อธิบดีปศุสัตว์ ตอบทุกคำถามโรคระบาดหมู อีก 2 วัน พิสูจน์ ASF

อธิบดีปศุสัตว์ตอบปมร้อน ASF ขอเวลา 2 วัน เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง – วิจัยวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัยเร็วที่สุด เดินหน้าเยียวยาเกษตรกร

วันที่ 10 มกราคม 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผย ผ่านเว็บไซต์กรมปศุสัตว์ ว่า ขอเวลาเก็บตัวอย่างภายใน 2 วันจึงจะทราบผลข้อเท็จจริง และเเจ้งประชาชนให้รับทราบ ระหว่างนี้จะเร่งวิจัยผลิตวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัยโดยเร็วที่สุด ตลอดจนเดินหน้าชดเชยเยียวยาเกษตรกรรายย่อย อีกทั้ง ย้ำว่าไม่เคยเห็นหนังสือสัตวแพทย์ศาสตร์ แต่จะตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นวาระด่วน

นายกรัฐมนตรีสั่งระดมทีมป้องกันระบาด

สถานการณ์การควบคุมโรคในสุกร ในส่วนของการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ยืนยันว่าไทยให้ความสำคัญกับโรคนี้เป็นอย่างมาก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ยกเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ซึ่งกรมฯได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เกษตรกร และองค์กรระหว่างประเทศ

อาทิ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อร่วมกันดำเนินการป้องกันโรค ASF ไม่ให้มีการระบาดในประเทศไทย และโรคนี้เกิดขึ้นมากว่า 100 ปีแล้ว แต่ยังไม่มียารักษา หรือวัคซีนป้องกัน

ขอเวลา 2 วัน กรมฯพร้อมชี้เเจง

แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากการเดินทาง เชื้อไวรัส ทำให้มีความเสี่ยงที่จะพบโรค ASF ซึ่งจากกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าพบโรคนี้แล้วในไทย ทางกรมได้ลงไปตรวจสอบในพื้นที่ ที่มีการเลี้ยงสุกรอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะที่จังหวัดราชบุรี นครปฐม ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และขอนแก่น

รวมถึงลงพื้นที่สำรวจในจังหวัดภาคเหนือ และภาคใต้บางจังหวัดอีกด้วย เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง โดยใช้วิธีเก็บตัวอย่างในเลือดสุกร และโรงฆ่า ปรากฎว่าผลจากการตรวจสอบ 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง รวมถึงได้ตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 5 ตัวอย่าง ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรอผลจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ว่าผลจะออกมาอย่างไร

“เราคาดว่าจะใช้เวลาในการรอผลตรวจไม่เกิน 2 วัน หลังจากนั้นกรมฯจะชี้แจงให้สาธารณชนทราบโดยเร็วที่สุด และเป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งขณะนี้ กรมได้ร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายโดยชี้แจงในเบื้องต้นแล้วว่าหากพบการระบาดของโรคเอเอสเอฟ เราจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในไทย สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งตรงนี้ทางภาคีเครือข่าย และคณะสัตวแพทย์ทุกแห่ง รวมถึงนายกสัตวแพทย์ฯ เพื่อควบคุมฟาร์ม และวิชาชีพสัตวบาล ต่างร่วมมือร่วมใจกันดำเนินการอย่างเต็มที่อีกด้วย”

เพิ่มเงินเยียวยารายย่อย 500 ล้าน

ที่ผ่านมาเมื่อพบความเสี่ยงทางรัฐบาลอนุญาตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำลายสุกรทิ้งได้เลย โดยมีค่าชดเชยให้กับรายย่อย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ลี้ยงสุกรรายย่อย ประมาณ 1,142 ล้านบาท ทั้งนี้ เตรียมเสนอของบประมาณเพิ่มเติม ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมาช่วยเหลือในส่วนนี้เพิ่มอีก 500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การที่กรมมีห้องปฏิบัติการเครือข่ายทั้งภาครับและเอกชน จะช่วยให้การตรวจโรคในสุกร หรือโรคอะไรก็ตาม หากพบโรคก็จะประสานมาที่กรม เพื่อให้ดำเนินการตรวจโรคอย่างถูกต้องและแม่นยำต่อไป เพราะหลังจากที่พบโรคกรมจะต้องแจ้งเรื่องไปยัง องค์การ OIE

ประสานทุกฝ่ายแก้ดีมานด์-ซัพพลายหมูในตลาด

ส่วนในเรื่องของการทำงาน จุดมุ่งหมายของรัฐบาลคือ เพื่อให้ผู้เลี้ยงสุกร 200,000 รายทั่วประเทศ สามารถประกอบอาชีพนี้ต่อไปได้ ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว อาทิ การยกระดับการเลี้ยงสุกร การลดค่าอาหารสัตว์ การจัดทำปศุสัตว์แซนด์บ็อกซ์ เพื่อควบคุมโรคเฉพาะพื้นที่ และการจัดหาสินเชื่อให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เป็นต้น ส่วนการช่วยเหลือผู้บริโภคนั้น

รัฐบาลได้สั่งการให้กรมเร่งแก้ไขปัหานี้อย่างเร่งด่วน โดยให้ดำเนินการทั้งระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งได้มีการประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญกรมหารือร่วมกัน และได้ออกมาตรการเร่งด่วนออกมา คือ การหยุดส่งออกสุกรมีชีวิตชั่วคราว และให้ตรวจสต็อกสุกรตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าการทำงานร่วมกันนี้ จะทำให้สถานภาพของการควบคุมโรคฯ และการนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ เพื่อปรับสมดุลเรื่องดีมานด์ และซัพพลายเป็นไปได้ดีและรวดเร็วที่สุด

หากพบฟาร์มที่มีโรคระบาด กรมจะดำเนินการสอบสวนโรค และประกาศเป็นเขตโรคระบาด ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ หรือสัตวแพทย์ประจำอำเภอ จะดำเนินการกำหนดเขตควบคุมโรค หรือทำรายสัตว์ในรัศมี โดยในส่วนที่รัฐบาลจะมีเงินชดเชยให้

ส่วนเรื่องการเคลื่อนย้าย จะมีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดเป็นปกติอยู่แล้ว และจะมีการประชุมกับสมาคมผู้เลี้งสุกรแห่งชาติ เพื่อเช็คยอดการผลิต และการเคลื่อนย้าย ว่าในพื้นที่ไหนขาดแคลนสุกร หรือมีสุกรมากเกินไป และที่สำคัญจะมีการพัฒนาวัคซีนรักษาโรคเอเอสเอฟ ซึ่งเป็นแสงสว่างปลายอุโมง

ในปัจจุบันสถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่าย อยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งในช่วงแรกจะจัดทำเป็นสารตัวอย่าง (โปรโตไทป์) ก่อน และจะมีการทดลองวัคซีนที่สำนักเทคโนโลยีชีวพันธุ์สัตว์ ที่ปากช่อง จ.นครราชสีมา หากสามารถผลิตวัคซีนป้องกันเอเอสเอฟได้สำเร็จ ก็จะเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศชาติมาก เพราะยังไม่มีประเทสใดในโรคมีวัคซีนรักษาโรคนี้

ย้ำไม่เคยได้รับหนังสือภาคีสัตวแพทย์ฯ

กรณีที่มีกระแสข่าวว่ากรมปิดข่าวไม่ยอมชี้แจงเรื่องการแพร่ระบาด ASF นั้น ยืนยันว่าที่ผ่านมา กรมมีการดำเนินการร่วมกันมาโดยตลอดทุกภาคส่วน และส่วนใหญ่ที่ตรวจเจอโรค ล้วนแต่มากับผู้โดยสารต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโรคมาจากทุกทิศทาง จึงไม่อยากให้ประชาชนและเกษตรกรตื่นตระหนก เนื่องจากโรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน แต่หากตรวจพบก็จะเร่งดำเนินการควบคุมโรคทันที

“ส่วนประเด็นที่กรมปศุสัตว์ จะไปขอเข้าพบคณบดีคณะสัตวแพทย์ นั้น ไม่เป็นความจริง แต่หลังจากนี้จะมีการประชุมร่วมกับภาคเครือข่าย สัตวแพทยสภาฯ ในเรื่องของการขับเคลื่อนทุกโรค เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ”

กรณีภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือลงวันที่ 7 ธันวาคม 2564 แจ้งมายังกรมปศุสัตว์ เรื่อง ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร โดยหน่วยงานของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทย พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever: ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และขอให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการตามมาตรการเพื่อควบคุมโรคโดยเร็ว นั้น

“กรมยืนยันว่า ยังไม่เคยเห็นหนังสือดังกล่าวเสนอขึ้นมารายงานให้ทราบ แต่เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเร่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวและดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป หลังจากนี้กรมจะลงพื้นที่ตรวจสอบ หากมีสุกร หรือสัตว์อื่นๆ มีการแจ้งพบสัตว์ป่วยหรือเสียชีวิต ก็จะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบทันทีต่อไป ทั้งนี้ ต้องขอให้เกษตรกรแจ้งเมื่อพบสัตว์ป่วยหรือเสียชีวิตด้วย อย่านำไปกำจัดเอง เพื่อทีกรมจะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและทำการช่วยเหลืออย่างถูกต้องและรวดเร็วต่อไป”