สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชี้ลดกระหน่ำรับปีใหม่ กระตุ้นกำลังซื้อฐานราก ดันตัวเลขทั้งปีโต 3.4%

นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ช่วง 9 เดือนแรก อุตสาหกรรมค้าปลีกโดยรวมเติบโต 2.8-3.0% ถืออยู่ในระดับทรงตัว โดยเติบโตเด่นเกือบทุกหมวดสินค้าแต่ลักษณะกระจุกตัวที่เฉพาะในกรุงเทพและหัวเมืองหลักๆ ที่เติบโตหลักคือสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต ในกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางขึ้นไป ส่วนสินค้าในห้างสรรพสินค้า ยังคงได้รับผลกระทบจากบรรยากาศการจับจ่ายที่ยังไม่ปกติ และราคาสินค้าไม่เอื้ออำนวยให้จับจ่ายแก่นักท่องที่ยว เนื่องจากภาระภาษีนำเข้าของสินค้าแบรนด์หรูยังสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีนโยบายลดภาษีแบรนด์หรู จนก่อให้เกิดช้อปปิ้ง เดสทิเนชั่น เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับหมวดแต่งบ้านและเครื่องใช้ภายในบ้านและไฟฟ้ายังไม่เติบโตเท่าที่ควร ผลจากความซบเซาของอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และหมวดอาหารที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางลงล่าง ยังคงประสบปัญหาการเติบโต เนื่องจากกำลังซื้อในกลุ่มกลางลงล่างยังอ่อนแอ มาตรการการผลักดันงบประมาณการใช้จ่ายภาครัฐลงสู่ฐานราก แม้เริ่มมีประสิทธิภาพและส่งผลให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มขึ้นแต่ก็เป็นไปค่อนข้างช้า

นางสาวจริยากล่าวถึงสถานการณ์ค้าปลีกไตรมาส 4 /2560 ว่า เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของกำลังซื้อมากขึ้น ผลจากอารมณ์การจับจ่ายเริ่มฟื้นตัว และมาตรการรัฐบาลในการผลักดันงบประมาณลงสู่เศรษฐกิจฐานรากเริ่มสัมฤทธิ์ผล ประกอบกับเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายปลายปี ส่งผลให้ไตรมาส 4 ปีนี้ดีกว่าปีก่อน แม้ว่ามาตรการช้อปช่วยชาติปีนี้ดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน แต่ช่วยกระตุ้นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อปานกลางถึงสูง ขณะที่โครงการ ”รวมใจ เพิ่มสุข ช้อปสนุก ลดรับปีใหม่” วันที่ 14 ธันวาคม 2560 ถึง 4 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นการร่วมมือจากผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง ทั่วประเทศ กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นการบริโภค ซึ่งยังผลต่อกำลังซื้อทุกภาคส่วน และทำให้เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีจะคึกคักมากขึ้น รวมกับมาตรการบัตรสวัสดิการประชารัฐ และภาคเอกชนจัดโปรโมชั่นและกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ตลอดเทศกาลยาวถึงมกราคมปีหน้า ทำให้เงินหมุนเวียนเข้าระบบมากขึ้น ทำให้ภาพรวมดัชนีค้าปลีกปี 2560 ดีกว่าที่คาดไว้เมื่อต้นปีเล็กน้อย หรือเติบโต 3.2-3.4% และจีดีพีปีนี้โต 3.9%

นางสาวจริยากล่าวต่อว่า เศรษฐกิจปีหน้ามีโอกาสจะขยายตัวต่อเนื่อง บนสมมติฐานไทยยังมีโมเมนตัมหรือการขับเคลื่อนของการส่งออกที่ดี แต่ไม่ได้มีผลโดยตรงกับการบริโภคภาคค้าปลีก แต่ค้าปลีกดีขึ้นจะมีผลโดยตรงต่อการลงทุนภาคเอกชน และการแจ้งงานเพิ่มขึ้น และการขยายการลงทุน แต่ต้องใช้ระยะเวลา 6-8 เดือน โดยภาคส่งออกต่อการเติบโตของภาคค้าปลีก มีเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ การจ้างงานจากภาคการส่งออกมี 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับแรงงานทั้งระบบ 38 ล้านคน ถือว่ายังน้อยมาก แต่ตัวแปรคือการลงทุนของภาครัฐ จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวผ่านการจ้างงานและการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องใช้เวลากว่า 6-8 เดือนต่อค้าปลีกเช่นกัน อีกตัวแปรคือสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์คงไม่เพิ่มมากไปกว่านี้เท่าไรนัก

อีกตัวแปรที่ติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สถานการณ์ทางการเมืองจะเข้าโหมดการเลือกตั้ง ตามกำหนดการที่รัฐบาลได้ประกาศไว้เดือนพฤศจิกายนปีหน้าหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับการตัดสินใจเดินหน้าการค้าและการลงทุน เสถียรภาพทางการเมือง กับ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากการได้ ถ้าทุกอย่างเป็นขาขึ้น จะส่งผลให้กำลังซื้อรากหญ้าฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนไตรมาส 2-3 ปีหน้า โดยสมาคมฯคาดการณ์ว่า การเติบโตของดัชนีค้าปลีกปี 2561 อยู่ที่ 3.8-4.0% และเติบโตได้ 4.5%ในปี 2562 ปี 2019 น่าจะเติบโตถึง 4.5 %

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์