ไทยปลดล็อกส่งออกทุเรียน เหมาขบวนรถไฟจีน-ลาว 25 ตู้

สมาคมทุเรียนจ่อเหมาขบวนรถไฟจีน-ลาวส่งออกปลาย เม.ย.นี้ สภาธุรกิจไทย-ลาว ประเมิน 3 เดือน ไทยขนสินค้าผ่านแดนขึ้นรถไฟจีน-ลาวยังไม่เข้าเป้า มีแค่ “ข้าวหัก-ทุเรียน-มะพร้าว” 23 ตู้ เหตุระบบศุลกากรยังติดขัด ต้องถ่ายสินค้าจากรถไฟขึ้นรถหัวลากเข้าจีน “จุรินทร์” จ่อพบ รมต.จีน เร่งแก้ปัญหาส่งออกผลไม้ไทย ลุยเจรจาขยายเวลาเปิดด่าน 24 ชม. เพื่อลดความแออัด

นับเป็นเวลากว่า 3 เดือนหลังจากการเปิดปฐมฤกษ์รถไฟจีน-ลาว เมื่อ ธ.ค. 2564 ซึ่งฝ่ายไทยก็ได้ทดลองใช้รถไฟนี้ในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนจากไทย-ลาว-จีนแล้ว โดยการนำร่องขนส่งข้าวหัก 500 ตัน 20 ตู้ โดยบริษัทกล้าทิพย์ เมื่อ ก.พ. 2565 และผลไม้อีก 3 ตู้

ขณะที่ภาพรวมการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวมาไทยตั้งแต่ ธ.ค. 2564-เม.ย. 2565 มี 470 ตู้ มูลค่า 332 ล้านบาท สินค้าที่ส่งเข้าไทย เช่น สินค้าผักสด ปุ๋ย กล่องพลาสติก อาหารสัตว์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อะไหล่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

3 เดือนแรกยังไม่เข้าเป้า

นายจตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” จากการประเมินสถานการณ์การใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาวในช่วง 3 เดือนแรก มองว่าในด้านการขนส่ง “ค่อนข้างไม่บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้” เนื่องจากการขนส่งส่วนใหญ่จะเป็นการขน “แร่” ที่จีนเข้าไปลงทุนทำเหมืองใน สปป.ลาวกลับไปยังประเทศจีนมากกว่า ส่วนที่เหลือจะเป็นด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งมวลชนในลาวตั้งแต่เปิดรถไฟไปเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2564 ปรากฏมีคนใช้บริการท่องเที่ยวภายในลาวประมาณ 200,000 กว่าคน ส่วนการขนส่งสินค้าเกษตรและผลไม้ยังติดขัดเรื่องการตรวจสอบพอสมควร

“การขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนมีการขนส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาวเพียง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือขนส่งข้าวหัก ใช้เวลาค่อนข้างมากเพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนที่ทางเจ้าหน้าที่ลาวคิดว่าเป็นการนำเข้าเพื่อการส่งออก ไม่ใช่การนำผ่าน จึงติดขั้นตอนในการตรวจสอบใช้เวลานานและในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ สมาคมทุเรียนเตรียมจะเหมารถไฟจีน-ลาวทั้งขบวน 25 ตู้ เพื่อขนส่งทุเรียนไปจีน การแก้ปัญหาเรื่องระยะเวลาในการขนย้าย ไม่ต้องไปรอการเติมสินค้าให้เต็มทั้งขบวนที่ลาวอีก”

อย่างไรก็ต้องติดตามว่า “การทดสอบการใช้ขบวนรถไฟจีน-ลาวขนสินค้าแบบเหมาทั้งขบวนนั้น จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการขนส่งคุ้มหรือไม่ หากต้นทุนต่ำกว่า 200,000 บาทต่อตู้ก็ถือว่า “คุ้มค่า” ถ้าเทียบกับการขนส่งผ่านเส้นทางรถยนต์ เพราะนอกจากการขนส่งทางรถไฟจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องระยะเวลาแล้วยังช่วยลดต้นทุนในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นได้ด้วย จึงเชื่อว่าถ้าทุกอย่างลงตัวจะทำให้การขนส่งสะดวกมากขึ้น สำหรับในเรื่องฮาร์ดแวร์ความพร้อมก็คงต้องรอการสร้างสะพานรถไฟแห่งที่ 2 ให้แล้วเสร็จ ตอนนี้จึงต้องใช้การขนส่งในระบบนี้ซึ่งเรียกว่ามัลติโมเดลทรานส์ฟอร์เมชั่นไปก่อน”

