อานิสงส์รัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำยางดิบนิวไฮรอบ 9 ปี

ยางพารา

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนไม่เพียงดันให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ตลาดเวสต์เทกซัสที่จะส่งมอบเดือนเมษายน 2565 ปรับขึ้นไปแตะที่ 125.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถือเป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2551 และช่วงหนึ่งของการซื้อขายราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปถึง 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ยังเป็นแรงกดดันที่ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคายางพาราในตลาดส่งออกที่ปรับตัวขึ้นไปถึง กก.ละ 73 บาท

ซึ่งหากพิจารณาราคาผลิตยางพาราล่าสุด พบว่าเริ่มไต่ระดับสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทั่งล่าสุดขยับขึ้นระดับ “นิวไฮ” โดยน้ำยางดิบ ปรับขึ้นไปถึง กก.ละ 73 บาท สูงสุดในรอบ 9 ปี นับจากปี 2556 ที่มีราคา กก.ละ 78.43 บาท ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 67.70 บาท ยางก้อนถ้วย กก.ละ 51.50 บาท ซึ่งทุกรายการถือว่าปรับตัว “สูงกว่า” ราคาประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง เฟส 3 ที่ประกาศไว้

โดยเฉพาะราคายางก้อนถ้วยสูงกว่าราคาประกันรายได้ที่กำหนด กก.ละ 23 บาท หรือสูงกว่า กก.ละ 28 บาท ราคาน้ำยางสดสูงกว่าประกันรายได้ถึง กก.ละ 11.30 บาท จากราคาประกันที่ 57 บาท ขณะที่ราคายางแผ่นดิบแม้ว่าจะปรับราคาขึ้นมาเล็กน้อย มาอยู่ที่ กก.ละ 61-63 บาท

แต่ก็ยังถือว่าเป็นระดับราคาที่สูงกว่าราคาประกันรายได้ที่กำหนดไว้ กก.ละ 60 บาท ถึง 2 บาท ซึ่งหากแนวโน้มราคาตลาดยังทรงตัวสูงอย่างนี้จะส่งผลดีต่อโครงการประกันรายได้ที่มีการกำหนดจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2565 ทำให้ลดภาระการจ่ายเงินส่วนต่างลงได้อย่างมาก

ศรีตรังฯมองเทรนด์ราคายางขาขึ้น

ก่อนหน้านี้ “นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA กล่าวว่า ราคายางน่าจะยังเป็น “ขาขึ้น” อยู่ แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้หวือหวาเหมือนราคาถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือทองคำ ล่าสุด ณ วันนี้เราเห็นราคายาง 180 เซนต์ต่อกิโลกรัมแล้วจากปีก่อน 130-140 เซนต์ต่อ กก. จึงมองว่าอย่างไรปีนี้คงไม่ต่ำกว่า 170 เซนต์ต่อ กก.

“ผลกระทบเรื่องรัสเซีย-ยูเครนจะแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมากกว่า ซึ่งในส่วนของยางเองต้องดูปริมาณความต้องการใช้ยางตามดีมานด์-ซัพพลายที่แท้จริงเป็นอย่างไร ซึ่งเราคาดการณ์ว่ายางธรรมชาติจะโตดีต่อเนื่อง จากกลุ่มผู้ผลิตล้อยางส่วนหนึ่งที่เคยเป็นลูกค้าของอินโดนีเซียหันมาสั่งซื้อจากไทยแทนตั้งแต่ปลายปี 2564

เพราะอินโดนีเซียประสบปัญหาเรื่องโรคใบร่วงซัพพลายลดลงจาก 3.5 เหลือ 2.8 ล้านตัน และราคาขายของอินโดนีเซียแพงกว่าไทย กก.ละ 6 บาท ตลาดยานยนต์เติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วน 90% ซึ่งตลาดหลักทั้งสหรัฐ จีนเติบโตสูง ยางธรรมชาติฟื้นตัว เราไม่เห็นราคายาง 3 กิโล 100 บาทเลย

ส่วนรายได้จากถุงมือยางอาจจะเติบโตแต่อาจจะชะลอตัวลงบ้างเพราะปริมาณการขายเพิ่ม แต่ราคาถุงมือเริ่มอ่อนตัวและปริมาณซัพพลายยางใน แต่สิ่งสำคัญคือปัจจัยนี้จะ sustain แค่ไหน”

ส่วนผลสะท้อนราคายางในประเทศปีนี้ปรับสูงขึ้น แต่ยังเป็นช่วง “ฤดูกาลปิดกรีด” ระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค.ผลผลิตจะออกมาน้อย ซึ่งแนวโน้มผลผลิตยางของไทยปีนี้คาดการณ์ว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% หรือ 4.9-5.0 ล้านตัน จากเดิมที่ตั้งแต่ปี 2012-2020 ราคายางของไทยตกต่ำลงมาตลอด ทำให้ 10 ปีที่ผ่านมาชาวสวน “โค่นยาง” ไปปลูกทุเรียนหรือพืชอื่นมากขึ้น ซัพพลายใหม่จึงมีปริมาณเพิ่มไม่มาก

