บ้านปู เผยปี64 กำไรสุทธิโต 643% รายได้ 1.3 แสนล้านบาท

บ้านปู เผยผลประกอบการปี 64 กำไรสุทธิพุ่ง 643% รายได้131,861 ล้านบาท EBITDA 1,778 ล้านเหรียญสหรัฐ กางแผนปี 65 เดินหน้ากลยุทธ์ Greener & Smarter “พลังงานที่ดีขึ้นเพื่ออนาคต”ทุ่มลงทุน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ

วันที่ 10 มีนาคม 2565 นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินธุรกิจในปี 2564มีรายได้จากการขายรวม 4,124 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 131,861 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,841 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 58,870 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 81

โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 1,778 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 56,846 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 216 จากปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 304 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9,719  ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 643

ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงาน ทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน และแหล่งรายได้ใหม่ ๆ จากการเร่งขยายพอร์ตพลังงานที่สะอาดขึ้นในประเทศยุทธศาสตร์สำคัญต่าง ๆ อย่างก้าวกระโดด

“สงครามรัสเซีย-ยูเครนมีผลทำให้ราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะถ่านหินและก๊าซ ซึ่งราคาถ่านหินล่าสุดอยู่ที่ 385 เหรียญสหรัฐ/ตัน ราคาก๊าซฯจะทรงตัวในระดับสูงที่ 4.7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ในปีนี้บริษัทจะมีผลประกอบการเติบโตดีขึ้นกว่าปี2564ที่มารายได้ 4,124 ล้านเหรียญสหรัฐและกำไรสุทธิ 304 ล้านเหรียญสหรัฐ”

นางสาวนอริศรา สกุลการะเวก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บ้านปู เปิดเผยว่าในปีนี้ บริษัทฯ เตรียมเดินหน้าธุรกิจ โดยเตรียมการลงทุนไว้ที่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจากแบ่งเป็นการลงทุนในแหล่งพลังงาน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ การผลิตพลังงานไฟฟ้า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และพลังงานหมุนเวียน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ และที่เหลือ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เทคโนโลยีด้านพลังงาน

สำหรับทิศทางนับจากปี 2565 นี้ บ้านปูยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พอร์ตพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงานที่สอดคล้องกับเทรนด์พลังงานในอนาคตได้รวดเร็วและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยวางแนวทางการดำเนินการในกลุ่มธุรกิจหลักทั้ง 3 กลุ่ม ดังนี้

นายจามร จ่าเมือง ผู้อำนวยการผู้อำนวยการสาย วิศวกรรมเหมือง เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ทางด้านธุรกิจเหมือง จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการการต้นทุนเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจแร่แห่งอนาคต (Strategic  Minerals) อาทิเช่น นิเกิล ลิเธียม อะลูมินัม คอปเปอร์ โกลด์ ในแหล่งที่บริษัทได้มีการลงทุนอยู่แล้วเพื่อต่อยอดการเติบโตของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้

“ธุรกิจถ่านหินในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายการผลิตที่ 40 ล้านตัน โดยจะซื้อถ่านหินจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมเพื่อนำมาผสมให้ได้ถ่านหินคุณภาพดีอีก 2–3 ล้านตัน ทำให้ทั้งปี 2565 บริษัทตั้งเป้าขายถ่านหินที่ 42-43 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 36 ล้านตัน”

นายฐิติ เมฆวิชัย ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นในการใช้งบลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสดสูงสุด เมื่อสถานการณ์ราคาก๊าซเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจกลางน้ำและธุรกิจผลิตพลังงานที่สามารถส่งเสริมและต่อยอดธุรกิจต้นน้ำที่มีอยู่ ทั้งนี้กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งจากกลุ่มธรุกิจแหล่งพลังงานจะถูกนำไปต่อยอดสร้างการเติบโตของธุรกิจพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชาญฉลาดขึ้น

“ตลาดก๊าซธรรมชาติ ในสหรัฐปรับตัวดีขึ้นแต่เป็นตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าราคาจะดีแต่มีข้อจำกัดเรื่องท่อส่งทำให้ไม่สามารถส่งออกได้มากนัก ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาก๊าซธรรมชาติคือสภาพอากาศซึ่งเริ่มมีความหนาวเย็นขึ้นมาในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์

อย่างไรก็ตามจากการที่ราคาก๊าซในตลาดเพิ่มสูงขึ้นก็เป็นการจูงใจให้ผู้ผลิตเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซมากขึ้น ขณะที่ตลาดโลกก็มีความต้องการสำรองก๊าซเพิ่มมากขึ้นและมีการดึงสำรองการออกมาใช้เพราะฉะนั้นแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติในปีนี้น่าจะส่งตัวสูงประมาณ 4-5 เหรียญสหรัฐต่อพันลูกบาศก์ฟุต”

ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติจากตลาดอ้างอิง Henry hub ปี 2563 อยู่ที่ 2.03 เหรียญสหรัฐต่อพันลูกบาศก์ฟุต ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.89 เหรียญสหรัฐต่อพันลูกบาศก์ฟุต ส่วนในปีหกห้าจนถึงขณะนี้เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 4.70 เหรียญสหรัฐต่อพันลูกบาศก์ฟุต

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) เปิดเผยในส่วนของธุรกิจผลิตพลังงาน ว่า นโยบายของบริษัทมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงไฟฟ้า รวมทั้งแสวงหาโอกาสการลงทุนในโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE)

สำหรับในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน จะมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดจากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว รวมทั้งให้ความสำคัญกับโครงการโรงไฟฟ้าให้สามารถเปิดดำเนินการได้ตรงตามระยะเวลากำหนด ในขณะเดียวกันก็จะขยายการลงทุนไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง รวมไปถึงภูมิภาคกลยุทธ์ที่บ้านปูมีธุรกิจอยู่ เช่น ในสหรัฐอเมริกา และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นจะขยายการลงทุนตามฐานการผลิตของบ้านปู ทั้งในประเทศญี่ปุ่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา โดยในปีนี้มีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีกราว 841 เมกะวัตต์ ใกล้เคียงกับปี 2564 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในมือรวม 4,142 เมกะวัตต์

ด้านนายเจมส์ รามา ปัทมินทรวิภาส ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มุ่งสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Scale Up) ให้พอร์ตฟอลิโอเทคโนโลยีพลังงาน โดยขยายขอบเขตการให้บริการด้านพลังงานที่มีอยู่ ได้แก่

ยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ การจัดการพลังงานและของเสีย (Energy and Waste Management) ควบคู่กับการเข้าลงทุนและพัฒนาบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานรูปแบบใหม่ โดยมุ่งเน้นที่การสร้างศักยภาพทางธุรกิจ และรวมทั้งสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลในการสร้างพลังร่วมระหว่างธุรกิจเดิมกับธุรกิจใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานในอนาคต

“ทิศทางต่อจากนี้ บ้านปูยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านองค์กร (Banpu Transformation) ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter และการยึดมั่นในหลัก ESG เรามั่นใจว่า ด้วยประสบการณ์และการเรียนรู้จากช่วงเวลาแห่งความท้าทายตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้บ้านปูสามารถเพิ่มอัตราเร่งกระบวนการ Digital Transformation

ซึ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ควบคู่ไปกับการขยายพอร์ตฟอลิโอพลังงานที่สะอาดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อการบรรลุเป้าหมาย EBITDA จากธุรกิจพลังงานที่สะอาดและธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานขึ้นมากกว่า 50% และเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้า 6,100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568”