ส่วนการส่งออกครั้งที่ 2 เป็นการขนส่งทุเรียน 2 ตู้คอนเทนเนอร์กับส่งมะพร้าวอีก 1 ตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2565 ด้วยการใช้ระบบมัลติโมเดลทรานส์ฟอร์เมชั่น คือขนรถไฟเชื่อมกับรถลาก แต่ไปติดค้างที่สถานีเวียงจันทน์ใต้ประมาณ 3-4 วัน เนื่องจากไทยขนส่งสินค้าเพียง 3 ตู้ จากทั้งขบวนที่มี 20 ตู้ ทำให้สินค้าจากไทยที่ส่งออกไปต้องไปจอดรอรับสินค้าทางฝั่งลาวเพื่อให้เต็มขบวนแล้วจึงขนส่งไปที่จีน และจุดที่ 2 ยังไปติดที่สถานีนาเตย ที่หลวงน้ำทา ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายที่ต้องปรับเปลี่ยนการขนส่ง จากระบบรางขึ้นไปเป็นระบบรถหัวลากเพื่อเคลื่อนเข้าสู่ประเทศจีนอีก 1 วัน

ปัจจุบันยังต้องใช้ระบบมัลติโมเดลทรานส์ฟอร์เมชั่นก่อน เพราะอะไรก็ยังไม่ลงตัว รวมแล้วใช้เวลา 4-5 วัน แต่ดีที่การขนส่งผลไม้เป็นการขนส่งผ่านตู้เย็นแบบโคเชน คือตู้รักษาอุณหภูมิ

เทียบต้นทุนทุกเส้นทาง

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งสินค้าจากไทยผ่านลาวไปจีน แม้จะปลดล็อกอุปสรรคในเรื่องต่าง ๆ ได้ แต่ระยะเวลาในการขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะใช้เวลา 4-5 วัน แต่ถลดลงเหลือใช้เวลาน้อยที่สุดไม่เกิน 20 ชั่วโมง (เริ่มจากการขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังจังหวัดหนองคายใช้เวลา 8-12 ชม. การขนส่งจากหนองคายไปลาวใช้เวลา 6 ชม. และการขนส่งจากลาวไปจีนใช้เวลา 9 ชม.) หากเทียบกับการขนส่งทางบกเส้นทาง R9 (ด่านแดนสะหวัน ลาว-ดานัง เวียดนาม-จีน) ใช้เวลา 35 ชั่วโมง

เส้นทาง R8 (จ.บึงกาฬ-ปากซัน-ฮานอย-กวางสี) ใช้เวลา 32 ชั่วโมง เส้นทาง R12 (จ.นครพนม-ด่านท่าแขก ลาว-ด่านน้ำพาวและด่านจาลอ เวียดนาม-ด่าวโหยวอี้กวน จีน หรือด่านหม่องก๋าย-ด่านตงซิน) ใช้เวลา 29 ชั่วโมง และเส้นทาง R3A (ด่านเชียงของ จ.เชียงราย-ด่านห้วยทราย ลาว-เวียงภูคา-หลวงน้ำทา ด่านบ่อเต็น-ด่านบ่อหาน-เมืองเชียงรุ้ง (จิ่งหง)-คุนหมิง มณฑลยูนนาน ใช้เวลา 5 วัน แต่การขนส่งทางถนนต้นทุน “สูงมาก” กว่า 200,000 บาทต่อตู้ จากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น

