Saudi-Thai Investment Forum ดัน 5 บิ๊กธุรกิจ MOU กระทรวงการลงทุนซาอุ

สนั่น อังอุบลกุล

Saudi-Thai Investment Forum ชูประเด็น 5 ด้านหลัก โอกาสขยายการค้า-ลงทุน ท่องเที่ยว คึกคัก เชื่อมความสัมพันธ์ 2 ภูมิภาค ดัน 5 บิ๊กเอกชน ‘SCG, Gulf, Indorama, Minor Group ดุสิตธานี’ MOU ร่วมกระทรวงการลงทุนซาอุ

วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 กระทรวงการลงทุนซาอุดีอาระเบีย เป็นเจ้าภาพจัดงาน Saudi-Thai Investment Forum กระทรวงการต่างประเทศของไทย ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำคณะผู้แทนภาคเอกชนจากบริษัทชั้นนำของไทยเข้าร่วมงาน เพื่อเชื่อมโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในสาขาธุรกิจเด่น โดยมีบริษัทซาอุดีอาระเบียสนใจเข้าร่วมกิจกรรม Business matching รวมมากกว่า 200 บริษัท รวมแล้วมากกว่า 300 คน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กระทรวงการลงทุนซาอุดีอาระเบีย เป็นเจ้าภาพจัดงาน Saudi-Thai Investment Forum โดยมี Mr.Khalid Abdulaziz Al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนของซาอุดีอาระเบีย ได้เข้าร่วมกล่าวเปิดงาน และยังได้รับเกียรติจาก Prince Faisal bin Farhan Al Saud รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ มาร่วมต้อนรับคณะจากประเทศไทย ที่นำโดย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

ทั้งนี้ การเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ แสดงถึงความตั้งใจของทั้งสองฝ่ายที่จะต่อยอดและผสานความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้นจากภาครัฐสู่ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โดยทางกระทรวงการลงทุนของซาอุฯ ก็มีแผนที่จะไปเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในไตรมาส 3 นี้

นอกจากนั้น ภายในงานได้มีการทำ MOU ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (Board of Trade of Thailand) และสภาหอการค้าซาอุดีอาระเบีย (Federation of Saudi Chambers)

ซึ่งมีประเด็น 5 ด้านหลัก ๆ ร่วมกัน ดังนี้

1. เสนอให้สนับสนุนการจัดตั้ง Thai-Saudi Business Forum ระหว่างนักธุรกิจทั้งสองประเทศ

2. การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า และการประชาสัมพันธ์สินค้า  เสนอให้หน่วยงานภาครัฐทั้งสอง สนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่อีกฝ่ายจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมการค้าและความร่วมมือระหว่างกัน อีกทั้งยังเป็นการเสริมการรับรู้ในตัวสินค้าของทั้งสองประเทศให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยสภาหอฯ ได้เชิญชวนภาคเอกชนซาอุฯ เข้าร่วมงาน ThaiFex ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24-28 พ.ค. นี้ด้วย

3. การให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งภาครัฐของทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการขยายมูลค่าการลงทุนของภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายในอนาคต

4. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าการอำนวยความสะดวกสำหรับนักธุรกิจจะช่วยดึงดูดความสนใจให้ไทยและซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนลำดับต้น ๆ ของนักธุรกิจของทั้งสองประเทศ

5. เสนอให้เร่งรัดการจัดทำความความตกลง FTA ระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบีย เพื่อเป็นการกระตุ้นการค้าระหว่างกันให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นในระยะยาว ทั้งสองประเทศควรเปิดการเจรจาความตกลง FTA ระหว่างกันโดยเร็ว

พร้อมกันนี้ ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU ของกระทรวงการลงทุน กับบริษัทเอกชน ทั้ง SCG, Gulf, Indorama, Minor Group และดุสิตธานี อีกด้วย

สำหรับผลการ Business Matching โดยภาพรวมได้มีการหารือถึงโอกาสต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียมีการขยายตัวได้ดีมาก โดยไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา มี GDP เติบโตสูงถึง 9.6%

ด้านอาหารและผลไม้ ที่ทาง ซาอุดีอาระเบียสนใจมาก ๆ มีโอกาสที่จะนำทุเรียน ส่งออกมาพื้นที่นี้

ด้านวัสดุก่อสร้างก็มีโอกาส สอดคล้องกับทางซาอุฯ ที่มีแผนการขยายเมือง

ส่วนกลุ่มยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็มีความสนใจ ที่จะไปดูโรงงานที่ประเทศไทย

การท่องเที่ยวก็ได้รับความสนใจที่จะ Connect กับประเทศไทย ซึ่งซาอุดีอาระเบียได้ตั้งเป้าที่ท้าทายมาก โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน จะเพิ่มให้ถึง 100 ล้านคน ในปี 2030 ดังนั้น ซาอุดีอาระเบียจึงต้องการเชื่อมและแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศไทย ซึ่งรวมถึงกลุ่มโรงพยาบาล Medical และ Welness ของประเทศไทย โดยสนใจที่จะเดินทางไปประเทศไทยเพื่อไปใช้บริการและเรียนรู้ระหว่างกัน

สำหรับเรื่องปุ๋ย ที่วันแรกได้มีการเกริ่นกับ รมว.ต่างประเทศ นั้น วันนี้ ทางท่านดอนได้กล่าวกับทาง รมว.ต่างประเทศ Prince Faisal bin Farhan Al Saud  เช่นกัน โดยได้ย้ำเป็นเรื่องแรกที่หารือกัน ซึ่งส่วนนี้เชื่อว่า จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยให้กับเกษตรกรได้ เป็นการ secure source of supply ทำให้ลดความเสี่ยงที่พึ่งพาปุ๋ยจากไม่กี่แหล่งเท่านั้น

ความสำเร็จจากเดินทางมาครั้งนี้ คงสามารถต่อยอดได้อีกเยอะมาก ซึ่งภาคเอกชนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เกินความคาดหวังและประทับใจมาก ๆ หลังจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่าย มีความกระตือรือล้นและมีความจริงใจ ตั้งใจที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

สำหรับกลุ่มธุรกิจเด่นที่ร่วมในงาน ประกอบด้วย กลุ่มพลังงาน กลุ่มเคมีภัณฑ์ กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มท่องเที่ยวและบริการเพื่อสุขภาพ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มค้าปลีก กลุ่มรถยนต์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น