สหรัฐ ผุดศูนย์วิจัยนวัตกรรมกัญชงระดับโลกในไทยแห่งแรกนอกประเทศ

เปิดตัว “ศูนย์วิจัยนวัตกรรมกัญชงระดับโลก” ในประเทศไทย นับเป็นแห่งแรกนอกประเทศสหรัฐฯ ระดมนักวิจัยชั้นนำของโลกร่วมปั้นผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ดันก้าวขึ้นสู่การเป็น HUB กัญชงกัญชาแห่งเอเชีย

วันที่ 22 มีนาคม 2565 ดร.เอมอร โคพีร่า ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร Geneomics Global, USA เปิดเผยในโอกาสนำคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชง กัญชา ระดับโลก เข้าร่วมสัมมนาวิชาการนานาชาติ Cannabis International Conference 2022 Thailand ว่า

การตัดสินใจเข้ามาตั้งศูนย์ Global Hemp Innovation Collaboration ในประเทศไทย นับว่าเป็นการตั้งสาขาแรกนอกประเทศสหรัฐฯ ของ Geneomics Global และเป็นสาขาที่ 4 ของเรา โดยทั้ง 3 สาขาก่อนหน้านั้นได้ตั้งอยู่ที่ Oregon state, Hawaii และ California ประเทศสหรัฐอเมริกา

“ความพร้อมของประเทศไทยในเวลานี้หากนำองค์ความรู้และการใช้วิทยาศาสตร์ขับเคลื่อนคาดว่าประเทศไทยจะกลายเป็นฮับ (HUB) กัญชง กัญชา แห่งเอเชียได้ จึงเป็นโอกาสดีที่คณะผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลในจังหวัด จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย รวมทั้งการร่วมเสวนาในเวทีวิชาการระดับนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกันกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กัญชงกัญชาระดับชาติ”

สำหรับศูนย์ Global Hemp Innovation Collaboration ในเมืองไทยนั้นถือเป็นสาขาที่ 4 ของ Geneomics Global, USA ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ภายใต้ชื่อ Geneomics Global Co.,Ltd โดยมุ่งเน้นบริหารให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำธุรกิจกัญชง-กัญชาอย่างครบวงจรเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

พร้อมทั้งการขยายธุรกิจร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ภายใต้การกำกับดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เพื่อที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ กัญชง-กัญชาในเอเชีย และเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น

ดร.เอมอร กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จในการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการร่วมศึกษาวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชง กัญชา อีก 3 สาขา ประกอบด้วย  Prof. Dr. Jay Noller เชี่ยวชาญ ทางด้านนวัตกรรม กัญชง กัญชา เป็นผู้ค้นพบสารจากกัญชง กัญชา ใช้สร้างสูตรมาส่งเสริมการรักษา COVID 19, Dr. Gerard Rosse ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการสกัด และการทำให้สารจากกัญชงกัญชาบริสุทธิ์ และ Mr. Billy Morrison ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการปลูกและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยี

ในโอกาสนี้ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นแหล่งปลูกและแหล่งรวมของสายพันธุ์กัญชงและกัญชาชั้นเลิศ จึงเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งหากประเทศไทยสามารถก้าวสู่ผู้นำแถวหน้าของโลกในการเป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสารสกัดกัญชงและกัญชา

“หัวใจสำคัญในการพัฒนาให้เกิดการยอมรับในระดับโลกได้นั้น กระบวนการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องอยู่บนหลักพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ การค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้องค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดนั้นจะต้องอ้างอิงความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุดจริง

เพราะหากเราสามารถสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมกัญชงและกัญชาในประเทศไทยให้เกิดการยอมรับด้วยมาตรฐานสากลตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว ทั้งในส่วนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พลังงานและเคมีชีวภาพ การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยว

ซึ่งการบูรณาการทั้ง 4 อุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน จากข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ (สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม) ได้ระบุถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มขนาดใหญ่ของประเทศ ที่มีสัดส่วนใน GDP ถึง 21% และเกี่ยวข้องกับอาชีพและการจ้างงานของคนในประเทศมากกว่า 16.5 ล้านคน”

อย่างไรก็ตาม การจะสร้างมาตรฐานด้านกัญชงและกัญชาของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกได้นั้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ล้วนเกิดจากการศึกษาวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญในทุกด้าน

เพราะเรื่องของกัญชงกัญชาเป็นวาระการแข่งขันในระดับโลกที่กลุ่มอุตสาหกรรมในหลายประเทศต่างขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มที่เช่นกัน และก็กำลังเฝ้ามองการเดินหน้าของประเทศไทยว่าจะสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำในเรื่องนี้ได้อย่างไร ดังนั้นหากเราเกิดการสะดุดหรือขาดการยอมรับในระดับสากลแล้ว อาจส่งผลต่อการเสียต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้

สำหรับศักยภาพของศูนย์ฯแห่งนี้ พร้อมที่จะคิดค้นวิจัยและต่อยอดเพื่อสร้างสูตรการผลิตให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย อาทิ

ผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ด้านวัสดุจากเส้นใยกัญชง หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ บนพื้นฐานงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกได้นั้น มาตรฐานการแข่งขั้นจะต้องได้รับการยอมรับในด้านความถูกต้องทางวิทยาศาตร์และข้อมูลการวิจัยที่ได้ผลจริงมีแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้องเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นสำคัญ มากกว่าการใช้ความรู้เพียงบางส่วนหรือข้อมูลที่ยังคลุมเครือ

เพราะหากเป็นเช่นนั้นเราอาจสูญเสียความเชื่อมั่น ไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กัญชงกัญชาของประเทศไทยสะดุดได้ในที่สุด จึงอยากให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการใช้องค์ความรู้จากวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาเป็นสำคัญดร.เอมอร กล่าว