กรมโรงงานฯ ปลื้มยอดจดประกอบขยายกิจการเขตอีอีซี เฉียด 530 โรงงาน

กรมโรงงานฯ ปลื้มยอดจดประกอบขยายกิจการ เขต “อีอีซี” เฉียด 530 โรงฯ เผยยอดโค้งสุดท้าย รวม 11 เดือนลงทุนแล้วกว่า 4.7 แสนล้าน คาด ธ.ค. ขยับอีกกว่า 400 โรง

กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เผยยอดการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงานเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2560 มีจำนวน 4,710 โรงงาน ยอดการเติบโตของมูลค่าการลงทุนกว่า 4.74 แสนล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวมีตัวเลขการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี จำนวน 529 โรงงาน มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 1.43 แสนล้านบาท ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ คาดว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงานจะมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยส่งเสริม อาทิ แนวโน้มตัวเลขการลงทุนที่สูงต่อเนื่อง การขยายตัวของความต้องการแรงงาน ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวฯลฯ โดยคาดว่าสิ้นเดือนธันวาคมขยับอีกกว่า 400 โรงงาน

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และการขยายกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2560 พบว่า มีจำนวนโรงงานที่ขอใบอนุญาตทั้งสิ้นรวมแล้ว 390 โรงงาน แบ่งเป็นกลุ่มที่มีการขอจดประกอบกิจการใหม่ 350 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 21,158 ล้านบาท กลุ่มขยายกิจการมีจำนวน 40 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 4,069 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมผลจากข้อมูลการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และการขยายกิจการในภาพรวม 11 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง พ.ย. 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,710 โรงงาน มีปริมาณใกล้เคียงกับเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว คือ 4,732 โรงงาน แต่ในส่วนมูลค่าการลงทุนสูงถึง 4.74 แสนล้านบาท ขึ้นจากปีก่อนจาก 4.16 แสนล้านบาท หรือเพิ่มกว่า 14.01% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขอจดประกอบกิจการใหม่มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ กลุ่มผลิตภัณฑ์อโลหะ ส่วนกลุ่มที่มีการขอขยายกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนธันวาคม 2560 การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และการขยายกิจการน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่า 400 โรงงาน

มงคล พฤกษ์วัฒนา

นายมงคลกล่าวว่า ผลพวงจากนโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนในการส่งเสริมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างต่อเนื่อง ยังส่งผลให้ตัวเลขการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงานในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีเพิ่มขึ้น โดยตัวเลขเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2560 นั้นมีจำนวนสูงถึง 529 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 1.4 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น จังหวัดฉะเชิงเทรามีการจดประกอบและขยายกิจการจำนวน 117 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 34,800 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี จำนวน 271 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 19,717 ล้านบาท และจังหวัดระยอง จำนวน 141 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 89,433 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจดประกอบและขยายกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ กลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วนโค้งสุดท้ายภายในสิ้นเดือนธันวาคมนั้นเชื่อว่าน่าจะเป็นไปตามเป้า ประมาณ 400 โรง และมั่นใจว่าข้อเสนอและมาตรการจูงใจใหม่ๆ จากรัฐบาลจะเป็นส่วนที่ช่วยกระตุ้นให้เป็นไปในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้เร่งเตรียมแผนมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนและผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติเพื่อให้เกิดการเพิ่มยอดการประกอบกิจการ อาทิ มาตรการอำนวยความสะดวกในการยื่นขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรที่จะช่วยลดระยะเวลาการจดทะเบียนฯจากเดิม 30 วัน เป็นไม่เกิน 15 วัน การอำนวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service และการบริการผ่านระบบดิจิทัลเพื่อลดความยุ่งยากซับซ้อนในการจดทะเบียนจดประกอบและขยายกิจการ พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำแผนเพื่อเตรียมรองรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซีในส่วนกลไกหรือโครงสร้างพื้นฐานที่กรมโรงงานฯเกี่ยวข้อง การยกระดับมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษและการอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนขยายความร่วมมือกับหน่วยงานด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ที่อยู่ในโครงการให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างสูงสุด อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงานในปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยส่งเสริมทั้งจากสัญญาณตัวเลขการลงทุนที่พุ่งสูงต่อเนื่อง การขยายตัวของความต้องการแรงงานที่มีมากถึง 1.85 แสนคน รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและนโยบายจูงใจของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำลังคึกคัก และจะต่อเนื่องไปจนกระทั่งปี 2561 อย่างแน่นอน นายมงคลกล่าว