูกพืชที่ไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยว จะทำได้หรือไม่ เเนวทางต่อจากนี้ควรทำเกษตรผสมผสาน เกษตรเทคโนโลยี เกษตรทันสมัย การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี แนวโน้มของโลกที่ให้ความสำคัญกับ BCG (Bio Circular Green)  ขอให้ทุกคน ทุกหน่วยงานกลับไปศึกษาและให้ความสำคัญ

ส่วนการจะให้ชาวนาจากการขายข้าวได้ราคา จำเป็นต้องร่วมทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อให้ได้ผลผลิต  และพิจารณาว่าจะเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร นอกจากนั้นต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการประกันราคา โดยใช้เงินมาดูต้น และปลายทางคือการลดราคาลงให้ได้  ดังนั้นต้องหาวิธีการแก้ปัญหาให้ทันการณ์ ทั้งคุณภาพ มาตรฐานและราคาในตลาดต่างประเทศ 

“ชาวไร่ ชาวนา จะแก้ไขราคาได้อย่างไร ค่าเช่า เมล็ดพันธุ์ ค่าเช่าที่ดิน ค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช หากขาดแคลนเครื่องจักรเครื่องมือ เกษตรแปลงใหญ่ การทำงานแปลงใหญ่ให้เดินหน้าไปได้แล้ว โดยมีโครงการ 1 ไร่ 1 แสน เรามีครอบครัวทำไร่ทำนา จีดีพีน้อยมาก เราต้องเพิ่มมูลค่าเกษตรอย่างไร ตั้งแต่น้ำ บก ประมง และมี 5 พืชเศรษฐกิจ ทำอย่างไรที่จะไม่ประกันราคา เราต้องเร่งรัดทุกอย่างบางครั้งไม่ทันการณ์ โดยเฉพาะข้าว ทั้งหมดต้องได้มาตรฐาน จะทำอย่างไรจะลดต้นทุน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อยู่บนศีรษะผมมา 7 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีการตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่หลาย ๆ อย่างเกิดไม่ได้เพราะขาดความไว้วางใจ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องสร้างความเข้าใจ และต้องไม่ถูกบิดเบือน”

ส่วนคำที่ บอกว่า 1 ข้าราชการ กับ 1 ครัวเรือน ไม่ได้หมายความว่าจะไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และจะไปแก้ปัญหาได้อย่างไร คนใช้คำว่า นั่นคือข้าราชการ ซึ่งต้องรู้กฎเกณฑ์กติกาหลักการ ว่ารัฐบาลทำอะไรอยู่แล้ว แค่ไปคุยกับเขา แล้วไปเก็บข้อมูลจากเขามา แล้วมาส่งให้คณะทำงาน ตรงนี้เพื่อทำงานให้สอดคล้อง กับสภาพัฒน์ และกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ เท่านั้น

“ผมไม่ได้ดีกว่าใคร ไม่ได้เก่งกว่าใคร แต่ผมทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอน เพราะเมื่อถึงเวลาที่ผิดมาใครจะรับผิดชอบให้ผม แต่ผมก็จะทำให้ดีที่สุด ส่วนการปล่อยกู้ธนาคาร ว่าหากผมสั่งเขาจะบอกว่าเป็นเผด็จการ แค่สั่งทหารปลูกผักชี ก็หาว่าเผด็จการ ซึ่งจริง ๆ ทหารปลูกในค่ายทหารอยู่แล้ว ขออย่าไปเชื่อในคำบิดเบือน เรื่องใช้รถทหารก็เช่นกัน ไม่ได้จะไปแข่งกับใคร แต่ถ้าเดือดร้อนขึ้นมา ไม่มีรถวิ่งก็แบกกระสอบเดิน ที่พูดไม่ได้อยากให้เป็นแบบนั้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ยังมีการแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งได้ร่วมประกาศจุดยืนร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อน ในที่ประชุม COP26 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น อนาคตไทยต้องลดการใช้น้ำมัน ด้านพลังงานต้องเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน ต้องใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม จากการที่ได้ไปร่วมกับนานาประเทศก็เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก