ย้อนวิกฤตราคามะนาว รัฐบาลแนะนำอย่างไร

มะนาว

ย้อนดูปัญหาราคามะนาวในประเทศไทย ที่เคยตกอยู่จุดต่ำสุด และพุ่งสูงถึงลูกละ 10 บาท ขณะที่รัฐบาลแนะนำประชาชน บริโภคผักชนิดอื่นเพื่อทดแทนความเปรี้ยวของมะนาว 

วันที่ 8 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศที่แปรปรวนในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อผลผลิต “มะนาว” ที่มีจำนวนการส่งออกสู่ตลาดน้อยลง และมีราคาสูงขึ้นถึงลูกละ 5 บาท อีกทั้งยังมีพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องใช้มะนาวในการประกอบอาหาร เริ่มปรับราคาเมนูอาหารของทางร้านตามไปด้วย

แต่ปัญหามะนาวแพงไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้น หากมองย้อนไปปัญหาดังกล่าวแทบจะเกิดขึ้นทุกปี เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศที่ไม่สามารถควบคุมการผลิตได้

“ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนดูวิกฤตราคามะนาวในประเทศไทยที่เคยเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเดียว แต่ยังมีช่วงขาลงที่ขายไม่ออกจนเกษตรกรต้องโค่นต้นทิ้ง

ประยุทธ์แนะปลูกมะนาวกินเอง

วิกฤตราคามะนาวในปี 2558 ทำให้ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัญหาภาวะภัยแล้ง โดยราคาขายปลีกพุ่งสูงถึงลูกละ 9-10 บาท ส่วนราคาต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 100 บาท จะได้มะนาวประมาณ 15 ลูก

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหามะนาวแพง โดยแนะนำวิธีการแก้ปัญหาว่า ให้ประชาชนปลูกมะนาวในกระถางเพื่อนำมากินเอง พร้อมระบุว่า ต้องหัดช่วยเหลือตนเองบ้าง

มะนาวราคาตก เกษตรกรตัดใจโค่นต้นทิ้ง

เมื่อปี 2560 ประเทศไทยเกิดวิกฤตราคามะนาวตกต่ำสุดในรอบ 30 ปี จากปัญหาผลผลิตล้นตลาด ทำให้ชาวสวนมะนาวหลายรายตัดสินใจตัดต้นมะนาวทิ้ง เนื่องจากต้นทุน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแล ไม่คุ้มกันกับกำไรที่จะได้รับ ที่ขณะนั้นราคามะนาวหน้าสวน ซึ่งเป็นมะนาวขนาดใหญ่ ราคารับซื้อเพียงลูกละ 50 สตางค์ ส่วนราคาขายในตลาดสด เพียงลูกละ 75 สตางค์ ถึง 1 บาทเท่านั้น

ทั้งนี้ พบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้มะนาวขายไม่ออก เนื่องจากในช่วงนั้นประชาชนเริ่มหันมาปลูกมะนาวไว้กินเอง ประกอบกับผลผลิตมะนาวล้นตลาด ยิ่งทำให้ราคาและยอดขายตก

มะนาวแพงดันเงินเฟ้อพุ่ง

ในปี 2561 เกิดวิกฤตภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.7-1.7% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงาน และการลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิด

โดยหนึ่งในสินค้าเกษตรดังกล่าว คือ มะนาว มีการปรับตัวของราคาสูงขึ้นถึง 6.82%

ราคามะนาวพุ่ง 150 บาทต่อกิโลกรัม

ต่อมาเกิดภาวะหน้าแล้งในช่วงปี 2562 ก่อให้เกิดวิกฤตราคามะนาวพุ่งสูง ซึ่งมีการปรับราคาสูงขึ้นถึง 90-130 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงแตะถึง 150 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายปลีกอยู่ที่ลูกละ 7-8 บาท ซึ่งราคาดังกล่าว เป็นราคาที่แพงกว่า 1 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ

ส่วนประชาชนในขณะนั้น ได้ปรับตัวและหันมาใช้พืชผักสวนครัวชนิดอื่นที่สามารถทดแทนมะนาวได้ ส่วนร้านค้าก็ปรับตัวเช่นกัน โดยใช้มะม่วงเปรี้ยว มะขาม แทน เพื่อลดต้นทุน โดยไม่เพิ่มราคาขาย

พาณิชย์ แนะกินมะม่วง มะขามเปียกแทน

สำหรับสถานการณ์มะนาวล่าสุดในปีนี้ ด้านนายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่าราคามะนาวในตลาดปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ราคาขายส่งอยู่ที่ลูกละ 4 บาท แต่ปัจจุบันราคาปรับขึ้นเป็นลูกละ 5 บาท

เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง 60-70% จากปัญหาภัยแล้งและอากาศที่แปรปรวนทำให้มะนาวออกลูกน้อยกว่าปกติ ส่งผลกระทบทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก พร้อมแนะนำว่า เบื้องต้นขอให้ผู้บริโภคหาสินค้าชนิดอื่นแทนมะนาว เช่น มะม่วง หรือมะขามเปียก

อย่างไรก็ตาม นายอุดมระบุว่า เชื่อว่าปัญหามะนาวแพงเป็นปัญหาระยะสั้น เนื่องจากขณะนี้ความต้องการของตลาดมีสูง ชาวสวนมะนาวจึงมีการเร่งผลผลิตให้ออกสู่ตลาดเร็ว คาดว่าภายใน 1 เดือนราคามะนาวจะลดลงได้ ทั้งนี้ กรมการค้าภายในได้ติดตามภาวะราคามะนาวอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีการค้ากำไรเกินควร