กยท.ชี้ปัจจัย “สต๊อกจีน-ญี่ปุ่นลด” ดันราคายาง

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงสถานการณ์ยางและแนวโน้มราคาขณะนี้ว่า ราคายางมีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก สถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเกินกรอบ 100 เหรียญต่อบาร์เรล ส่งผลกระทบต่อราคายางสังเคราะห์ที่มีการปรับตัวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน สะท้อนสินค้าโภคภัณฑ์อย่างยางพาราจึงมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นตาม

ขณะเดียวกัน “สต๊อกยาง” ในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ “ราคายาง” เพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ อาทิ สต๊อกยางเมืองชิงเต่า (Qingdao) ซึ่งเป็นเมืองที่นําเข้ายางมากที่สุดในโลกและเป็นฐานสําคัญในการผลิตล้อยาง จากเดิมที่มีสต๊อกยางถึง 600,000 ตัน

แต่ปัจจุบันเหลือแค่ไม่ถึง 227,000 ตัน เช่นเดียวกับสต๊อกยางตลาดเซี่ยงไฮ้ และสต๊อกยางตลาดญี่ปุ่นก็มีปริมาณลดลง จำเป็นจะต้องจัดซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงในภาคการผลิต ซึ่งจะทำให้ความต้องการยางเพิ่มขึ้น

ส่งออกยางปี’65 ทะลุ 4.23 ล้านตัน

ทั้งนี้ กยท.คาดว่าการส่งออกยางไทยในปี 2565 จะส่งออกประมาณ 4.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03% โดยไตรมาสแรกจะส่งออกประมาณ 1.11 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.29%

ขณะที่แนวโน้ม “ราคายางพารา” ในปี 2565 ราคาน่าจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการใช้ยางมากกว่ากำลังการผลิต คาดว่าผลผลิตยางทั่วโลกมีปริมาณ 14,544 ล้านตัน ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5 ความต้องการใช้ยางจะพุ่งสูงขึ้นถึง 14,822 ล้านตัน ยางจะขาดตลาดแน่นอน

อย่าประมาทราคา “ผันผวน”

อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงนี้ราคายางจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่เกษตรกรชาวสวนยางต้องเตรียมรับมือกับการปรับตัวลดลงของราคายาง หากสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนคลี่คลายลง ขณะที่ผู้ประกอบกิจการยางอาจต้องเตรียมการรับมือกับต้นทุนราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นและเงินบาทที่
อ่อนค่าลง อาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจบ้างเมื่อสถานการณ์สงครามคลี่คลายลง

“กยท.ติดตามสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิด ซึ่งเราประเมินว่าหากยืดเยื้อราคาน้ำมันน่าจะไม่สูงมากไปกว่านี้ เพราะผู้ผลิตน้ำมันเองก็ไม่ต้องการให้สูงขึ้นเช่นกัน เพราะหากราคาน้ำมันสูงเกินไปผู้ผลิตเองก็มีปัญหา ดังนั้น น่าจะสามารถดูแลราคาได้ แต่ราคายางที่พุ่งสูงขึ้นตอนนี้ไม่ได้มาจากราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่มาจากดีมานด์-ซัพพลายผลผลิตที่น้อย และตอนนี้ทั้งไทยและมาเลเซียเข้าสู่ช่วงปิดกรีด”

ฟื้นเขต ศก.พิเศษเสริมแกร่งอุตสาหกรรมยาง

ล่าสุดทาง กยท.ได้หารือความร่วมมือกับมาเลเซียในโอกาสที่ดาโต๊ะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เห็นภาพความร่วมมือการผลักดัน “โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง”

ภายใต้แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา 3 ฝ่าย ทั้งไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนและพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ยาง และศูนย์วิจัยทดสอบผลิตภัณฑ์ยางพารา ตลอดจนการส่งเสริมด้านการค้าการลงทุนจากรัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศ โดยเฉพาะบริเวณแนวชายแดนในการขับเคลื่อนนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาและส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานยางพาราทั้งระบบให้มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็ว ๆ นี้

ชาวสวนหวังราคาสูงต่อเนื่อง

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวว่า ความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อยางสังเคราะห์ปรับตัวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน อีกทั้งสถานการณ์ราคาน้ำยางข้นราคาสูงจากความต้องการที่มากแต่ผลผลิตมีไม่เพียงพอ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงปิดกรีดทั้งไทยและมาเลเซียจึงมีผลผลิตไม่เพียงพอป้อนตลาด

สอดคล้องกับแหล่งข่าววงการสมาคมน้ำยางข้นไทยมองว่า ราคาน้ำยางข้นไทยสูงขึ้นจากปัจจัยหลักด้านดีมานด์-ซัพพลาย น้ำยางข้นประเทศมาเลเซียแทบไม่มีและตอนนี้ก็เป็นช่วงปิดกรีด ซึ่งไทยผลิต 80 เปอร์เซ็นต์ป้อนมาเลเซีย ทำให้ราคาซื้อน้ำยางสด ณ หน้าโรงงาน 69 บาท/กก. ราคาสูงกว่ายางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควัน ซึ่งบวกกับช่วงน้ำท่วมบางพื้นที่


และสถานการณ์โลกผลจากรัสเซีย-ยูเครนกดดันราคาน้ำมัน เมื่อของน้อยราคาก็สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาน้ำมันจะสะท้อนไปยังต้นทุนการเกษตร ไม่เฉพาะยางพาราต้องเฝ้าติดตามปัจจัยต้นทุนด้วย อาทิ การขนส่ง และราคาปุ๋ย