SMEs ครึ่งปีแรก กระทรวงอุตฯ ช่วย 50 กิจการ ลดต้นทุน 600 ล้านบาท

ขนส่ง โลจิสติกส์ ส่งออก

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ครึ่งปีแรกช่วย SMEs กว่า 50 กิจการ ลดต้นทุนไปแล้ว 600 ล้านบาท ตั้งเป้าให้ได้ถึง 1,200 ล้านบาท ในสิ้นปีนี้

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ. หรือ DIPROM ดีพร้อม) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ขณะเดียวกันยังสั่นคลอนสถานการณ์พลังงานและห่วงโซ่การผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ ค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำในกระบวนการผลิต ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยต้องเผชิญ

ณัฐพล รังสิตพล
ณัฐพล รังสิตพล

ดังนั้น DIPROM จึงต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถก้าวข้ามวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ภายใต้ “โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม” เน้นพัฒนาทักษะผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและพลาสติก ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางพาราและผลิตภัณฑ์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และเกษตรอุตสาหกรรม ให้มีทักษะการบริหารจัดการโลจิสติกส์ภายในองค์กรอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมโยงฐานข้อมูลภายในองค์กร และสามารถใช้นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน

โดยผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ไม่น้อยกว่า 20% ทั้งต้นทุนการถือครองสินค้าคงคลัง (Inventory Holding Cost) ต้นทุนการขนส่งสินค้า (Transportation Cost) และต้นทุนการบริหารจัดการ (Administration Cost)

ซึ่งได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ไปให้คำปรึกษาแนะนำ ปรับปรุงประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์แก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาหรือมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูง เช่น การบริหารจัดการคลังสินค้า การบริหารสินค้าคงคลัง การพยากรณ์ยอดขาย การจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ และการขนส่งสินค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ อาทิ การใช้โปรแกรมจัดเส้นทางขนส่งสินค้า เพื่อลดจำนวนเที่ยวในการจัดส่งสินค้า การใช้โปiแกรมช่วยในการพยากรณ์ยอดขาย เพื่อวางแผนการผลิตและการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบให้มีความแม่นยำขึ้น หรือการนำโปรแกรมการจัดการคลังสินค้า (Warehouse management system) เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการในคลังสินค้า

พบว่าในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2565) ของการดำเนินงานสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการไปแล้ว 50 กิจการ คิดเป็นมูลค่าต้นทุนที่ลดลงกว่า 600 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปี 2565 จะสามารถลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังได้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมจากวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทที่เกิดขึ้น (C-Customization) พร้อมการปฏิรูปการดำเนินงานให้สอดคล้องกับความเป็นปัจจุบัน (R-Reformation) ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้นโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถก้าวข้ามอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจไทย