“สุพัฒนพงษ์” ตอบทุกคำถาม ปมน้ำมัน-ค่าไฟแพง มาตรการชุดใหม่

“สุพัฒนพงษ์” ยอมรับ ปรับลด “ค่าการกลั่น” ละเอียดอ่อน หวั่นขัดกฎหมายการค้าเสรี เดินหน้าหารือคลัง แก้โจทย์ประคองราคาน้ำมันไม่ดันเงินเฟ้อฉับพลัน คาดออกมาตรการชุดใหม่ ก.ค. 65 ยันอุ้มกลุ่มเปราะบางผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือนถึงสิ้นปี

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานกิจกรรม Kick off เปิดตัวการใช้งาน Sensor for All จัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น หรือลดค่าการกลั่นน้ำมันลง

โดยยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะลดได้กี่บาท และจะมีผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันหน้าปั๊มลดลงหรือไม่ อย่างไร ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเกณฑ์ราคาที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ เป็นธรรมต่อประชาชนและผู้ประกอบการ

“ที่ผ่านมาเรื่องค่าการกลั่นเป็นระบบการค้าเสรี หากจะไปทำอะไร ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องหารือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยกันศึกษาพิจารณาทุกแง่มุมของกฎหมายอย่างรอบคอบ ผสมกับการขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งหมด เพราะลำพังอำนาจของกระทรวงพลังงานก็ทำได้ระดับหนึ่ง จะไปบังคับอย่างเดียวอาจขัดกฎการค้าเสรีได้

ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว แต่ไม่เคยกินระยะเวลายาวนานขนาดนี้มาก่อน ซึ่งโรงกลั่นเองก็ต้องใช้เวลาทำใจและวางแผนไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจด้วย” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ถกคลังแบบปิง-วัง-ยม-น่าน

“กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ ต้องคุยกันเหมือนแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เพื่อพิจารณาว่ามาตรการจริง ๆ จะไปทางไหนได้บ้าง โดยเฉพาะการประคับประคองราคาน้ำมันไม่ให้สร้างปัญหาเงินเฟ้อแบบฉับพลัน ควบคู่กับการดูมิติสถานะการเงินและการคลังของประเทศให้แข็งแรง มีความพร้อมรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้นด้วย

กัดฟันตรึงดีเซล 35 บาท

โดยมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลครึ่งหนึ่งของราคาที่ปรับขึ้น แต่ต้องปรับขึ้นไม่เกินเพดาน 35 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 ถึงสิ้นเดือน มิ.ย.ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้หารือกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เพื่อติดตามสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันมากแค่ไหน

รวมทั้งประเมินกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่าจะมีเงินเข้ามาดูแลราคาน้ำมันได้แค่ไหน ส่วนจะมีการขยายเพดานตรึงราคาดีเซลไปที่ 37 บาท/ลิตรหรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุปต้องนำผลการศึกษาเรื่องค่าการกลั่นมาประกอบการพิจารณาด้วย

เตรียมคลอดมาตรการชุดใหม่ ก.ค.นี้

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า หากกระทรวงพลังงานมีนโยบายตรึงราคาน้ำมันต่อ แต่กระทรวงการคลังไม่พร้อมที่จะดูแลก็ไม่สามารถดำเนินมาตรการต่อได้ แต่มั่นใจว่าต้นเดือน ก.ค.นี้จะมีมาตรการใหม่ออกมาดูแลราคาเชื้อเพลิงแน่นอน ขณะที่ราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ขณะนี้ราคาใกล้ Break Even แล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กองทุนยังมีเงินฝากในระบบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และเงิน long term ที่เลื่อนชำระผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ออกไปมาหมุนเวียนใช้เป็นสภาพคล่องดูแลราคาพลังงานไปก่อน

โดยสถานะของกองทุนที่ปัจจุบันติดลบ 86,028 ล้านบาท จะกลับมาปกติได้ก็ต่อเมื่อราคาน้ำมันปรับลดลง และกองทุนจะมีเงินจากน้ำมันส่งเข้ากองทุน ตามเดิมอีกส่วนหนึ่งจะมาจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน แต่จะเป็นเมื่อไหร่ อย่างไรขอเวลาพิจารณาหารือร่วมกันก่อน

ช่วยค่าไฟ กลุ่มเปราะบางยาวถึงสิ้นปี

ในส่วนของค่าไฟฟ้ารัฐบาลยืนยันว่าจะยังคงดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือนไปจนถึงสิ้นปีในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 แน่นอน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวที่จ่ายค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากการลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ 0.2338 บาท/หน่วย

“ขณะนี้กำลังดูว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ หากจะมีการปรับขึ้นค่าเอฟทีแล้ว จะไม่ปรับขึ้นอีก เพื่อดูแลประชาชนในทุกกรณี โดยเฉพาะดูแลสภาพคล่องของ กฟผ. ให้สามารถมาดูแลราคาค่าไฟได้อย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่ง กฟผ.ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ สามารถขอกรอบวงเงินกู้ ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รัฐวิสาหกิจ เพิ่มเติมได้” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว


รายงานระบุว่า ปัจจุบัน กฟผ.ได้แบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงค่าก๊าซธรรมชาติที่นำมาผลิตไฟฟ้า แทนผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2564 จนถึงปัจจุบันมีภาระหนี้อยู่ประมาณ 80,193 ล้านบาท ซึ่งหากมีการอนุมัติให้กู้เงินจาก พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ ตามมติเดิมนั้นจะมีการอนุมัติกู้ 25,000 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นจะต้องขยับวงเงินขึ้น และปัจจุบันอยู่ภายใต้การหารือร่วมกัน