กยท.เผย Q2 โอกาสทองส่งออกยางไทย EV หนุนดีมานด์โต ราคาพุ่ง

กยท.เผยไตรมาส 2 โอกาสทองส่งออกยางไทย ดีมานด์รถยนต์ EV โต หนุนราคาพุ่ง ลั่นไทยยังสามารถส่งออกยางไปจีนได้ถึง 53-54% ยังจับตาวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน อาจกระทบต้นทุนภาคผลิตที่สูงขึ้น

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยภายในงาน Talk About Rubber ว่า สถานการณ์ยางพารา ในไตรมาสที่ 2/2565 คาดว่าปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติอยู่ที่ 7.63 แสนตัน หรือลดลง 14.37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยคาดว่าในเดือนพฤษภาคม 2565 ผลผลิตจะมีปริมาณอยู่ที่ 2.09 แสนตัน และเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 3.93 แสนตัน ส่วนปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติ ในไตรมาสที่ 2/2565 คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 9.94 แสนตัน ลดลง 6.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเดือนพฤษภาคม 2565 คาดว่าการส่งออกอยู่ที่ 3.32 แสนตัน และเดือนมิถุนายน คาดว่าอยู่ที่ 3.14 แสนตัน

อย่างไรก็ดีตัวชี้วัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยาง และเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางทั้งสหรัฐอเมริกา EU ญี่ปุ่น ยังคงขยายตัว เช่นเดียวกับดัชนี PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ GDP ประเทศสหรัฐอเมริกา EU ญี่ปุ่น ยังคงขยายตัวอยู่เหนือระดับ 50 อยู่ที่ 59.20 55.50 และ 53.50 ตามลำดับ ส่งผลให้โอกาสของยางพารา ไตรมาส 2/2565 คาดการณ์หากดูจากปริมาณการผลิตรถยนต์รถยนต์ไฟฟ้า EV ที่เพิ่มขึ้น ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2021 อยู่ที่ 6.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 109% จากปีก่อนหน้า

ซึ่งจีนมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 3.2 ล้านคัน ส่วนแบ่งตลาด 15% จากยอดขายรถยนต์ใหม่ในจีน คิดเป็นส่วนแบ่งราวครึ่งหนึ่งของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ทำให้จีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมากในปี 2022 นี้ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้ยางล้อโดยเฉพาะ ดังนั้น ความต้องการใช้ยางเพื่อนำไปผลิตยางล้อจึงเพิ่มสูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังยังคงเป็นเรื่องต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมยางที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่พุ่งขึ้น จากภาวะสงครามรัสเซียกับยูเครน และกรปรับดอกเบี้ยของเฟด สร้างความเสี่ยงต่อภาวะเงินทุนไหลออก และกดดันให้บางประเทศเอเชีย ปรับนโยบายการเงินโดยที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เป็นต้น

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ อาจส่งผลให้ราคาน้ำยางสดในเดือนพฤษภาคม 2565 ใกล้เคียงกับเดือนเมษายน 2565 หรือเคลื่อนไหวอยู่ที่ 62-66 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนในเดือนมิถุนายน อาจปรับลงมาเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกเยอะ แต่คาดว่าราคาจะผันผวนไม่มาก อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง

ทั้งนี้ แนวทางการรับมือกับผลผลิตยางที่จะออกมาหลังจากนี้ แม้โครงการประกันรายได้ยางพารา จะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ กยท. ยังมีแนวทางการดูแล อาทิ การออกสินเชื่อยางแห้ง ให้กับผู้ประกอบการ โครงการสนับสนุนการแปรรูปยาง เพื่อเพิ่มปริมาณการนยางไปใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และโครงการรักษาเสถียรภาพตลาดในการซื้อขายยางพาราล่วงหน้า เพื่อเป็นการดูแลเกษตรกรอีกด้วย

“แม้ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคผลิตที่สูงขึ้น แต่ยังมีข้อดีอยู่บ้าง คือ ไทยยังสามารถส่งออกยางไปจีนได้ถึง 53-54% เพราะจีนยงมีความต้องการยางจากไทยสูงอย่างต่เนื่อง ส่วนเรื่องการลักลอบนำเข้ายางจากประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้ในส่วนของผู้ผิตของไทยยังไม่พบการนำยางจากเพื่อนบ้านมาใช้ เพราะส่วนใหญ่เป็นยางที่ไม่มีมาตรฐาน แต่ถ้ามีการนำมาใช้จะส่งผลกระทบต่อราคายางพาราในประเทศแน่นอน” นายณกรณ์ กล่าว

สำหรับเป้าหมายปี 2565 กยท. ยังคงมีแผนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่องคาร์บอน เครดิต โดยในเบื้องต้น กยท. จะเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการคาร์บอนในพื้นที่สวนยางพารา ส่วนในปี 2569 เดินหน้าเข้าสู่มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (ซีบีเอเอ็ม) ตั้งเป้าให้พื้นที่สวนยางพาราได้รับการขึ้นทะเบียน 1 ล้านไร่ ปี 2573 เข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 20-25%

พื้นที่สวนยาง 10 ล้านไร่ 50% ของสวนยางที่ขึ้นทะเบียน กยท. และในปี 2593 เข้าสู่มาตรการ Cabon Neutrality พื้นที่สวนยาง 20 ล้านไร่ 100% ของสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทั้งนี้ เมื่อแผนดังกล่าวสำเร็จจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายคาร์บอน เครดิต และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคตได้อีกด้วย

ทั้งนี้ การที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ กยท. ไม่ได้ดำเนินการหน่วยงานเดียว โดยในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ กทย. กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องการทำคาร์บอน เครดิต เนื่องจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีประสบการณ์เรื่อดังกล่าวมาแล้ว

และ กยท. ได้ตั้งเป้าหมายจัดการสวนยางที่ลดการปลดปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ รวมถึงเพิ่มการจัดเก็บคาร์บอน เครดิต โดยใช้เทคโลยีในเรื่องของการจัดกับมาเป็นตัวดำเนินการ ทั้งนี้ เมื่อแผนขับเคลื่อนเข้าสู่ระยะกลาง กทย. ได้ตั้งเป้าหมายจัดเก็บคาร์บอนในสวนยางอยู่ที่ 0.95 ตันต่อไร่ต่อปี” นายณกรณ์ กล่าว