อนุกรรมการบริหาร อีอีซี รับทราบผลความคืบหน้า 4 โครงการ รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง คืบหน้าไปกว่า 100% พร้อมรับเอเปก เมษายน 65 นี้
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวภายหลัง การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2565
ซึ่งมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมฯว่า ที่ประชุม ได้รับและพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สำหรับ 4 โครงสร้างพื้นฐานตามแผน EECi คืบหน้ากว่า 100% พร้อมรับเอเปก
ที่ประชุม กบอ. รับทราบ ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การขับเคลื่อนโครงสร้้างพื้นฐานหลัก ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุุนรััฐ-เอกชน (PPP) ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงฯ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง โดยทั้ง 4 โครงการมีความก้าวหน้าการก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่โครงการต่อเนื่อง พร้อมผลักดันให้ทุกโครงการดำเนินการลงทุนได้ตามแผนภายในปี 2565 นี้
โดย สกพอ. ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการ และเอกชนคู่สัญญา ซึ่งทำให้การก่อสร้างทุกโครงการแล้วเสร็จตามแผนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ประเทศ ด้านความก้าวหน้า โครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เตรียมความพร้อมดึงดูดการลงทุนฐานนวัตกรรมขั้นสูง และจูงใจนักลงทุนทั่วโลกเข้าสู่พื้นที่ อีอีซี
ปัจจุบันโครงสร้างภายนอกแล้วเสร็จ 100% มีเพียงการปรับภูมิทัศน์ และติดตั้งครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พร้อมเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นอีกหนึ่งสถานที่ในพื้นที่ อีอีซี ที่สนับสนุนการจัดประชุมผู้นำเอเปกที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ อีกด้วย
นอกจากนี้ สกพอ. ได้แจ้งข่าวดีถึง โครงการธีมพาร์คและสวนน้ำ “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส” แห่งแรกของโลก ซึ่งเป็นการลงทุนจาก บริษัท โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ระดับโลก ที่จะเป็นเมืองสวนสนุก เครื่องเล่นอัจฉริยะมาตรฐานโลก สามารถเปิดระยะที่ 1 ได้ในวันที่ 8 เมษายน 2565 นี้ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก (หากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายด้วยดี)
โดยโครงการฯ นี้ จะทำให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่ กระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวหลังโควิด 19 ทำให้ อีอีซี และประเทศไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักลงทุนนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต้องเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น เป็นฟันเฟืองสำคัญ สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ประชุม กบอ. ยังรับทราบ ความก้าวหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ซึ่ง สกพอ. ได้ประสานงานร่วมกับ ปตท. ศึกษาแนวทางขับเคลื่อนโครงการที่ได้หารือร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการห้องเย็น อบจ.ระยอง เพิ่มเติม นำไปสู่การปรับแผนการดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจร
โดย ปตท. จะสรรหาพันธมิตรร่วมลงทุน และเป็นผู้ดูแลทั้งระบบตั้งแต่การผลิต รับรองมาตรฐาน การจัดตั้งตลาดกลาง รวมถึงรองรับการซื้อขายกับต่างประเทศ ผ่าน e-commerce และ e Auction พัฒนาแพคเกจบรรจุภัณฑ์ และจัดส่งสินค้า
เน้นทุเรียนคุณภาพและพรีเมียม พร้อมกันนี้จะขยายความจุห้องเย็น จากเดิม 4,000 ตัน เป็น 10,000 ตัน เพื่อเป็นกลไกรักษาเสถียรภาพของราคา รสชาติ ความสดของทุเรียน เพิ่มมูลค่าให้ทุเรียนพรีเมียมขายได้ตรงตลาดผู้บริโภคตลอดทั้งปี
