ค้านลดภาษีกากถั่วเหลือง ดับแผนโรงงานอาหารสัตว์

สมาคมโรงสกัดน้ำมันถั่วเหลือง “ออกโรงต้าน” โรงงานอาหารสัตว์ ขอลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 2% เป็น 0% ชี้ลดภาษี เพื่อช่วยกลุ่มโรงงานอาหารสัตว์รายใหญ่เพียงกลุ่มเดียว แต่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองกว่า 19,056 ครัวเรือน

ทุบซ้ำโรงสกัดน้ำมันถั่วเหลือง 4 โรงสุดท้ายของประเทศ ลามถึงอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป พ้อรัฐยอมกัดฟันตรึงราคาขายน้ำมันถั่วเหลืองทั้ง ๆ ที่ต้นทุนนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองพุ่งเฉียด 70%

วิกฤตต้นทุนธัญพืชในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นในปีที่ผ่านมาจากปัญหาสภาพอากาศแล้งในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ทั้งในสหรัฐ บราซิล และอาร์เจนตินา ประกอบกับเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นประเทศผู้ผลิตธัญพืช ข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้ราคาธัญพืชปรับตัวสูงขึ้น

ขณะเดียวกันทางสมาคมโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยก็ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลขอให้มีมาตรการช่วย “ลดต้นทุน” การนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ โดย 1 ในข้อเสนอได้แก่ การปรับลดอัตราภาษีนำเข้า “กากถั่วเหลือง” จาก 2% เป็น 0%

โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็จะกระทบกับการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งจะตามมาด้วยการขอปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์ และนั่นมีผลทำให้ราคาเนื้อสัตว์ในตลาดจะถีบตัวสูงขึ้นจากราคาในปัจจุบันแน่นอน

แต่ในอีกด้านหนึ่งการปรับลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการ “ปกป้อง” เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการนำเข้ากากถั่วเหลืองนอกประเทศจากกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และผู้ค้ากากถั่วเหลืองนำเข้า ในการเร่งนำเข้ากากถั่วเหลืองที่จะมีผลต่อราคาขายกากถั่วภายในประเทศและจะส่งผลกระทบไปถึงโรงงานผลิตน้ำมันถั่วเหลือง ตลอดจนเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองมากกว่า 19,000 ครอบครัว

เต้นขอคงภาษีนำเข้า 2%

ล่าสุด นายคุณา วิทยฐานกรณ์ นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมได้ทำหนังสือถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565

เพื่อขอให้พิจารณา “คงอัตรา” ภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ไว้ต่อไป และขอให้รัฐบาลพิจารณาถึงผลดีและผลเสียในการลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองอย่างครบถ้วนและรอบด้าน

โดยในหนังสือฉบับดังกล่าว สมาคมได้ให้ความเห็นสำคัญที่ว่า การปรับลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 2% เป็น 0% จะส่งผลดีต่อราคาเนื้อสัตว์คิดเป็น 10-20 สตางค์เท่านั้น เพราะจะทำให้ “ต้นทุน” กากถั่วเหลืองนำเข้า (ปกตินำเข้าปีละ 2.8-3.2 ล้านตัน) เพียง 1,100 ล้านบาท และถือว่าเป็นการช่วยผู้ประกอบการอาหารสัตว์รายใหญ่เพียงกลุ่มเดียว

ขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจะมีถึง 5 กลุ่ม นอกจากผู้ประกอบการโรงงานผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองแล้ว ทางผู้บริโภคและอุตสาหกรรมที่ใช้ถั่วเหลือง-น้ำมันถั่วเหลือง อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตอาหาร, อุตสาหกรรมผลิตทูน่า, อาหารไก่ปรุงสุก, อุตสาหกรรมน้ำพริก, อุตสาหกรรมสี หรือแม้แต่ผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อยก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

เนื่องจาก “ต้นทุน” ถั่วเหลือง-น้ำมันถั่วเหลืองจะสูงขึ้น หรืออาจจะต้องมองการนำเข้าจากแหล่งอื่นเพิ่มเพื่อลดผลกระทบ

แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือ เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ จากก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยมีผู้ปลูกถั่วเหลืองถึง 88,203 ครัวเรือน เมื่อครั้งที่รัฐบาลยังกำหนดมีอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองไว้ที่ 4% แต่เมื่อภาษีนำเข้าถูกลดลงมาเรื่อย ๆ เหลือแค่ 2% “เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองก็หายไปเรื่อย ๆ จนเหลือเพียง 19,056 ครัวเรือนเท่านั้น”

ดังนั้นหากรัฐบาลตัดสินใจลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองลงเป็น 0% สมาคมเชื่อว่าต่อไปจะไม่มีเกษตรกรปลูกถั่วเหลืองเหลืออยู่ ซึ่งเท่ากับจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร (food security) ของประเทศไทยทันที

และยังไม่นับรวมกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อยจำนวนกว่า 3.1 ล้านราย ที่จะได้รับผลกระทบแน่นอนจากความได้เปรียบจากการแข่งขันของผู้ผลิตปศุสัตว์รายใหญ่ (ที่เป็นทั้งผู้เลี้ยงปศุสัตว์-ผู้ผลิตอาหารสัตว์-ผู้จัดจำหน่ายแบบครบวงจร)

“ผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลือง หรือโรงสกัดน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำ เดิมเคยมีผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันก็ลดลงมาเหลือเพียง 4 โรงงานแล้ว

“ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า โรงงานผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลือง มีข้อผูกพันจะต้องซื้อเมล็ดถั่วเหลืองจากในประเทศ 75% ของผลผลิตทั้งหมด หรือประมาณ 40,000 ตัน จึงจะสามารถนำเข้าวัตถุดิบเมล็ดถั่วเหลืองจากต่างประเทศได้ปีละ 2-3 ล้านตัน (เพื่อมาหีบเป็นน้ำมันถั่วเหลือง และได้ผลพลอยได้เป็นกากถั่วเหลืองขายให้กับกลุ่มโรงงานอาหารสัตว์)

“ก่อนหน้านี้โรงงานสกัดเองก็เผชิญกับราคาถั่วเหลืองนำเข้าก็ปรับสูงขึ้นไปถึง กก.ละ 24-25 บาท จากที่เคยอยู่ที่ 14 บาท ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่โรงสกัดมีรายได้มาจากการขายกากถั่วเหลืองเป็นหลัก (ถั่วเหลืองที่นำเข้า 100% หีบแล้วจะเหลือกาก 77% เป็นน้ำมันถั่วเหลือง 18%)” นายคุณากล่าว

กากถั่วในประเทศไม่ขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโรงงานผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ในการ “ตรึงราคา” จำหน่ายน้ำมันถั่วเหลืองอยู่ที่ขวดละ 60 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่ “ต่ำกว่า” ราคาน้ำมันถั่วเหลืองที่ตลาดต่างประเทศขายกันอยู่ที่ขวดละ 90-107 บาท (เวียดนามขวดละ 94.43 บาท-มาเลเซีย 92.76 บาท-กัมพูชา/ฟิลิปปินส์ขวดละ 107 บาท)

และน้ำมันถั่วเหลืองยังมีราคา “ต่ำกว่า” ราคาขายน้ำมันปาล์มขวดที่ขายที่ 62-65 บาท อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอีกด้วย

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจะพิจารณาลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองลงอีกก็เท่ากับขีดความสามารถแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้ก็จะลดลง และจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลืองทันที

นอกจากนี้ การปรับลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองลงเหลือ 0% ยังทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้จากการนำเข้ากากถั่วเหลืองประมาณ 1,100 ล้านบาท คาดการณ์จากตัวเลขนำเข้าปี 2564 ที่ 2.75 ล้านตัน ราคา CIF กากถั่วเหลือง กก.ละ 20.20-20.40 บาท

และไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลอาจจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น จากการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง และภาคประชาชนในลำดับต่อไปด้วย

พร้อมกันนี้ สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าวได้ให้คำยืนยันว่า ปริมาณกากถั่วเหลืองที่ผลิตได้ภายในประเทศมีปริมาณเพียงพอที่จะขายให้กับโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ แล้วยังมีปริมาณกากถั่วเหลืองที่เหลือถึงขั้นสามารถส่งออกได้ด้วย

ขณะที่ราคาจำหน่ายกากถั่วเหลืองให้กลุ่มโรงงานอาหารสัตว์ก็มีราคา “แทบจะไม่แตกต่างจากราคาวัตถุดิบนำเข้าอยู่แล้ว”

ถั่วเหลืองถูกกว่าน้ำมันปาล์ม

ด้านนายเพชร หวั่งหลี เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว กล่าวว่า ปัจจุบันราคาเมล็ดถั่วเหลืองตลาดล่วงหน้าชิคาโก CBOT ปรับสูงขึ้นมา 30% จากช่วงปลายปีที่แล้ว แนวโน้มราคาวัตถุดิบเมล็ดถั่วเหลืองครึ่งปีแรกคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากสัดส่วนสต๊อกเมล็ดถั่วเหลืองต่อการใช้ของโลก ฤดูกาล 2021/2022 ได้ลดลงอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี

รวมทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ในภาพรวม

โดยแหล่งปลูกถั่วเหลืองสำคัญของโลก ทั้งสหรัฐ-บราซิล-อาร์เจนตินา คาดการณ์จะมีผลผลิตลดลง เช่น บราซิล เดิมคาดว่าจะมีผลผลิต 140-150 ล้านตัน แต่จากสภาพอากาศปัจจุบันทำให้ผลผลิตออกมาประมาณ 120 ล้านตัน “เท่ากับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”

ขณะที่การเพาะปลูกถั่วเหลืองในสหรัฐ ปกติจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. แต่เนื่องจากเป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์ลานิญาติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งและทำให้ผลผลิตถั่วเหลืองเสียหาย ประกอบกับผลผลิตถั่วเหลืองในบราซิล-อาร์เจนตินา เมื่อช่วงต้นปีก็ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งเช่นกัน

นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังมีผลต่อราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการขนส่ง โดยทางผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองแม้จะเจอปัญหาค่าขนส่งแพงขึ้น วัตถุดิบสูงขึ้น แต่ก็พยายามผลิตสินค้าออกสู่ตลาด และยืนยันว่าปริมาณสินค้ามีเพียงพอไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน

และราคาก็ยังสามารถซื้อได้ “ที่ผ่านมาสมาคมตรึงราคาน้ำมันถั่วเหลืองเพื่อช่วยเหลือประชาชน

หากเทียบราคาน้ำมันถั่วเหลืองของไทยกับประเทศใกล้เคียงถือว่าไทยขายถูกมาก ตอนนี้น้ำมันถั่วเหลืองถูกกว่าน้ำมันปาล์มอีก ทำให้ไม่ว่าจะผลิตอย่างไรก็แทบจะไม่เพียงพอ เพราะโดยปกติตลาดจะบริโภคน้ำมันปาล์มสัดส่วน 70% น้ำมันถั่วเหลือง 20% น้ำมันอื่นๆ กาโนล่า ทานตะวัน 10%” นายเพชรกล่าว