กบน.ตรึงราคาดีเซล 32 บาท/ลิตร หวั่นน้ำมันแพงยาว กองทุนติดลบแสนล้าน

กบน.ตรึงราคาดีเซล 32 บาท/ลิตร หวั่นน้ำมันแพงยาว

กบน.ตรึงราคาดีเซล 32 บาทต่อลิตรอีก 1 สัปดาห์ถึง 22 พ.ค. หลัง ครม.ต่ออายุลดภาษีเป็น 5 บาท/ลิตร อึ้ง! กองทุนน้ำมันติดลบอยู่ที่ประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท หวั่นสิ้นปีติดลบแสนล้านบาท 

วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ว่า ที่ประชุมมีติเห็นชอบให้คงราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศที่ 32 บาทต่อลิตรไปอีก 1 สัปดาห์ จนถึงวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. 65 โดยยังวางกรอบราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ การปรับลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซล 5 บาทเป็นระยะเวลา 2 เดือน จนถึงวันที่ 20 พ.ค. นั้น จำนวนเงินดังกล่าว กบน. ไม่ได้นำมาใช้ในการปรับลดราคาขายปลีกให้ลดลง แต่ใช้เพื่อประคองราคาขายน้ำมันดีเซลให้อยู่ประมาณ 32-35 บาทต่อลิตร ให้มีระยะเวลายาวนานมากที่สุด

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯติดลบอยู่ที่ประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท  โดยใช้เพื่ออุดหนุนน้ำมันดีเซลประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท

“แนวโน้มราคาน้ำมันไม่น่าจะลดลงเเล้ว ระหว่างเดือนนี้ ราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในกรอบ 115 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้มีโอกาสที่กองทุนจะติดลบแสนล้าน”

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมันดีเชล (Gas Oil) 141.15 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังอยู่ในวิสัยที่จะบริหารจัดการสภาพคล่องได้ เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบในช่วงเวลานี้ให้กับประชาชนไปก่อน

นายกุลิศกล่าวอีกว่า ความคืบหน้าการกู้เงิน 20,000 ล้านบาท ของกองทุนนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการหารือสถาบันการเงิน และกระทรวงการคลังว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขอย่างไร โดยยังมั่นใจว่าจะมีเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องกองทุนภายในเดือน มิ.ย.นี้ ตามแผน

ซึ่งเนื่องจากสถานการณ์ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ในอดีตกองทุนก็เคยติดลบมาแล้ว แต่ต้องยอมนับว่าวิกฤตครั้งนี้มีความยากและท้าทายมากกว่า อีกทั้งกองทุนต้องมีภาระรายจ่ายในการอุดหนุนแอลพีจีมาก่อนหน้านี้ด้วย

“การลดภาษีดีเซลลง 5 บาท/ลิตร แต่ยังไม่มีการลดราคาขายปลีกดีเซล เพราะนำไปเสริมสภาพคล่องกองทุนเพื่อช่วยตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 32 บาท/ลิตรไว้ให้นานที่สุด ซึ่งการลดภาษี 5 บาท/ลิตร เป็นส่วนของเนื้อดีเซล B0 ที่เดิมมีการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตที่ 6.44 บาท/ลิตร และเมื่อลดลง 5 บาท จะเหลือเรียกเก็บภาษี 1.44 บาท/ลิตร

แต่ปัจจุบันประเทศไทยใช้น้ำมันดีเซลแบบผสมที่ 7% หรือ B7 ที่เรียกเก็บภาษีอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร และเมื่อนำภาษีจากเนื้อดีเซลมาผสมจะส่งผลให้มีการลดราคาภาษีเหลืออยู่ที่ 4.65 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้คงเหลือเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตกับน้ำมัน B7 อยู่ที่ 1.34 บาทต่อลิตร”

ดังนั้น การลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลง 5 บาท/ลิตร ช่วยลดภาระการอุดหนุนของกองทุนลง 2.46 บาท/ลิตร เพิ่มเติมจากเดิมที่ลดภาระได้ 79 สตางค์/ลิตร เหลือ 7.25 บาท/ลิตร จากขณะนี้อุดหนุนดีเซลอยู่ที่ 9.41 บาท/ลิตร จากสัปดาห์ก่อนอุดหนุนที่ 10.89 บาท/ลิตร ขณะที่ความจำเป็นในการปรับราคาดีเซลขึ้นไปอยู่ที่ 33 บาท/ลิตร อีกนั้นก็ต่อเมื่อกองทุนติดลบถึงระดับ 8 หมื่นล้านบาท หรือสมมติฐานราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนสูงขึ้นไปอีก

“แม้สถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะสิ้นสุดลง แต่จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะมองว่าวิกฤตราคาน้ำมันยังไม่ได้หายไปในทันที ต้องติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิดกันไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยประเมินราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบไม่เกิน 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาดีเซลตลาดโลกไม่เกิน 140-145 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล” นายกุลิศกล่าว