โดยคาดว่าการดำเนินงานทั้งหมดจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดภายในปี 2566 ซึ่งโครงการฯ นี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกร/ชาวสวนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกร และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตในท้องถิ่น ทำให้เกษตรกร ชุมชน มีคุณภาพชีวิตและรายได้ดีขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและผู้ค้ารายย่อยในอีอีซี เน้นขยายช่องทางจำหน่าย เพิ่มความสามารถการขาย จัดหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ค้ารายย่อย ชุมชน สร้างเครื่องมือการตลาด นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ส่งเสริมสินค้าโอทอปตรงความต้องการตลาดมากยิ่งขึ้น
มีกลุ่มเป้าหมายและสินค้าเป็นที่นิยมในพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดระยอง เช่น ทุเรียนทอดกรอบ เครื่องเงิน จังหวัดชลบุรี เช่น พุดดิ้งมะพร้าวอ่อน ข้าวกล้อง สบู่เปลือกมังคุด จังหวัดฉะเชิงเทรา เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ หมูแท่งอบกรอบ เป็นต้น
มีแนวทางดำเนินการ 2 รูปแบบ ได้แก่ ตั้งบรรษัทวิสาหกิจชุมชน (EEC EnterPrise) เช่น การลงทุนร่วมระหว่าง สกพอ. สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน เอกชน ทำหน้าที่ วางแผนการผลิต การตลาด และส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง มีศูนย์พัฒนาธุรกิจชุมชน (EEC Incubation Center) ทำหน้าที่ ศึกษาวิจัย พัฒนาสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพ ในระดับมาตรฐานมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ รวมทั้งการฝึกอบรมบุคลากรให้ทำงานร่วมกับนวัตกรรมใหม่
ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น จะสนับสนุนให้ยอดขายสินค้าชุมชนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 30% ผลักดัน GDP ระดับชุมชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% เศรษฐกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น 20% ผู้ซื้อสินค้า ผู้บริโภค นักท่องเที่ยวได้สินค้าชุมชน และบริการที่มีคุณภาพ จูงใจให้กลับมาท่องเที่ยวซ้ำ สร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความยากจนในพื้นที่ อีอีซี ระยะยาวต่อไป
นายคณิศ กล่าวอีกว่า สำหรับความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาฯ ได้ร่วมกับ รฟท. และเอกชนคู่สัญญากำลังดำเนินการอยู่ ดังนี้ 1) กระทรวงคมนาคมให้เอกชนสร้างส่วนทับซ้อนงานโยธาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขสัญญาโดยไม่เป็นภาระทางการเงินของภาครัฐ
2) การบรรเทาผลกระทบโควิด 19 อย่างเหมาะสมให้กับเอกชน ซึ่งแม้ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารจะเริ่มกลับมา แต่ยังห่างจากการประมาณการตามการศึกษาที่ 80,000 คนต่อวัน ทั้งนี้การแก้ไขสัญญาจะให้ความสำคัญกับการปรับระยะเวลาค่าสิทธิ์เป็นสำคัญ โดยเร่งรัดดำเนินการเจรจาในข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชนคู่สัญญาให้ได้ข้อยุติโดยเร็วก่อนดำเนินการ โดยภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และเป็นธรรมต่อภาคเอกชนบนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนในโครงการฯ ร่วมกัน
3) การส่งมอบพื้นที่ ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ปัจจุบัน รฟท. ได้ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาแล้ว 3,493 ไร่ หรือได้เกือบครบทั้งหมด 100 % แล้ว เหลือพื้นที่ส่งมอบเพียง 20 ไร่ หรือประมาณ 0.57% ที่เจ้าของพื้นที่เดิมยังหาที่อยู่ใหม่ไม่ได้ รฟท. จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2565
ส่วนเมืองการบินภาคตะวันออก สนามบินอู่ตะเภา ทราบความก้าวหน้า 1) การจัดสิทธิประโยชน์ 10 ปีแรกให้กับโครงการเมืองการบินภาคตะวันออกเพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เทียบเท่าสิงคโปร์ ดูไบ และฮ่องกง
ซึ่งจะมีการสนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจ 24 ชั่วโมงเป็นเขตปลอดอากรและสรรพสามิต รวมทั้งภาษีสรรพากรในบางกรณี รวมทั้งจะมีการสนับสนุนด้านการออก VISA และใบอนุญาตการทำงานในลักษณะ 5+5 ปี สำหรับผู้ทำงานและนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก
2) การจัดตั้งบริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด โดย อีอีซีจะถือหุ้น 100% ให้เป็นหน่วยงานพัฒนา MRO ร่วมกับเอกชน โดยการทำงานจะมีการประสานงานใกล้ชิดกับ UTA ที่พัฒนาสนามบิน ให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออกโดยสมบูรณ์