ต้นทุนพุ่ง “เอสเอ็มอี” ขั้นโคม่า ชงรัฐจัดจ้างแก้หนี้-เติมทุนหนุนนวัตกรรม

SME

วิกฤตเงินเฟ้อ-ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งทุบซ้ำวิกฤตโควิดลากมา 2 ปี เอสเอ็มอีหนี้ท่วมนับล้านราย พับกิจการเปลี่ยนอาชีพ สมาพันธ์ ชง 4 ข้อเสนอวอนรัฐช่วย เร่งแก้หนี้ เพิ่มทุน สร้างนวัตกรรม ปรับกฎหมาย ฟื้นโครงการจัดจ้างภาครัฐอัพไซซ์ซื้อสินค้ารายย่อยเพิ่มจาก 30% เป็น 50%

นายแสงชัย ธีรกุลวานิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากปัญหาวิกฤตโควิดสะสมต่อเนื่องมาตลอด 2 ปี ซึ่งเพิ่งเริ่มคลี่คลาย แต่ก็มาได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซียที่ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตทั้งราคาพลังงาน ปุ๋ย อาหารสัตว์ เหล็ก ปรับราคาสูงขึ้นอีก ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสบปัญหาสภาพคล่อง เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และรายที่เหลืออยู่ต้องเผชิญภาระต้นทุนเพิ่มไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันจำนวนเอสเอ็มอีไทยในระบบตามข้อมูลของ สสว. มีจำนวน 3.1-3.2 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคล 700,000 รายที่เหลือเป็นบุคคลธรรมดา วิสาหกิจชุมชนอยู่ประมาณ 90,000 ราย เอสเอ็มอีอิสระอีก 7 ล้านราย และเอสเอ็มอีที่อยู่ตามมาตรา 40 ประกันสังคม อีกนับจำนวน 10 ล้านคน

SME

“หลังจากผ่านโควิดมา 2 ปี ตอนนี้จะเรียกว่ามีเอสเอ็มอีที่ต้องพับกิจการไปชั่วคราว เปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนธุรกิจ ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดในกลุ่มของเอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดา เช่น พ่อค้าแม่ค้าขายอาหาร ผู้ให้บริการในธุรกิจบริการ เช่น สปา หรือที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ที่ตอนนี้หลายรายไม่สามารถทนภาวะต้นทุนที่เพิ่มจากวิกฤตเรื่องพลังงานและวัตถุดิบอาหาร อีกทั้งล่าสุดเงินเฟ้อสูงขึ้น 7.1% กระทบต่อค่าครองชีพอีกเราเข้าใจว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการกระทบนับล้านราย เช่น ธุรกิจร้านอาหารวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นกระทบต้นทุน 20% ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า วันนี้ธุรกิจส่วนที่เป็นฟู้ดดีลิเวอรี่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 30% ถ้าเอาตัวเลขนี้มาบวกกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 20% รวมแล้วต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 50% ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถจะตรึงราคาได้แต่หากจะไปขึ้นราคาก็จะกระทบผู้บริโภคอีกเพราะผู้บริโภคก็กำลังซื้อลดลง รายได้น้อยลง ถ้าไม่ปรับเลยผลกำไรก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้น วันนี้ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา”

นายแสงชัยกล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจเอสเอ็มอีในครึ่งปีหลัง สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ ปัญหาเรื่องการแก้หนี้ ทั้งกลุ่มหนี้เสีย และปัญหาหนี้นอกระบบจากสภาพที่เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบมา 2 ปีเต็ม 2 ปีที่เกิดภาวะชะงักงัน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีภาคบริการ ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ของประเทศไทย รองลงมาก็จะเป็นภาคการค้า ภาคการผลิต และภาคการเกษตรปัญหาก็คือจะแก้หนี้อย่างไร เพื่อที่จะรองรับมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

นายแสงชัยกล่าวว่า ข้อเสนอที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 4 ด้านหลัก คือ 1) การแก้ปัญหาหนี้ 2) การเพิ่มทุน 3) การส่งเสริมด้านนวัตกรรม และ 4) การปรับปรุงกฎหมายสร้างแต้มต่อให้เอสเอ็มอี และแก้ระเบียบในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อให้ซื้อสินค้าเอสเอ็มอีมากขึ้น

ล่าสุดทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีได้ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินทั้งธนาคารออมสิน และเอสเอ็มอีแบงก์ ในการสร้างที่ปรึกษาทางการเงินในการแก้หนี้ และร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินการให้ความรู้ด้านการเงิน (financial literacy) ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อให้เขาแก้หนี้อย่างเป็นระบบและสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ตามปกติ

“วันนี้อัตราส่วนของผู้ที่ได้รับสินเชื่อมีอยู่เพียงไม่ถึง 30% ของจำนวนผู้ขอรับสินเชื่อทั้งหมด แล้วอีก 70% ไปไหน ทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 70% ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในการเป็นพี่เลี้ยงมีระบบให้คำปรึกษา เพื่อให้ใน 3 เดือน หรือ 6 เดือน เขาสามารถกลับมาอยู่ในระบบทางการเงินได้ สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป นี่จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความยั่งยืน นอกจากนี้การสร้างวินัยทางการเงินจะลดปัญหาหนี้นอกระบบและหนี้เสียให้ลดลงด้วย”


“การแก้หนี้เติมทุน การขับเคลื่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าและบริการ เป็นเรื่องสำคัญ ในวันนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยสมาพันธ์ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวง อว. ไม่ว่าจะเป็น NIA สวทช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมของประเทศไทยให้เป็นไปได้ด้วยดี ส่วนเรื่องการแก้ไขกฎหมายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการทำธุรกิจเพื่อให้แต้มต่อ โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ SME-GP ที่มีสัดส่วน 30% ของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ควรนำกลับมาใช้ใหม่ และเพิ่มให้เป็น 50% เพื่อช่วยให้กระจายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมาสร้างรายได้ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เราพบว่าโครงการนี้ในปี 2564 ทำมาได้ดีถึง 40% เกินเป้าหมาย”