ล้งรวมหัวไล่ทุบราคามังคุด ชาวสวนน้ำตาตกเหลือแค่ 3 กิโล 100

มังคุด

ราคามังคุดต้นฤดูดิ่ง 3 กิโลกรัม 100 บาท ล้งจีน 5 รายใหญ่ฮั้วกดราคารับซื้อ วันเดียวราคาปรับลง 3 รอบ จากต้นฤดูราคา 150-155 บาท/กก. ไม่กี่วันรูดลงเหลือ 35-40 บาท ชาวสวนกระอักขายได้ไม่คุ้มค่าปุ๋ย ค่าแรงงาน แต่ตลาดจีนราคาดี วอนภาครัฐแก้ไขเร่งด่วน ก่อนมังคุดอีกกว่า 175,000 ตันทะลักสู่ตลาด กลางเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปกติมังคุดช่วงต้นฤดูของภาคตะวันออก ราคาหน้าสวนจะอยู่ในเกณฑ์สูง โดยช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่มังคุดเริ่มออกสู่ตลาดราคาหน้าสวนจะอยู่ที่ระดับ 150-155 บาท/กก.

แต่ในเวลาเพียงสัปดาห์เดียวหรือต้นเดือนพฤษภาคม ราคาเริ่มตกลงเป็นรายวัน เหลือ 35-40 บาท หรือ 3 กิโลกรัม 100 บาท สวนทางกับราคาปลายทางในประเทศจีนที่ราคาค่อนข้างสูง สาเหตุหลักคาดว่าอาจจะเกิดจากแผงและล้งกดราคารับซื้อ สะท้อนจากบางวันภายในวันเดียวราคาปรับขึ้นลง 3 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาตัวแทนภาคเกษตรกรได้ยื่นหนังสือขอให้ภาครัฐหาทางช่วยเหลือด่วน

จี้รัฐช่วยพยุงราคามังคุด

นายพิพัฒน์ อินทรเจริญ ประธานวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมา ภาพรวมของมังคุดเริ่มทยอยออกตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ราคาประมูลสูงสุด กก.ละ 205 บาท และปรับลงต่อเนื่องมาตามปริมาณมังคุดที่เพิ่มขึ้น จากระดับราคา 150 บาท/กก. (30 เม.ย.) เป็น 129 บาท/กก. (3 พ.ค.) และเหลือเพียง 41 บาท/กก. (7 พ.ค.) และหลังจากนี้ในช่วงปลายเดือน พ.ค.จะมีผลผลิตออกมาอีก 3 เท่า จากช่วงต้นฤดูที่มีผลผลิตออกมาประมาณ 19-20% ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคาลดต่ำลงอีก

“ราคาตกลงมาค่อนข้างเร็ว ดิ่งลงมาวันละ 30-40 บาท เหลือ 41 บาท/กก. สวนทางกับต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นกว่า 100-200% ค่าจ้างแรงงานเก็บราคาสูง กก.ละ 7-10 บาท ทางการควรเข้ามาดูแลและล็อกราคาที่ กก.ละ 55-60 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่ชาวสวนอยู่ได้” นายพิพัฒน์กล่าว

ล้งจีนรายใหญ่ฮั้วกดราคาซื้อ

นายสัญชัย โกสัลส์วัฒนา นายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย กล่าวว่า จังหวัดจันทบุรีรู้ว่าราคานี้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ ทุกวันล้งจะแจ้งราคารับซื้อช่วง 14.00-15.00 น. และราคาจะมีการเปลี่ยนแปลง เช้า-สาย-บ่าย-เย็น ทุกวันนี้ราคาขึ้นอยู่กับล้งที่เป็นบริษัทใหญ่ของจีน 3-4 บริษัท

นายภานุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด เปิดเผยว่า สาเหตุที่ มังคุดราคาตกต่ำ ส่วนหนึ่งเกิดจากล้งยังเปิดน้อย แต่ปริมาณมังคุดออกมาเป็นจำนวนมาก ราคามังคุดทุกวันนี้บริษัทใหญ่ไม่กี่บริษัทเป็นผู้กำหนดราคา ล้งเล็ก ๆ จะซื้อตามราคาบริษัทใหญ่ โดยจะทราบราคาช่วงหลัง 12.00 น.ของแต่ละวัน

ล้งเปิดน้อย-ขาดแรงงาน

นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สน.วิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) เปิดเผยว่า สถานการณ์มังคุดราคาตกต่ำ เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. สาเหตุมาจาก ล้งรับซื้อมังคุดยังเปิดน้อยแต่มังคุดออกมาก และผลผลิตกระจุกตัว ล้งจึงรับซื้อได้น้อย เนื่องจากล้งเตรียมคนงานไม่พอ ทั้งคนบรรจุ คนรับซื้อ ต้องหยุดซื้อหรือซื้อได้น้อย ทำให้ราคาต่ำลง ล้งมังคุด มีรายใหญ่ 4-5 บริษัท ต่างจากล้งทุเรียนที่มี 300-400 ล้ง

“ล้งมังคุด จันทบุรี ตราด ระยอง มี 200 กว่าแห่ง ตอนนี้ล้งเริ่มเปิดรับซื้อแล้ว มังคุดรุ่น 1 เริ่มหมดรุ่น ราคาจะดีดขึ้น 50-60 บาท แต่ในช่วงพีกจริง ๆ รุ่น 2 ผลผลิตออกมาก แต่ผู้รับซื้อมีน้อย ปัญหาจะหนักกว่ารุ่น 1 การกระจายผลผลิตต้องมีหลาย ๆ หน่วยงานเข้ามาช่วยกัน ซึ่งปริมาณมังคุดที่ส่งออกไปจีนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม มี 9,760 ตัน ยังเหลือมังคุดอีกเป็น 100,000 ตัน” นายชลธีกล่าว

นายมณฑล ปริวัฒน์ ผู้จัดการ บริษัท อรษาฟรุ๊ต จำกัด เจ้าของล้งอรษา กล่าวว่า ช่วงปลายเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม ปริมาณมังคุดเริ่มออกมามาก แต่เนื่องจากการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมีไม่เพียงพอ และมีความเข้มงวดเรื่องโควิด ทำให้การบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ล่าช้า และต้องหยุดรับซื้อ รวมถึงด่านทางบกของจีนปิด ๆ เปิด ๆ ไม่แน่นอน ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และคาดว่าหลังจากวันที่ 10 พ.ค.เป็นต้นไป จะมีผลผลิตออกมาอีกเป็นจำนวนมาก จึงต้องเร่งแก้ปัญหา

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขตที่ 6 ระบุว่า ปี 2565 นี้ คาดว่าจังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง จะมีผลผลิตมังคุดออกมาประมาณ 221,847 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 106,796 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 107% แบ่งเป็นจันทบุรี 155,838 ตัน ตราด 46,052 ตัน และระยอง 19,957 ตัน โดยคาดว่าผลผลิตจำนวน 175,857 ตัน จะออกมากในช่วง พ.ค. 118,383 ตัน หรือ 53% และเดือน มิ.ย. 57,474 ตัน หรือ 25% และปี 2564 ที่ผ่านมา มีการส่งออกมังคุด คิดเป็นมีมูลค่าสูงถึง 17,089.74 ล้านบาท โดยมีตลาดหลักคือ จีนและฮ่องกง