กรมปศุสัตว์ ยันไทยยังไม่พบโรคอหิวาห์หมู ASF นอกจากเพิร์ส

กรมปศุสัตว์ ยันไทยยังไม่พบโรคอหิวาห์หมู ASF นอกจากเพิร์ส

“กรมปศุสัตว์” ยันไทยไม่มีโรคระบาดอหิวาห์หมู นอกจากโรคเพิร์ส เร่งตรวจสอบละเอียดคลี่ปมปัญหา หลังนายกฯต่อสายตรง ถาม มีการระบาด ASF แล้วจริงหรือไม่

วันที่ 8 มกราคม 2565 นายชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันตรวจสอบการเกิดโรคระบาดในหมูอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ซึ่งพบว่าที่ผ่านมามีการเกิดโรคระบาดในหมูไทยเป็นโรคพีอาร์อาร์เอส ( Porcine reproductive and respiratory syndrome) หรือเพิร์ส ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร ทําให้แม่สุกรแท้ง ลูกตายแรกคลอดสูง ยืนยันว่ายังไม่พบว่ามีการเกิดโรคอหิวาห์แอฟริกาหมู (ASF)

ทั้งนี้ ที่ปรากฏตามการรายงานของสื่อมวลชนที่ระบุว่ามีการพบโรค ASF ในหมูไทยนั้น ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้มีการตรวจสอบมาสักระยะแล้ว แต่ยังไม่พบว่ามีการระบาดของ ASF อย่างไรก็ดี ต้องขอยืนยันอีกครั้งโดยการตรวจสอบต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฏระเบียบและข้อบังคับ ตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล หากการตรวจสอบครบถ้วนและได้ผลสรุปแล้ว ทางกรมปศุสัตว์ยืนยันจะไม่ปกปิดเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบปศุสัตว์ไทยที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าต่างชาติเป็นจำนวนมาก

“หลังจากมีข่าวการระบาด ASF ในหมูของไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงเรื่องของราคาหมูแพง ซึ่งหลังมีข่าวก็สอบถามกับกรมปศุสัตว์ว่า ข่าวการระบาดของเอเอสเอฟนั้นเป็นจริงหรือไม่ จึงสั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ซึ่งยืนยันอีกครั้งว่าในประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของ ASF เพราะที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ให้มีการแจ้งสายด่วนเกิดโรค กับชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ไม่พบว่ามีการแจ้งการระบาดของโรคแต่อย่างใด
ได้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ”

วันเดียวกัน นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำทีมลงพื้นทีภาคเหนือ เผยว่า ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ให้หน่วยงานของทางจังหวัดเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรในพื้นที่ และสั่งการไปยังกรมปศุสัตว์ให้เข้าไปประเมินความเสี่ยงของพื้นที่อย่างละเอียด

เพื่อจัดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการส่งเสริม เร่งทำการสำรวจเกษตรกรที่ต้องการกลับมาเลี้ยงใหม่ และเกษตรกรที่เลี้ยงอยู่เดิม เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรด้านปศุสัตว์ โดยคาดว่าจะสามารถเก็บข้อมูลได้ครบถ้วน และพร้อมเริ่มสนับสนุนได้ทันทีภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้

สำหรับพันธ์ุสุกรที่จะนำมาสนับสนุนให้กับผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อยนั้น จะเร่งจัดหามาจากศูนย์วิจัยของกรมปศุสัตว์ เครือข่ายสัตว์พันธ์ุดีของกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีแม่พันธ์ุอยู่ประมาณ 5,000 ตัว และยังได้มีการเจรจาขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายใหญ่ มหาวิทยาลัยต่างๆ และวิทยาลัยเกษตรทั่วประเทศ ในการช่วยผลิตลูกสุกร

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของบริษัทไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด บริษัทหมูอินเตอร์ฟาร์ม จำกัด ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยสนับสนุนเกษตรกรรายเล็ก รายย่อย ทางภาคเหนือ โดยกรมปศุสัตว์จะจัดสรรให้ผู้เลี้ยงรายเล็ก

รายย่อยที่สนใจ รายใดต้องการเลี้ยงแม่พันธุ์ จะจัดหาแม่พันธุ์ 2 ตัว รายใดต้องการลูกสุกรขุน จะจัดให้รายละ 20 ตัว หรือตามความเหมาะสม พร้อมอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรค โดยให้ปศุสัตว์ในพื้นที่เข้าไปดูแลเรื่องโรคระบาด และเเนะนำการยกระดับและปรับปรุงระบบการเลี้ยงภายใต้มาตรฐานฟาร์มแบบ Good Farming Management (GFM)