
อีอีซี เชื่อมสัมพันธ์ไทย – สวิสเซอร์แลนด์ ผนึก ABB และ Roche ลงนาม MOU สร้างบุคลากรขั้นสูง พัฒนาระบบออโตเมชั่น โซลูชั่นการจ่ายกระแสไฟฟ้า และสถานีชาร์จอีวี ดึงศิริราชฯ ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูงรักษาโรคมะเร็ง หวังคนไทยรักษาโรคแม่นยำ พร้อมก้าวสู่ศูนย์กลางการแพทย์ภูมิภาคเอเชีย
วันที่ 13 มิถุนายน 2565 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ อีอีซี) กล่าวว่า อีอีซี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 2 ฉบับ โดยฉบับแรก เป็นบันทึกข้อตกลงฯ ความร่วมมือกับ บริษัท บริษัท เอบีบี อิเล็คทริฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (ABB Electrification และ ABB Automation) เพื่อจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและการพัฒนาความสามารถ (ABB Academy) เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาทักษะบุคลากรในพื้นที่อีอีซี ในด้านระบบออโตเมชั่น โซลูชั่นการจ่ายกระแสไฟฟ้า และระบบชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
- เปิดอัตราเงินเดือนข้าราชการใหม่ ได้ขึ้นทุกคุณวุฒิ “ปวช.ปริญญาตรี-เอก”
- คลังดึงออมสิน ช่วยแก้หนี้นอกระบบ พร้อมปล่อยกู้ 5 หมื่นบาทต่อราย
- ครม.เคาะขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 10% เริ่มงวดแรกปี 2567
โดยจะมีการจัดสาธิตทักษะใหม่ๆ และฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในพื้นที่อีอีซี อาทิ อีอีซี ซิลิคอน วัลเล่ย์ เทคพาร์ค จังหวัดระยอง (Tech Park), ศูนย์ธุรกิจเอบีบี ระยอง จังหวัดระยอง (ABB RBC) และในพื้นที่ศูนย์นวัตกรรมเอบีบี บางปู จังหวัดสมุทรปราการ (ABB Innovation Center) และได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดบุคลากรทักษะสูงไม่น้อยกว่า 1,000 คน ในระยะเวลา 2 ปี สร้างตำแหน่งงานตรงความต้องการอุตสาหกรรม 4.0 ในพื้นที่อีอีซี
นอกจากนี้ ยังลงนามความร่วมมือกับบริษัท โรช ไทยแลนด์ (Roche) และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันผลักดันการใช้เทคโนโลยีการตรวจทางการแพทย์ขั้นสูง มาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โดยการนำเอาเทคโนโลยีระดับโลกด้านการถอดรหัสพันธุกรรมจากชิ้นเนื้อมะเร็ง มาใช้เพื่อเลือกแผนการรักษามะเร็งได้อย่างแม่นยำและให้ผลการรักษาที่ดี โดยข้อมูลที่ได้จากความร่วมมือนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเชิงนโยบาย เพื่อสนับสนุนให้เทคโนโลยีการตรวจรักษามะเร็งแบบแม่นยำและจำเพาะบุคคลแพร่หลาย และประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้
“ความร่วมมือฯ ในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ และดึงนักลงทุนชั้นนำจากสวิสเซอร์แลนด์ในอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะเกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งความร่วมมือส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งจะสนับสนุนการศึกษา และพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน ที่จะช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาที่แม่นยำ ลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง คนไทยได้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์ชั้นสูง และยกระดับบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างยั่งยืน”
นายเจียนอันเดร-อะ บรุซโซเน กรรมการบริษัท บริษัท เอบีบี อิเล็คทริฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (ABB Electrification) กล่าวว่า ทาง ABB มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งอนาคตมาอย่างต่อเนื่อง โดยการลงนามความร่วมมือฯ ครั้งนี้ ABB มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมกับอีอีซี จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและการพัฒนาความสามารถ สนับสนุนการสร้างทักษะบุคลากรชั้นสูง โดยเฉพาะในด้านระบบออโตเมชั่น โซลูชั่นการจ่ายกระแสไฟฟ้า และระบบชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอีวี ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญของ ABB เพื่อเตรียมบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี พร้อมทั้งขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล 5G ที่เป็นหัวใจสำคัญผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0
ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการแพทย์และสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศไทย ที่ได้ศึกษาวิจัยและให้บริการผู้ป่วยมะเร็งด้วยหลักการแพทย์แม่นยำมากว่า 5 ปี มีการใช้เทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรมรุ่นใหม่กับโรคมะเร็งทั้งจากชิ้นเนื้อและเลือดของผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อให้การวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งที่ถ่ายทอดได้ในครอบครัว และค้นหายีนก่อมะเร็งที่กลายพันธุ์และมียารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า ซึ่งออกฤทธิ์ได้ตรงจุดส่งผลให้การรักษามะเร็งได้ผลดีขึ้น มีผลข้างเคียงลดลงผู้ป่วยมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการประสานองค์ความรู้การวิจัยและการบริการของศิริราช เข้ากับผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกด้านการตรวจยีนแบบครอบคลุมจากชิ้นเนื้อมะเร็งที่เรียกว่า (Comprehensive Genomic Profiling: CGP) และเวชภัณฑ์ในการรักษามะเร็ง โดยการสนับสนุนจากอีอีซี เพื่อผลักดันให้มีการตรวจพันธุกรรมของมะเร็งอย่างกว้างขวาง ผู้ป่วยและสถานพยาบาลต่างๆ สามารถเข้าถึงการตรวจดังกล่าวได้สะดวกขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องส่งไปตรวจยังต่างประเทศและเข้าถึงยามะเร็งรุ่นใหม่ได้มากขึ้น
นายฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าวว่า โรช ไทยแลนด์ ภูมิใจที่ได้นำเทคโนโลยีการตรวจยีนมะเร็งแบบครอบคลุม ที่ได้มาตรฐานระดับโลกมาสู่ประเทศไทย เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าใจความหลากหลายของรูปแบบการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น เรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันกับศิริราชและอีอีซี เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ป่วยมะเร็งได้เข้าถึงนวัตกรรมการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล (Personalized Healthcare)
ได้แก่ การตรวจวินิจฉัยยีนกลายพันธุ์ที่รวดเร็วยิ่งกว่าเดิม และต่อยอดไปสู่ตัวเลือกการรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted therapy) และยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการแพทย์ เพื่อนำมาซึ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการรักษาโรคมะเร็ง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต การศึกษาวิจัยและข้อมูลที่ได้จะมีส่วนช่วยกำหนดทิศทางการดำเนินงานของระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทย ให้พร้อมรองรับความต้องการด้านการรักษาแบบจำเพาะบุคคลของผู้ป่วยในประเทศและนานาชาติ