ค่าครองชีพ-น้ำมันสูง ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย. 65 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

หอการค้าไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเมษายน 2565 อยู่ที่ระดับ 40.7 ปรับลดลงต่อเนื่อง เดือนที่ 4 ประชาชนยังคงกังวลภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ-ราคาน้ำมันพุ่ง

วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ระดับ 40.7 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 34.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 38.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 49.6 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่สิงหาคม 2564 ซึ่งอีกเพียงนิดเดียวจะทำลายสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นั่นหมายความว่า ถ้าความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่ดีขึ้นในช่วง 1-3 เดือนจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในปี 2541 หรือต่ำสุดในรอบ 24 ปี

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2565 นี้ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 8 เดือน สัญญาณความเชื่อมั่นไม่ค่อยดี และยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งความเชื่อมั่นที่ลดลงนี้มีผลจากปัญหาค่าครองชีพเป็นหลัก และราคาน้ำมัน ตลอดจนราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจยังไม่มีภาพของการฟื้นตัว และเมื่อมองไปในอนาคต ผู้บริโภคมองว่าเศรษฐกิจจะยังซึมตัวต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ถูกบั่นทอนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และถูกเจือด้วยสถานการณ์โอมิครอน แต่สถานการณ์โอมิครอนจะเริ่มคลายตัวตั้งแต่พฤษภาคม 2565 เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อจะเริ่มลดลง แต่สถานการณ์จากค่าครองชีพจะเริ่มสูงขึ้น จากราคาน้ำมันแพง เพดานราคาน้ำมันอยู่ที่ 35 บาท/ลิตร แต่ทั้งนี้ โอกาสที่จะเจอราคาน้ำมันจากลิตรละ 32 บาท เป็น 35 บาท ส่วนราคาเบนซิน แก๊สโซฮอล์ที่ระดับ 40 บาท/ลิตร จะเป็นตัวบั่นทอนความรู้สึกของผู้บริโภค ซึ่งจะเริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และการทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า

สำหรับปัจจัยลบที่กระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่น ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูงราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ขณะที่ปัจจัยบวกที่กระทบ ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยยกเลิก Test&Go ปรับมาใช้การลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass ซึ่งจะเป็นผลเชิงบวกต่อการท่องเที่ยวของไทย การฉีดวัคซีนของทั่วโลกทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและคลายความวิตกกังวล รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

การส่งออก-นำเข้าของไทยเดือน มี.ค. 65 ขยายตัวต่อเนื่อง ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า หอการค้าไทย สนับสนุนให้รัฐบาลดูแลราคาพลังงาน และค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งการที่รัฐบาลเลือกตรึงราคาดีเซลไว้อีกสัปดาห์ เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน เพราะราคาน้ำมันโลกตอนนี้เป็น sideway และอาจเป็น sideway down เพราะคนกังวลการล็อกดาวน์ของจีน และการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งจะกดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

นอกจากนี้ มองว่าการที่ราคาน้ำมันยังนิ่งตอนนี้ เป็นเพราะจีนล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง และมาจากการที่สหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและตลาดหุ้นทั่วโลกซึมตัว มีผลให้ในอนาคตกำลังซื้อของประชาชนชะลอตัว ความมั่งคั่งลดน้อยลง คนจับจ่ายน้อยลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในด้านการส่งออกที่เสี่ยงจะเติบโตได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

“ม.หอการค้าไทย สนับสนุนให้มีคนละครึ่ง เฟส 5 ในเดือน มิ.ย. ถ้าสามารถทำได้ เพื่อจะทำให้มีกำลังซื้อ อย่างน้อยถ้ารัฐให้คนละ 1,000 บาท ก็จะมีกำลังซื้อเกิดขึ้นฝั่งละ 30,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะช่วยพยุงสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูง และเศรษฐกิจที่นิ่ง ๆ ซึม ๆ รวมทั้งหากให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในเดือน ก.ค. เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจกลางคืนกลับมาเปิดได้ปกติ รวม ๆ แล้วน่าจะมีเม็ดเงินสะพัดได้เป็นแสนล้านบาทต่อเดือน มีจ้างงานได้อีกเป็นล้านคน ใน supply chain ของธุรกิจกลางคืนทั่วประเทศ”

การใช้มาตรการของภาครัฐเข้ามาช่วยพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจ เช่น การขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล การดำเนินโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ในช่วงเดือน มิ.ย. การรณรงค์ให้คนไทยเที่ยวภายในประเทศ ในขณะที่กำลังซื้อจากต่างประเทศยังไม่เข้ามาเต็มที่ รวมทั้งเปิดให้กลุ่มธุรกิจกลางคืนกลับมาเปิดได้ปกติ จะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาในระบบราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียง 3.5% แต่หากไม่มีการพยุงราคาน้ำมัน ก็จะทำให้กำลังซื้อหายไปอย่างรวดเร็วภายใน 1 เดือน และทำให้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตต่ำกว่า 3%

“ถ้าภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลถูกผลักขึ้นไป 3 บาทต่อลิตร จะทำให้ราคาน้ำมันใกล้ระดับ 38-40 บาท ซึ่งเราหนุนให้ขยายเวลาลดภาษีอีก 1 เดือน ที่เป็นรอยต่อก่อนที่โครงการคนละครึ่งเฟส 5 จะออกมา เพราะราคาน้ำมันที่ถูกยันไว้ที่ 35 บาทต่อลิตร ถ้าทำได้เศรษฐกิจไทยพร้อมโต 3-3.5% เพราะช่วยเติมกำลังซื้อ แต่ถ้าไม่ต่อ กำลังซื้อจะหายไปอย่างรวดเร็วภายใน 1 เดือน เพราะน้ำมันแพงขึ้นทันที 3 บาท/ลิตร ถ้าลดภาษีลงได้ 1.50-3 บาท/ลิตร จะช่วยดูแลเศรษฐกิจระยะสั้นได้ระดับหนึ่ง”