มหาบูรพาสู้วิกฤตอาหาร ราคาวัตถุดิบ-ค่าขนส่งพุ่ง

มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร

“มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร” ลุยตลาดสุขภาพ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “เนื้อเสาวรสกระป๋อง” รุกส่งออก 100% พร้อมกางแผนรับออร์เดอร์สั้น บริหารต้นทุนรับวิกฤตวัตถุดิบ มั่นใจเติบโตรายได้ปี’65 ขยายตัว 10%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกรรมการ บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเพื่อสุขภาพ ตอบรับกระแสผู้บริโภคที่ให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ล่าสุดเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเนื้อเสาวรสกระป๋อง ทดลองทำตลาดเมื่อปลายปีก่อน สินค้านี้มีจุดเด่นเรื่องการปรับเปลี่ยนส่วนผสมใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล และใส่เม็ดเสาวรสช่วยระบบย่อย โดยในปีนี้จะเร่งขยายการส่งออกไปตลาดเป้าหมายที่สำคัญ ทั้งเอเชีย ยุโรป

“ตอนนี้เทรนด์อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น บริษัทเองปรับแนวทางเพื่อหาช่องทาง และโอกาสทางด้านตลาดในอนาคต เพราะต้องยอมรับว่าคู่แข่งในตลาดสุขภาพมีเยอะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง”

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทมีทั้งข้าวโพดกระป๋อง หน่อไม้กระป๋อง สแน็ก ส่วนใหญ่ส่งออกเป็นหลัก 90% มีทำตลาดในประเทศ 10% ซึ่งบริษัทเพิ่งเริ่มมาทำ 3 ปีช่วงที่มีโควิด เน้นจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทเอง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มร้านอาหาร ภัตตาคาร และผู้บริโภคทั่วไป

“เนื่องด้วยขนาดของบริษัทไม่ได้ใหญ่มาก การใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ของบริษัทเองสามารถควบคุมดูแลค่าใช้จ่ายได้สะดวกและลดต้นทุนได้ ซึ่งในช่วงที่มีปัญหาโควิด-19 การขายสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวก็มีการขยายตัวดีไปด้วย”

ปัจจัยเสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทเพิ่มความระมัดระวังการสั่งซื้อวัตถุดิบและรับคำสั่งซื้อของลูกค้า เนื่องจากสถานการณ์ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน การบริหารจัดการเรื่องวัตถุดิบที่ผ่านมา ช่วยทำให้ไม่มีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสินค้ารับคำสั่งซื้อในปริมาณที่สอดคล้องกับวัตถุดิบ แม้ว่าความต้องการสินค้าจะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม

“ราคาเป็นไปตามกลไก ตอนนี้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 15-20% ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 10-20% และยังมีบรรจุภัณฑ์กระป๋องอีก 80% ขึ้นกับสินค้า ซึ่งต้องมีการปรับราคาจำหน่ายให้สอดคล้องกัน บริษัทก็จะเจรจากับลูกค้าล่วงหน้า แต่เราพบว่าต้นทุนยังไม่นิ่ง และมีการขยับขึ้นลงตลอดเวลา วิธีการรับออร์เดอร์จึงต้องสั้นมาก เพื่อลดความเสี่ยง จากก่อนหน้านี้ที่เราสามารถรับยาว ๆ เพราะลดความเสี่ยงเรื่องออร์เดอร์ และต้องการให้มีการผลิตเต็มกำลังผลิต แต่เวลานี้วัตถุดิบเป็นปัญหาใหญ่จึงต้องเปลี่ยนวิธี”

นอกจากนี้ ในส่วนตลาดโดยรวมต่างก็ต้องปรับราคาสินค้า เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่งที่ปรับขึ้นไปตามทิศทางของราคาพลังงาน เพราะทุกบริษัทเองก็ต้องการให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และเพื่อความอยู่รอดกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็เชื่อว่าทุกธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับตัว ให้สามารถแข่งขันและทำธุรกิจต่อไปได้ โดยยังมองว่าในปี 2565 นี้ ตลาดเริ่มผ่อนคลายมาตรการหลังโควิด-19 เริ่มดีขึ้น ทำให้สามารถจัดกิจกรรมทางการตลาดได้ จึงมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับคู่ค้าซึ่งจะช่วยให้ออร์เดอร์เติบโตขึ้น