กรมประมงปิดอ่าวฝั่งอันดามัน ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 65

กรมประมงประกาศปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 65 ควบคุมการทำประมงฤดูปลามีไข่ พื้นที่ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง เพื่อฟื้นฟูสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืน

วันที่ 31 มีนาคม 2565 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพประมงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องชาวประมง ถือเป็นนโยบายสำคัญ ที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมประมงถือปฏิบัติเพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรประมง

โดยมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน กรมประมงได้ดำเนินการมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528

และมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำได้วางไข่แพร่ขยายพันธุ์เจริญเติบโตและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าก่อให้เกิดการทำประมงที่ยั่งยืนดังเช่นที่ผ่านมา

โดยจากผลการศึกษาทางวิชาการพบว่า ในช่วงเวลาการบังคับใช้มาตรการ พบสัตว์น้ำชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีความสมบูรณ์เพศสูง และพบสัตว์น้ำวัยอ่อนมีความชุกชุมและแพร่กระจายหนาแน่นในพื้นที่

โดยเฉพาะเดือนมิถุนายนมีความหนาแน่นสัตว์น้ำสูงสุดถึง 5,161 ตัว/1,000 ลบ.ม. ประกอบกับจากสถิติผลจับสัตว์น้ำของเรือประมงพาณิชย์และพื้นบ้านทางฝั่งทะเลอันดามัน ในปี 2564 มีปริมาณผลการจับ 388,022 ตัน สูงกว่าปี 2560 อยู่ถึง 12,005 ตัน

โดยเฉพาะผลการจับปลาทู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ ในปี 2564 พบว่ามีปริมาณ 12,267 ตัน สูงกว่าเมื่อปี 2560 ซึ่งมีผลการจับเพียง 3,602 ตันเท่านั้น

ดังนั้น ในปีนี้กรมประมงยังคงดำเนินมาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ในช่วงเวลา พื้นที่ และเครื่องมือที่อนุญาตให้ใช้เช่นเดิม ตามประกาศกรมประมงฯ พ.ศ. 2561 คือ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2565 ในเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร

ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง จึงขอเน้นย้ำให้พี่น้องชาวประมงโปรดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำประมง

โดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น เครื่องมืออื่น ๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครอง

“กรมประมงมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน เป็นกลไกหนึ่งในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำโดยอาศัยความตระหนักและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำที่คุ้มค่าและยั่งยืน

สุดท้ายกรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน และเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพประมงต่อไป” อธิบดีกล่าว

สำหรับชนิดของเครื่องมือประมง วิธีการทำการประมง และเงื่อนไข ที่สามารถทำการประมงในช่วงประกาศใช้มาตรการ ดังนี้

1. เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 14 เมตร และต้องทำการประมงในเวลากลางคืนนอกเขตทะเลชายฝั่ง

2. เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตัก ทำการประมงเฉพาะในเวลากลางวัน และต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

3. เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีขนาดช่องตาอวน ตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวน ไม่เกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และเครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีช่องตาอวนตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

4. เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง อวนหมึก

5. เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

6. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

7. ลอบหมึกทุกชนิด

8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง

9. คราดหอยที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 18 เมตร มีความกว้างของปากคราดไม่เกิน 3.5 เมตร ช่องซี่คราดไม่น้อยกว่า 1.2 เซนติเมตร และจำนวนของเครื่องมือคราดหอยต้องไม่เกิน 3 อัน (หน่วย) ต่อเรือกล 1 ลำ ที่ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทำการประมงของเครื่องมือคราดหอยที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2560

10.อวนรุนเคย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558

11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก แผงยกปูจักจั่น

12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง

13. การใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงอื่นใด โดยเครื่องมือที่ใช้ประกอบต้องไม่เป็นเครื่องมือประมงพาณิชย์ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดให้การใช้เรือประมงทุกขนาดประกอบเครื่องมือทำการประมงบางประเภทเป็นประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2560 และต้องไม่เป็นเครื่องอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ)

และต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ถูกห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมงและพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๖๐ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560

ทั้งนี้ การทำการประมงโดยใช้เครื่องมือในข้อ 3 , 4 , 5 , 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 และจะต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมง ตามมาตรา 67 69 หรือ 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558