กรมการค้าภายในรับมือมังคุดทะลัก 3.7 แสนตัน กางแผน 18 มาตรการกู้ราคา

มังคุด

กรมการค้าภายในกางแผน 18 มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ดันราคามังคุดทะลักออกสู่ตลาด 3.7 แสนตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีข่าวราคามังคุดปรับตัวลดลงว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์การผลิตการตลาดผลไม้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแหล่งผลิต ตลาดค้าส่ง-ค้าปลีก ปัจจุบันเป็นช่วงฤดูการผลิตผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของประเทศออกสู่ตลาด เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ เป็นต้น

โดยผลไม้ของภาคตะวันออก (จันทบุรี ระยอง และตราด) ได้เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เป็นต้นมา แต่ปริมาณยังไม่มากนัก และจะออกกระจุกตัวมากในช่วงเดือนพฤษภาคม ประมาณร้อยละ 50 ของผลผลิต

อุดม ศรีสมทรง
อุดม ศรีสมทรง

สำหรับผลผลิตมังคุดทั้งประเทศ ปี 2565 กระทรวงเกษตรฯคาดว่ามีปริมาณรวม 373,378 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 38 เนื่องจากปีที่ผ่านมาผลผลิตได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศแปรปรวนและคุณภาพไม่ดี ทำให้มังคุดได้พักต้น ต้นมังคุดมีความสมบูรณ์จึงให้ผลผลิตในปีนี้มากขึ้น แต่จากการติดตามสถานการณ์การผลิตมังคุดในภาคใต้ที่ประสบปัญหาสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย คาดว่าผลผลิตในภาพรวมปีนี้มีแนวโน้มจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม จากปริมาณมังคุดที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดได้มีมากขึ้น ประกอบกับการใช้มาตรการ ZERO COVID ของจีน ทำให้จีนมีการปิดด่านโมฮานชั่วคราวในวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 เพื่อทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ ส่งผลให้มีสินค้าส่งออกตกค้างที่หน้าด่านเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ส่งออกไทย/ล้ง หยุดรับซื้อชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดพื้นที่และคัดกรองสุขภาพของแรงงานที่จะปฏิบัติงานในโรงคัดบรรจุ 1-2 วัน ซึ่งตรงกับช่วงที่ราคามังคุดอ่อนตัวลงตามข่าว

ปัจจุบัน (11 พ.ค. 65) ผู้ส่งออก/ล้ง ได้เปิดรับซื้อตามปกติแล้ว มีผลทำให้ราคามังคุดผิวมันรวม (เกรดส่งออก) ที่เกษตรกรขายได้ ปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (2-8 พ.ค. 65) ที่มีราคาเฉลี่ย กก.ละ 50-55 บาท เป็นเฉลี่ย กก.ละ 60-70 บาท สำหรับราคาประมูล เฉลี่ย กก.ละ 80-85 บาท ส่วนราคามังคุดคละ (กาก) ปรับตัวสูงจาก กก. 30-35 บาท เป็น กก.ละ 40-45 บาท

สำหรับกรณีการเทียบเคียงราคามังคุดตามข่าว ที่เทียบเคียงราคาขายในตลาดปลายทางประเทศจีนกับราคาที่เกษตรกรขายได้ในช่วงเดียวกันนั้น ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในกระบวนการรับซื้อผลไม้เพื่อการส่งออกไปยังตลาดปลายทาง เนื่องจากการส่งออกต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งจากไทยไปจีนหลายวัน เช่น การขนส่งทางบก ใช้เวลา 7-10 วัน

หากจะเทียบเคียงความเหมาะสมของราคาส่งออกกับราคาเกษตรกรขายได้ ต้องพิจารณาจากราคาปัจจุบันในจีน เทียบกับราคาที่เกษตรกรขายได้หน้าสวนนับย้อนหลังอย่างน้อยประมาณ 12-14 วัน (วันที่รับซื้อรวมเวลาคัดแยก/บรรจุ และระยะเวลาขนส่ง) เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์นี้แล้วจะพบว่า ราคามังคุดตามข่าวในประเทศจีนที่มีราคาสูงมากถึง กก.ละ 167-240 บาท จะสอดคล้องกับราคามังคุดที่เกษตรกรขายได้ (ย้อนหลัง 12-14 วัน) ที่ราคา กก.ละ 140-160 บาท

“กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในและภาคีเครือข่ายได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ฤดูการผลิตปี 2565 ซึ่งรวมถึงมังคุด ไว้รองรับเป็นการล่วงหน้ากว่า 18 มาตรการ และได้นำมาตรการลงสู่การปฏิบัติแล้ว”

โดยมีผลการดำเนินการในส่วนของสินค้ามังคุดที่สำคัญ ดังนี้

  1. จับคู่เจรจาซื้อขายล่วงหน้า (อมก๋อยโมเดล) รวม 4,700 ตัน
  2. สนับสนุนค่าบริหารจัดการในการเชื่อมโยงกระจายออกนอกแหล่งผลิต กก.ละ 3 บาท ปริมาณ 7,800 ตัน
  3. เปิดพื้นที่ขายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ณ ห้างท้องถิ่น ห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ปั๊มน้ำมัน รวม 1,000 ตัน
  4. จัดสรรกล่องไปรษณีย์ ขนาด 10 กก. ไปยังไปรษณีย์สาขาทั่วประเทศ รวม 300,000 กล่อง
  5. กรณีผลผลิตกระจุกตัว ได้จัดเตรียมรถเร่ Mobile เข้าไปเร่งรับซื้อผลผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคนอกพื้นที่โดยตรง
  6. เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเพื่อเร่งรับซื้อผลิตได้มากขึ้น โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการ กก.ละ 4 บาท
  7. ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อรวบรวมรับซื้อผลไม้ ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

ทั้งนี้ กรมจะได้ติดตามสถานการณ์ราคาผลไม้ทุกชนิดอย่างใกล้ชิด และเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุปิดป้ายแสดงราคารับซื้อให้ชัดเจน ป้องปรามมิให้เกิดพฤติกรรมการโกงตาชั่งน้ำหนักในขั้นตอนการรับซื้อ และพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบทางการค้า โดยเฉพาะการฮั้วราคา หากตรวจพบการกระทำความผิด จะดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่สายด่าน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด