สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ชี้วิกฤตส่อยาว 6 เดือน

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ชี้สงครามรัสเซียยูเครนกระทบต้นทุน ราคา ผลิตวัตถุดิบโลกไปอีกอย่างต่ำ 6 เดือน ห่วงความยั่งยืน EU Green deal บีบการค้าโลก มองท้าทายมากต่อการผลิตอาหารสัตว์ไทยไม่แพ้วิกฤตสงคราม

วันที่ 29 มีนาคม 2565 นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกูล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวในงานสัมมนา วัตถุดิบอาหารสัตว์ จัดโดยบริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และโควิด-19 ส่งผลแค่ไหนในวิกฤตการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ ว่า

โควิด-19 และสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตอาหารของประเทศ ตั้งแต่ระดับราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ การจัดหาวัตถุดิบทุกชนิดที่ไม่ได้หมายรวมถึงแค่อาหารสัตว์มีปัญหาอย่างมาก และวิกฤตนี้อาจลากยาวจากวันนี้ไปถึง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่เกษตรกร ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการต้องรับมือให้ทันต่อสถานการณ์และวางแผนล่วงหน้าด้วยหากสงครามยืดเยื้อ

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์มีผลต่อวัถุดิบอาหารสัตว์ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเริ่มมีสัญญาณตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ปี 2563 ที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากประเทศจีนฟื้นตัวจากโควิด-19 จึงเร่งนำเข้าวัตถุดิบธัญพืชต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ถัดมาปี 2564 เกิดสภาวะอากาศแปรปรวนของประเทศอเมริกา และอเมริกาใต้

ส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืองโลกมีปริมาณที่น้อยลง และขณะนี้ ปี 2565 วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงข้ึนไปอีก เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งเป็นประเทศส่งออกข้าวสาลีของโลก โดยมีสัดส่วนส่งออกรวมกันประมาณ 30%

ทั้งนี้ ขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยพุ่งสูงกว่าตลาดโลกไปอยู่ที่ 12.80 บาท/กก. และมีแนวโน้มขยับต่อเนื่องไปถึง 21 บาท/ กก. ซึ่งแม้จะราคาแพงขนาดไหน แต่ก็ไม่มีผลผลิตข้าวโพดออกสู่ตลาด เพราะความต้องการใช้ข้าวโพดทั้งหมด 7.98 ล้านตัน ยังขาดแคลนถึง 3.18 ล้านตัน จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบทดแทนคือข้าวสาลีเท่านั้น

ซึ่งหากจะมีการปรับสูตร ปรับใช้พืชอื่น อาทิ ข้าว ปลายข้าว นั้น แม้อาจทดแทนได้บางอย่างแต่ไม่อาจทดแทนกันได้ 100% เพราะปลายข้าวอาจใช้ในหมูได้ แต่ใช้ไม่ได้ในการผลิตกุ้งและไก่ และไม่เป็นไปตามหลักโภชนาการ ซึ่งจะยิ่งส่งผลเสียต่อการเลี้ยงซ้ำเติมเข้าไปอีก

ดังนั้น จากสถานการณ์ดังกล่าวสมาคมขอเสนอให้ภาครัฐผ่อนปรนนโยบาย โดยที่รัฐต้องกล้าตัดสินใจยกเลิกมาตรการควบคุมการนําเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน และยกเลิกภาษีนําเข้ากากถั่วเหลือง 2% เปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบการค้าโลก WTO AFTA ควรยกเลิกโควตาภาษี และค่าธรรมเนียมในปริมาณขาดแคลนในปี 2565 รวมไปถึงตรวจสต๊อกพ่อค้าคนกลางเพื่อป้องกันการฉวยโอกาสทำกำไร สุดท้ายคือควรระงับการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง

ขณะเดียวกัน ความยั่งยืนเป็นความท้าทายอย่างมากต่อการผลิตอาหารสัตว์ไทยไม่แพ้วิกฤตจากสงครามรัสเซีย ยูเครน เพราะสงครามอาวุธเป็นแค่เรื่องของ 2 ประเทศ แต่สงครามทางเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องของคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น เงื่อนไขใหม่ทางการค้า ที่ไทยควรตระหนัก โดยปัจจุบันตลาดในต่างประเทศมีนโยบายที่มุ่งเน้นไปในด้านการผลิตสินค้าที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ซึ่งเป็นเงื่อนไขการแข่งขันทางการค้าที่อยู่เหนือการแข่งขันด้านราคา เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทย ได้ออกมาตรการเกี่ยวกับสินค้ายั่งยืน อาทิ EU Green deal

“วิกฤตอาหารสัตว์เกิดขึ้นก่อนมีเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งผมมองว่าสงครามอาวุธเป็นแค่เรื่องของ 2 ประเทศ แต่สงครามทางเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องของคนทั่วโลกและไม่น่าจะจบง่าย ๆ เราอาจยังเจอสงครามจิตวิทยา และความเข้มข้นของการเเข่งขันทางการค้าจะมากขึ้น เช่น EU Green deal มาตรการลดคาร์บอนในสินค้าเกษตรจะเป็นข้อต่อรองอีกเยอะมาก ไทยควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาส อย่ามองแค่วิกฤตอย่างเดียว”

รศ.ดร.ยุวเรศ เรืองพานิช รองหัวหน้าภาคฝ่ายวิจัยและการบริการ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน กล่าวว่า วัตถุดิบทางเลือก หรือวัตถุดิบทดแทนในการเลี้ยงสัตว์ปีก ที่น่าสนใจ ซึ่งเหมาะสมในขณะนี้ควรมองโอกาสวัตถุดิบที่มีวอลุ่มก่อน คือ

สำปะหลัง มันเส้น ข้าว รำข้าว ส่วนอื่นที่วอลุ่มน้อย คือโปรตีน และควรเลือกใช้เอนไซม์ที่เหมาะสมกับวัตถุดิบที่มีสูตรเพื่อการปลดปล่อยสารอาหาร อย่างไรก็ดี ในการปรับสูตรอาหารเป็นแนวทางที่เหมาะสมแต่ผู้เลี้ยงควรศึกษาต้นทุนให้ดี