บาทอ่อนนำเข้า “น้ำมัน” แพงลิบ หวั่นชาวบ้านอ่วมค่าครองชีพเงินเฟ้อพุ่ง

แพงทั้งแผ่นดิน...ทุบซ้ำกำลังซื้อ ธุรกิจกุมขมับ...ปาดเหงื่อสู้

บาทอ่อน-นำเข้ายุทธปัจจัยพุ่ง ต้นเหตุไทยขาดดุลการค้าไตรมาสแรกเฉียด 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ “เอกชน” คาดแนวโน้มไตรมาส 2 บาทอ่อนค่าทะลุ 35-36 บาท หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย นำเข้า พลังงาน-วัตถุดิบแพงทะลุโลกขาดดุลการค้าต่อเนื่อง-ทุบซ้ำค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ล่าสุด ธปท.ออกแบบสอบถามเอกชนประเมินผลกระทบค่าบาท ขีดเส้น 26 พ.ค.ได้ข้อสรุป เตรียมกำหนดมาตรการดูแล

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนของไทยในช่วงไตรมาส 1 ปรับตัวอ่อนค่าลง ส่งผลต่อการนำเข้าและส่งออกของไทยอย่างมาก โดยเฉพาะภาพรวมการนำเข้า ในช่วงไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้นสูงมากจนทำให้ไทยประสบภาวะขาดดุลการค้า มูลค่า 944 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการนำเข้า สินค้าหมวดยุทธปัจจัย ที่มีมูลค่า 1,042 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1,965.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สินค้าหมวดเชื้อเพลิง มีมูลค่า 14,267 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 86.3% โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 8,768 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 86.2%

ขณะที่การนำเข้าสินค้ากลุ่มทุน 17,315 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% และกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป 30,353.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.3% ซึ่งในกลุ่มนี้มีสินค้าแร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ซึ่งมีมูลค่า 129 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.6% สินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก มูลค่า 3,914 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.1%

สินค้าปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช 698 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 47% และสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค มีมูลค่า 8,561 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.8% อย่างไรก็ตาม สินค้ากลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ลดลง 20.2% มีมูลค่า 3,005 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1 ปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 944 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าสินค้าทุนและปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงนี้ ทำให้การนำเข้า 3 เดือนแรก มีมูลค่า 74,545 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18.4% และส่งออก 73,601 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 14.9%

สินค้านำเข้า

“ภาคการผลิตยังไม่น่ากังวล แต่ที่กระทบคือ ส่วนของสินค้าทุน ที่บางส่วนจะขาดแคลน เนื่องจากภาวะสงคราม โดยไทยต้องเร่งหาแหล่งผลิต ทดแทนส่วนที่ขาดไป และส่งเสริมสนับสนุนการหา แหล่งวัตถุดิบ เพิ่มเติมให้สินค้าที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตเพื่อส่งออก อย่างไรก็ตาม การที่ค่าบาทอ่อน ทำให้เรามีโอกาสแข่งขันในการส่งออกได้

แต่ก็มีผลกระทบด้านนำเข้า โดยเฉพาะด้านพลังงาน ซึ่งภาครัฐควรดูแลต้นทุนหลักของทั้งประเทศ ในด้านพลังงานและไฟฟ้าที่เป็นพื้นฐานการใช้ชีวิต แล้วต้นทุนการผลิต ซึ่งก็ควรให้มีการทยอยปรับ โดยไม่ฝืนกลไกตลาดโลกมากเกินไป”

อย่างไรก็ตามภาคเอกชนก็ต้องพยายามเต็มที่ในการควบคุมต้นทุน ภาคประชาชนต้องหาวิธีประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง เพราะขณะนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มีผลทำให้ดอลลาร์แข็งค่า และเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งหากสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องตามแผนจนทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐทะลุ 3.25-3.50% จะยิ่งมีผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไปอีก และค่าบาทไทยมีโอกาสอ่อนค่าถึง 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

“แม้ว่าค่าบาทอ่อนค่าส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว แต่ที่น่าห่วง คือ เรื่องเงินเฟ้อ เพราะไทยนำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงานของไทยคิดเป็นสัดส่วน 90% ทั้งยังมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและทุนอีก หากค่าบาทอ่อน ผู้นำเข้าสินค้าจะมีต้นทุนสูงขึ้นส่งผลต่อระดับราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาสินค้าที่จำหน่ายในประเทศอาจต้องปรับขึ้นไปอีก กระทบค่าครองชีพ และดุลการค้าของไทย ซึ่งตอนนี้ไทยขาดดุลการค้าครั้งแรกในไตรมาส 1 ไม่ได้ขาดดุลมานานแล้วนี่เป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง”


ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ ส.อ.ท.สำรวจข้อมูลสมาชิกเพื่อประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากค่าบาทที่แข็งค่าให้ได้ข้อสรุปภายในวันที่ 26 พ.ค.นี้ เพื่อนำไปกำหนดมาตรการดูแลต่อไป ซึ่งสิ่งที่ภาคเอกชนเสนอให้รัฐเข้ามาดูแล คือ เสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน จากก่อนหน้านี้ ขอให้ดูแลให้อยู่ในกรอบ 32.50-33.50 บาท ผู้ส่งออกรับได้แต่ต้องมีเสถียรภาพ ส่วนเอกชนเองก็ต้องประกันความเสี่ยงค่าเงินด้วย