ล่าสุดได้มีการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาผ่านทาง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคาย โดยทุกฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกันเพียงแต่จะต้องทดลองและหาวิธีที่ทำให้เกิดการลงตัวมากที่สุด ในส่วนของเป้าหมายการส่งออกผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีนในปีนี้อาจยังไม่บรรลุเป้าหมาย โดยในช่วงที่ผลผลิตทุเรียนกำลังออกสู่ตลาด ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณ 1.5 ล้านตัน ขณะนี้ผู้ประกอบการบางส่วนหันไปส่งสินค้าทางเรือแล้วเพราะ “ไม่อยากจะรอ” เรื่องการแก้ปัญหาของรถไฟ เท่าที่ทราบการขนส่งเส้นทางเรือจากท่าเรือฮ่องกงไปยังประเทศจีนก็เริ่มมีปัญหาการตรวจสอบโควิด-19 ที่เข้มข้นขึ้นจนไม่สามารถลำเลียงสินค้าลงตู้ได้

อย่างไรก็ตามรัฐบาล สปป.ลาวมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยวางยุทธศาสตร์ให้ลาวเป็น “Land Link” ประกาศว่า “รถไฟ” จะเป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมต่อภูมิภาคจึงไม่ควรจะมองว่าเป็นผลประโยชน์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ภาคธุรกิจไทย-ลาว-จีน ต้องหันหน้ามาหารือกันเพื่อวางยุทธศาสตร์บริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์ในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้ต่ำที่สุด

ค้าขายกับจีนไทยต้องเร็ว

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า การเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว-ไทย ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเป็นโอกาสที่สำคัญในการส่งเสริมกระจายสินค้าไทยเข้าไปยังประเทศจีนอีกช่องทางหนึ่ง เป็นเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศเส้นแรกจากยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นของจีน รวมระยะทาง 1,013 ก.ม. ร้อยละ 87 ของเส้นทางคือสะพานและอุโมงค์ลอดภูเขา โดยสามารถเปิดเดินรถตลอดสายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 เปิดบริการเฉพาะขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ลาว จากสถานีคุนหมิง-สถานีรถไฟเวียงจันทน์

“แม้รถไฟยังไม่เปิดบริการสำหรับผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว ยกเว้นเส้นทางภายในประเทศจีน การขนส่งสินค้าจากสถานีคุนหมิง-สถานีรถไฟเวียงจันทน์ แต่เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 64 ด่านโม่ฮานได้ทำการตรวจปล่อยขบวนแรก รถไฟขนส่งสินค้าขบวน 21051 บรรทุกวัตถุดิบ อาหารสัตว์ แคลเซียมฟอสเฟส จำนวน 50 ตู้ และระหว่างวันที่ 4-15 ธ.ค. 64 ด่านรถไฟโม่ฮานตรวจปล่อยขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ลาว 31 ขบวน ปริมาณสินค้า 17,100 ตัน มูลค่า 107 ล้านหยวน โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญคือยางพารา ปุ๋ยเคมี และสินแร่เหล็ก สินค้าส่งออกที่สำคัญคือ ผัก ผลไม้ เหล็ก เครื่องจักรกล และเครื่องใช้ไฟฟ้า”

ประกอบกับเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการทำความตกลง (Framework Agreement) การขนส่งทางรถไฟระหว่างไทย-ลาวและจีน โดยกำหนดสิทธิการเดินทางรถไฟระหว่าง 3 ประเทศให้เกิดการเดินรถไฟอย่างมีประสิทธิภาพและการเร่งรัดก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ให้เชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว จะยิ่งสนับสนุนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพด้านบริการโลจิสติกส์ของประเทศ

“เส้นทางนี้ยังไม่เปิดบริการเต็มที่ ยิ่งมาเจอโควิด-19 ระลอกใหม่ของจีน ด่านรถไฟโม่ฮานได้เพิ่มความเข้มงวดตามมาตรการ Zero COVID ดังนั้นผู้ส่งออกจึงไม่ควรรอแค่เส้นทางเดียวที่จะเสร็จเดือน มิ.ย. ซึ่งจะช้าไป ผลไม้จะส่งออกไม่ได้ ดังนั้นฝ่ายไทยต้องเร่งทำคะแนนเพราะคนจีนทำช่องทางเร็ว ค้าขายไว สินค้าจีนเข้ามาเร็วมาก แต่ไทยก็ต้องหาข้อได้เปรียบจากเส้นทางรถไฟสายนี้ให้มากขึ้น ควรที่จะเร่งรัดโปรโมตประชาสัมพันธ์ กระตุ้นการท่องเที่ยวและการค้า ทั้งเมืองหลักเมืองรองแถบนี้ก็ได้ หากช้าไปกว่านี้จะเสียโอกาสให้กัมพูชา-เวียดนาม” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว

จุรินทร์ทำหนังสือถึง รมต.จีน

ด้านนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีของจีน เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไทยไปยังจีนโดยเฉพาะในบางด่านที่ยังติดปัญหา เช่น ด่านรถไฟโมฮานที่ยังรอทางการจีนดำเนินการเรื่องการตรวจสอบกักกันโรคพืชให้แล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดได้ภายในกลางปี 2565 นี้

พร้อมทั้งจะหารือถึงการที่หน่วยงานภาครัฐของไทยจะยกระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจีนให้ความสำคัญ

“ผู้ส่งออกผลไม้ไทยจะขยายการส่งออกผลไม้ไปจีนให้มากขึ้นในทุกช่องทาง ส่วนทางรถไฟก็จะเป็นอีกช่องทางในอนาคตที่จะส่งออกผลไม้ไทยไปยังจีน โดยปัจจุบันการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน 52% ส่งออกทางเรือ 48% ส่งออกทางบก และส่วนน้อยที่ส่งออกทางอากาศ แต่ก็อยู่ระหว่างการประสานสายการบินสมาคมโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกผลไม้ผ่านทางอากาศให้มากขึ้น”

ลุ้นกลางปีผลไม้ไทยเข้าจีน

นายกวิน วิริยพานิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว (ทูตพาณิชย์) กล่าวว่า ตั้งแต่ที่มีการเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน ปรากฏประเทศไทยส่งสินค้าเข้าจีนโดยตรงได้ 23 ตู้ เป็นเส้นทางรถไฟโดยตรง 20 ตู้คือข้าวหัก และ การส่งแบบไฮบริด 3 ตู้ในสินค้าผลไม้ ทั้งนี้ การส่งออกรูปแบบไฮบริดหมายถึงไม่ได้ส่งตรงผ่านเส้นทางรถไฟเข้าจีน แต่ส่งไปครึ่งทางแล้วเปลี่ยนถ่ายตู้ขนส่งผลไม้ที่ “สถานีนาเตย” ของ สปป.ลาว ไปใช้การขนส่งทางบกผ่านด่านบ่อเต็นเข้าจีน

“สินค้าผลไม้จากไทยยังส่งตรงเข้าจีนไม่ได้ คาดว่ากลางปีการตรวจสอบที่ด่านโม่ฮานที่จีนจึงจะแล้วเสร็จ ส่วนสินค้าอื่น เช่น เม็ดพลาสติก สามารถส่งตรงผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีนเข้าจีนได้ ซึ่งทางสำนักงานได้รับมอบหมายให้เร่งส่งเสริมและแก้ไขปัญหาลดอุปสรรคของการส่งออกผลไม้ไทยเข้าจีนเพื่อรองรับผลไม้ภาคตะวันออกที่จะออกมาในช่วงปลายเดือนนี้

ล่าสุดทางการจีนได้ช่วยขยายระยะเวลาเปิดด่านจากเดิมเปิดตั้งแต่ 08.00-16.00 น. ขยายเป็น 07.00-20.00 น. หรือ 12-13 ชั่วโมง ทั้งในด่านโม่ฮานและบ่อเต็น พร้อมกันนี้ยังได้ขอเจรจากับทางจีนเพิ่มเติมเพื่อขยายระยะเวลาการเปิดด่านออกเป็น 16 ชั่วโมงถึง 24 ชั่วโมง เพื่อลดความแออัดการส่งออกผลไม้ไทยเข้าจีน และจากการยืดระยะเวลาการเปิดทำการของจีน ล่าสุดระบายรถขนส่งออกไปได้วันละ 200 คัน จากเดิมได้เพียงวันละ 100 คัน” นายกวินกล่าว

ทั้งนี้ ภาพรวมการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาวในเดือนมกราคม 2565 มีมูลค่าส่งออก 13,907 ล้านบาท หรือขยายตัว 47.35% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทองคำไม่ขึ้นรูป, น้ำมันดีเซล, น้ำมันสำเร็จรูป