3 ยักษ์โลก จีน-สหรัฐ-อียู ใช้มาตรการอุดหนุน ไทยอ่วมเฉียดแสนล้าน

Photo by REUTERS

“การส่งออก” ถือเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากย้อนดูข้อมูลปี 2564 การส่งออกไทยขยายตัวได้ถึง 17.1% เติบโตสูงสุดในรอบ 11 ปี รวมมูลค่ากว่า 2.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปีนี้คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกไทยมีโอกาสเติบโตในอัตราชะลอลงเหลือเพียง 3-5%

ท่ามกลางความท้าทายของวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังส่งผลกระทบทั่วโลกตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจโลกบอบช้ำอย่างมาก ตามมาด้วยปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อเกินกว่า 1 เดือน เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่มาทุบซ้ำเศรษฐกิจโลกให้ซึมลง

ล่าสุดธนาคารโลกประกาศปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2565 ลง โดยจีดีพีของไทยลดลงจาก 3.9% เหลือ 2.9% จากปัจจัยเสี่ยงราคาพลังงานโลกที่พุ่งสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต

และเป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง GDP ของจีน ที่มีขนาดใหญ่คิดเป็น 86% ของภูมิภาค มีโอกาสเติบโตเพียง 5% หรือถึงขั้นเลวร้ายอาจจะโตได้เพียง 4% เทียบกับในอดีตที่ GDP ของจีนเคยเติบโตปีละ 7-8%

เศรษฐกิจโลกแผ่วแข่งขันทางการค้าเดือด

แน่นอนว่าความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชากรในตลาดโลก “หดตัวลง” นำมาสู่การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันระหว่างสินค้าของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ทั้งจีน สหรัฐ และสหภาพยุโรป

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานผลการศึกษาเรื่อง “การอุดหนุนของ 3 ประเทศมหาอำนาจ และผลกระทบต่อการส่งออกของโลกและไทย” ซึ่งจัดทำขึ้นโดย “นายณัฐ ธารพานิช” อัครราชทูตที่ปรึกษา คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกระบุว่า

มาตรการอุดหนุนเป็นมาตรการที่ประเทศสมาชิก WTO ใช้เพื่อให้แต่ละประเทศบรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบการภายในประเทศตนให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกเหนือประเทศอื่น

“ไทยต้องจับตาความเคลื่อนไหวของการใช้มาตรการอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลย้อนหลังในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มการใช้มาตรการอุดหนุนจาก 3 ประเทศมหาอำนาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 สินค้าที่ได้รับการอุดหนุนจากประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ คิดเป็นมูลค่า 62% ของมูลค่าการค้าสินค้าทั่วโลกเลยทีเดียว”

ตามรายงาน “Global Trade Alert” โดย ศ.ดร. Simon Evenett ได้จัดทำฐานข้อมูลการอุดหนุนใหญ่ที่สุดในโลก พบว่าการใช้มาตรการอุดหนุนของ 3 ประเทศมหาอำนาจ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2008-2021 มีจำนวนรวม 18,137 มาตรการ

เป็นที่น่าสังเกตว่า จีนมักถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งพากลไกตลาด และน่าจะใช้มาตรการอุดหนุนมากที่สุด แต่กลับใช้เพียง 5,508 มาตรการ รองจาก “สหรัฐ” ที่มีการใช้มาตรการถึง 7,741 มาตรการ ขณะที่สหภาพยุโรปมีการใช้มาตรการอุดหนุน 4,888 มาตรการ

ซึ่งจีนจึงชี้ว่าประเทศมหาอำนาจที่พัฒนาแล้วทั้งหลายก็ใช้มาตรการอุดหนุนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 และแม้แต่ภายในองค์การการค้าโลก (WTO) เองก็ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้มาตรการอุดหนุนที่น่าเชื่อถือและสามารถเปรียบเทียบข้ามประเทศได้ เพราะข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการแจ้งของสมาชิก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหาการแจ้งไม่ครบถ้วน

จีนใช้มาตรการฯกับไทยมากที่สุด

ที่สำคัญ ตัวเลขระบุว่า สินค้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงไทยที่ส่งออกไปยังจีน สหรัฐ และสหภาพยุโรป “ได้รับผลกระทบ” สูญเสีย “ความสามารถในการแข่งขัน” ในตลาดโลก

โดยในปี 2562 ก่อนโควิด-19 หากวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดพบว่า จีนใช้มาตรการอุดหนุนกับไทยมากที่สุด รองลงมาคือ สหรัฐ และสหภาพยุโรป นั่นเพราะสินค้าไทย 100 ชิ้น เป็นสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าจีนถึง 84-85 ชิ้น เมื่อผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน “การแข่งขัน” ย่อมรุนแรง

ดังนั้น ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปจีน สหรัฐ และสหภาพยุโรป จะได้รับผลกระทบเฉลี่ยประมาณ 70-80% หากคิดเป็นมูลค่ารวม 3 ประเทศอยู่ที่ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบง่าย ๆ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกของไทยเลยก็ว่าได้) แบ่งเป็น จีน มูลค่าเท่ากับ 35,577 ล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐ 23,442 ล้านเหรียญสหรัฐ และสหภาพยุโรป 21,050 ล้านเหรียญสหรัฐ

เปิดลิสต์สินค้าที่กระทบแรงสุด

หากแยกประเภทสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการอุดหนุน 3 ประเทศมากที่สุด สูงสุด 5 อันดับสินค้าในแต่ละประเทศที่ส่งผลกระทบต่อไทย พบว่า 1) จีน ใช้มาตรการอุดหนุนกระทบกับสินค้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 1,278 มาตรการ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ 1,015 มาตรการ ยานยนต์และส่วนประกอบ 827 มาตรการ พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก 690 มาตรการ และผลิตภัณฑ์ยา 688 มาตรการ

2) สหรัฐ ใช้มาตรการอุดหนุนกระทบกับสินค้าหลักคือ ฝ้ายและสิ่งทอ 238 มาตรการ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 215 มาตรการ, อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า 193 มาตรการ ยานยนต์และส่วนประกอบ 81 มาตรการ และธัญพืช 76 มาตรการ

และ 3) สหภาพยุโรป จะใช้มาตรการอุดหนุนที่กระทบกับสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแก้ว 404 มาตรการ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 268 มาตรการ และผลิตภัณฑ์จากผลไม้ 255 มาตรการ ยานยนต์และส่วนประกอบ 246 มาตรการ และ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ 243 มาตรการ

เพิ่มความ “โปร่งใส”

นอกจากความเข้มข้นของการใช้มาตรการอุดหนุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว งานศึกษายังพบอีกว่า รูปแบบการใช้มาตรการอุดหนุนนอกจากที่ประกาศโดยรัฐบาลส่วนกลางแล้ว ยังมีความซับซ้อนไปถึงระดับรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลระหว่างประเทศด้วย

และที่สำคัญคือประเด็นเรื่อง “ความโปร่งใส” ในการใช้มาตรการดังกล่าว “ลดลง” สะท้อนจากประเทศผู้ออกมาตรการไม่ได้แจ้งเตือน (notification) หรืออาจจะแจ้งเตือนไม่ครบ ทั้งที่ปกติต้องแจ้งก่อนที่จะใช้มาตรการ แต่สถิติการแจ้งเตือนมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013

ข้อเสนอแนะจากการศึกษา จึงเสนอให้ทุกภาคส่วนต้องหันมาหารือกันอย่างจริงจัง ในการร่วม “ปฏิรูปการใช้มาตรการอุดหนุน” สร้างความโปร่งใสจากการใช้มาตรการให้มากขึ้น เพราะผลกระทบของการใช้มาตรการอุดหนุนของ 3 ประเทศมหาอำนาจส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอย่างมหาศาล

เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผลกระทบที่ตามมาจากมาตรการอุดหนุนเหล่านี้ จะนำไปสู่ประเด็น “ข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ” ที่เพิ่มสูงขึ้น การเปิดการค้าเสรีที่ไม่เสรีจริง จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม