รัสเซีย-ยูเครน ปลัดเกษตรฯ-พาณิชย์ ยกเลิกนำเข้าข้าวสาลีมาตรการ 3 : 1

ปลัดเกษตรฯ-พาณิชย์ถกเกษตรกร ผู้ประกอบการ ถกเครียดกว่า 5 ชั่วโมง หลังวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทุบต้นทุนแม่ปุ๋ยนำเข้าพุ่งมากกว่า 100% พาณิชย์เล็งหาแหล่งนำเข้าปุ๋ยใหม่อินเดีย จีน ทดแทนตลาดรัสเซีย ขณะที่อาหารสัตว์ กัดฟัน ยกเลิกมาตรการ 3 : 1 ชั่วคราว เคาะเปิดเสรีนำเข้าข้าวสาลี ก.ค. 2565

วันที่ 15 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมหารือกับหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

พร้อมทั้งภาคเอกชนและเกษตรกร ในเรื่องของแนวทางผลไม้ แผนดำเนินงานเรื่องปุ๋ย อาหารสัตว์ หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย ยูเครน ส่งผลให้ราคาปุ๋ยและอาหารสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้น มากเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบผู้นำเข้าต้องชะลอการนำเข้าและเกษตรกรภายในประเทศประสบปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน ราคาสินค้าสูงขึ้นต่อเนื่อง

โดยการประชุมในวันนี้ใช้เวลานานมากกว่า 5 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปต้องนำข้อมูลที่ได้ไปประชุมกลุ่มย่อยของกระทรวงพาณิชย์และเกษตรฯอีกครั้ง ถึงขั้นตอนการปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

โดยนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าสถานการณ์ราคาปุ๋ยที่มีราคาสูงขึ้นนั้น กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันหามาตรการที่จะช่วยในเรื่องดังกล่าว โดยพิจารณาในเรื่องต้นทุนที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับราคาปุ๋ยสูงขึ้น ก็จะหาช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยในราคาถูกได้ กระทรวงเกษตรฯจึงมีโครงการลดราคาปุ๋ยเคมี โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้ 5 ล้านตัน จากปัจจุบันที่มีการผลิตประมาณ 3.2 ล้านตัน เพื่อเป็นมาตรการเสริมใช้ช่วงปุ๋ยแพงต่อไป

สำหรับในเรื่องการส่งออกผลไม้ของไทยนั้น ในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งสองกระทรวง ได้ร่วมหารือถึงตลาดส่งออก โดยตลาดส่งออกสำคัญคือจีน ซึ่งทูตเกษตรฯได้มีการประสานงานกับหน่วยงานของจีนอย่างใกล้ชิด

ซึ่งปัจจุบันจีนยังคงยึดมาตรการ Zero COVID โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในจีนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนมีมาตรการควบคุมทั้งคนและการขนส่งสินค้าอย่างเข้มงวด โดยเป็นมาตรการทั้งระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่นซึ่งแตกต่างกันไปตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ สำหรับสินค้าที่ขนส่งผ่านห่วงโซ่ความเย็น เช่น ผลไม้ จะต้องถูกตรวจ 3 อย่าง และต้องได้รับใบรับรอง ได้แก่

ใบรับรองผ่านตรวจสอบกักกัน ใบรับรองผลตรวจโควิด และใบรับรองการผ่านการฆ่าเชื้อ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลไม้ของไทยสามารถส่งออกไปจีนได้

ส่วนประเด็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ (ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง) ที่มีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสมาคมต่าง ๆ กระทรวงพาณิชย์จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ เพื่อเสนอความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว

โดยให้มีการ “ชะลอ” มาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ อัตราส่วน 1 ต่อ 3 ของกระทรวงพาณิชย์ ไว้ชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 65 นี้ รวมถึงต้องกำหนดปริมาณที่จะนำเข้าว่าไม่เกินเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้วย โดยกระทรวงพาณิชย์จะมีการตั้งคณะทำงานวงเล็กเพื่อหารือประเด็นดังกล่าว

ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายกรมปศุสัตว์และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเข้าร่วมด้วย เพื่อให้ข้อมูลตัวเลขสำหรับใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรต่อไป

“การเปลี่ยนแปลงของราคาต้นทุนแม่ปุ๋ย กระทบต่อต้นทุนที่เกษตรกรจะต้องซื้อปุ๋ยเพื่อทำการเกษตร  ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจะเพิ่มกำลังผลิต ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมี ในสภาวะที่ไม่ปกติ โดยปกติ ปี 2565 กระทรวงเกษตรฯมีเป้าหมายในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพประมาณ 3.2 ล้านตัน แต่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 5 ล้านตัน ในเวลาอันใกล้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น

รวมทั้งอาหารสัตว์ต้องยอมรับว่า ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงเป็นประวัติการณ์ จากวิกฤตรัสเซีย ยูเครน ส่วนแผนรับมือผลไม้ภาคตะวันออก อีกไม่กี่วัน ในช่วงปลายเดือนนี้ไปจนถึงต้นเดือนหน้า จะเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวทุเรียน เพื่อลดการแออัดส่งออกไปจีน ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างหารือถึงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะวิ่งไปทางเวียงจันทน์ เเละจะเร่งรัดหารือกับจีนเพื่อให้เปิดด่านตรวจสุขอนามัยพืช”

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กระทบต้นทุนราคาแม่ปุ๋ยมากกว่า 100% จากสถานการณ์ปกติ ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่ราคาขายในประเทศจะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอการนำเข้าแล้ว

ซึ่งเสี่ยงว่าจะเกิดปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยในประเทศ โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นฤดูการเพาะปลูกพืชเกษตร โดยเฉพาะข้าว โดยในที่ประชุมได้หารือ ว่าจะหาแหล่งนำเข้าปุ๋ยใหม่ทดแทนตลาดรัสเซีย ซึ่งเล็งไว้คือ ตลาดอินเดีย จีน แต่ต้องเจรจาก่อนว่า ประเทศผู้ขายแม่ปุ๋ยจะมีแม่ปุ๋ยให้ไทยหรือไม่ ส่วนต้นทุนอาหารสัตว์ ที่เพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น จะมีการเปิดให้นำเข้าข้าวสาลีแบบเสรีระยะประมาณ 4 เดือนไปจนถึง 31 ก.ค. 2565

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ได้เชิญกลุ่มพืชไร่เข้ามาหารือ และมีการร่วมกำหนดอัตราอาหารสัตว์ที่จะนำเข้าข้าวสาลี เข้ามาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศจะต้องซื้อข้าวโพดในประเทศด้วย ในอัตราส่วนการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เป็นมาตรการใช้มาร่วม 4-5 ปี ตอนนั้นราคาข้าวโพดอยู่ 3 บาท/กก. ปัจจุบันข้าวโพดราคาอยู่ที่ 12 บาท

“แต่สถานการณ์วันนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า เห็นควรผ่อนคลายมาตรการตรงนี้ช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะถึงฤดูกาลใหม่ อาจจะช่วยทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลง สามารถนำเข้าข้าวสาลีมาได้ โดยไม่ต้องซื้อข้าวโพดเป็นการชั่วคราว แต่ทุกฝ่ายจะต้องมาคุยกันว่า ปริมาณข้าวสาลีที่จะนำเข้ามาจะต้องไม่เกินเท่าไร เพื่อที่จะไม่ให้กระทบต่อพี่น้องเกษตรกรด้วย

โดยมีเงื่อนไข 2 ประกาศ ก็คือ 1.ช่วงระยะเวลาผ่อนคลายมาตรการนี้จะต้องไม่เกิน 31 ก.ค. 2564 2.กำหนดปริมาณที่จะได้รับผ่อนผันนี้ไม่เกินปริมาณเท่าไร ถึงจะไม่เกิดผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรต่อไป” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว