ราคาปุ๋ยโลกดิ่ง 300 เหรียญสหรัฐ/ตัน ไทยเจรจาซาอุฯ ขอส่วนลดนำเข้า

ปุ๋ยเคมี

 

ราคาปุ๋ยโลกดิ่ง แม่ปุ๋ยยูเรียร่วง 300 เหรียญสหรัฐต่อตัน เหลือ 700 เหรียญสหรัฐต่อตัน “เอกชน” ไทย 11 ราย เร่งเจรจาปิดดีลปุ๋ยล้านตัน จาก 3 บริษัทซาอุฯ คาดใช้เวลา 1-2 เดือนเดินทางถึงไทย วงการปุ๋ยเผยอุปสรรคต่อรองช่วงราคานำเข้าขาลง ต้องแบกรับความเสี่ยงต้นทุนค่าขนส่งผันผวน หวั่นหลังนำเข้ารัฐให้ปรับขึ้นราคาไม่คุ้มที่ขาดทุนเรื้อรังตั้งแต่ปลายปี’64

แหล่งข่าวจากวงการปุ๋ย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเร็ว ๆ นี้เอกชนไทย 11 รายที่ประสงค์จะซื้อปุ๋ยเตรียมเจรจาข้อสรุปเรื่องราคานำเข้าจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ภายหลังจากรัฐบาล 2 ฝ่ายเห็นชอบในหลักการว่าจะต้องซื้อขายกันในราคามิตรภาพ พร้อมประมาณการณ์ปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 8 แสนตัน แต่อาจเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตัน

“ตอนนี้เอกชนกังวลว่าเจรจาราคาไปแล้วกว่าจะถึงเวลาที่ต้องส่งมอบ 1-2 เดือนราคาตลาดโลกลงจะลดลงไปอีก จากปัจจุบันราคาปุ๋ยในตลาดโลกอยู่ในภาวะขาลง ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ โดยราคาเอฟโอบีแม่ปุ๋ยยูเรีย เมื่อตอนไตรมาส 1 ขึ้นไปถึง 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตอนนี้ลดลงมาเหลือ 700 เหรียญสหรัฐ ทั้งยังมีการประเมินแนวโน้มตลาดปุ๋ยช่วงครึ่งปีหลังว่าจะอยู่ในภาวะสโลว์ดาวน์ รัฐบาลทุ่มงบประมาณสนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ค่าบาทก็อ่อน ทำให้การกำหนดราคาตอนนี้มีความเสี่ยง เราต้องเจรจาว่าทางซาอุฯจะยอมปรับลดราคาให้หรือไม่หากราคาลงไป”

“นอกจากนี้การกำหนดปริมาณการซื้อขายจะแบ่งเจรจาเป็นลอตๆไม่ได้ เพราะหากทุกรายนำเข้ารวมกันน้อยเกินไป หรือน้อยกว่าขนาดบรรทุกของเรือใหญ่ 30,000-40,000 ตัน ก็มีผลต่อราคาปุ๋ยและต้นทุนค่าขนส่งด้วย ตอนนี้จึงยังไม่ได้ข้อสรุปเอกชนต้องแบกรับความเสี่ยงตรงนี้ไว้อย่างไร”

ส่วนราคาจำหน่ายในประเทศหลังจากนำเข้านั้น ตามหลักการกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาตามต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า ซึ่งเอกชนเสนอขอให้กระทรวงพาณิชย์ใช้โครงสร้างราคาที่ถัวเฉลี่ยกัน กล่าวคือเอกชนได้ยื่นขอปรับราคาจากต้นทุนวัตถุดิบมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1 ปี 2565 ซึ่งราคาปุ๋ยขยับขึ้นไปสูงมาก อย่างที่ทราบราคายูเรียทะลุ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน แม้ว่าราคาตลาดโลกตอนนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 700 เหรียญสหรัฐแล้วแต่เอกชนหลายรายประสบภาวะขาดทุน และยังต้องบริหารจัดการสต๊อกซึ่งมีต้นทุนด้านๆต่างอีก

“เราอยากได้วัตถุดิบนำเข้าจากซาอุไม่ได้คิดจะเอาคืนจากการขึ้นราคา เพียงแต่หากรัฐบาลพิจารณาให้ปรับขึ้นราคาแบบเท่าที่อยู่ได้ ก็คงไม่ครอบคลุมกับปัญหาหลายคนขาดทุนมาก่อนหน้านี้จากความช้าที่รัฐบาลเพิ่งจะมาปลดล็อกเรื่องนี้”

“ตอนนี้การบริหารจัดการสต๊อกของแต่ละคนสำคัญมาก หากนำเข้าต้นทุนสูงขึ้น ราคาไม่ได้ปรับตามต้นทุนเฉลี่ย แล้วทางรัฐยังขอความร่วมมือให้นำสินค้าปุ๋ยเข้าร่วมโครงการจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษให้เกษตร และยังมาส่งเสริมปุ๋ยอินทรีย์อีก ใครกล้าที่จะสต๊อกเพราะเสี่ยงต้นทุนดอกเบี้ย แต่ถ้าไม่มีสต๊อกสินค้าไม่มีลูกค้าก็จะหันไปซื้อเจ้าอื่นเสียลูกค้าอีก”

แหล่งข่าวผู้ประกอบการโรงงานปุ๋ยอีกรายหนึ่ง ระบุว่า บริษัทขอนำเข้าปุ๋ยจาก 2 ใน 3 บริษัท เพราะแต่ละรายผลิตปุ๋ยคนละชนิดกัน เช่น บริษัท SABIC ผลิตปุ๋ยในกลุ่มยูเรีย ส่วนบริษัท MA’DEN ผลิตปุ๋ยฟอสฟอรัส และ ACO Group เป็นชนิดอื่น ๆ แต่ตอนนี้ยังเจรจาไม่ได้ข้อสรุปเรื่องราคา เพราะสถานการณ์ราคาปุ๋ยในตลาดโลกลดลงเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยราคาปุ๋ยยูเรียจาก 1,000 เหรียญสหรัฐ ขณะนี้ทรงตัว 700 เหรียญสหรัฐต่อตัน

“ราคาดังกล่าวเป็นราคาเอฟโอบี ยังไม่รวมค่าเรือ ทำให้การเจรจานำเข้าปุ๋ยในช่วงราคาขาลงจะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เพราะยังมองว่าแนวโน้มราคาปุ๋ยโลกในไตรมาส 3-4 มีโอกาสจะลดลงไปอีก หากสิ้นสุดฤดูกาลที่ต้องการใช้ปุ๋ย แต่ถึงอย่างไรก็นำเข้าแน่นอน เพราะเอกชนต้องการซัพพลายเออร์ซาอุฯ เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านวัตถุดิบ ส่วนการนำเข้ามาแล้วจะทำให้ต้นทุนการผลิตปุ๋ยลดลงหรือไม่ ตอบว่าคงไม่ได้ลดลงมากนัก ดังนั้นการจะลดราคาขายเท่าไรขึ้นอยู่กับต้นทุนแต่ละราย”

นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อสรุปการเจรจานำเข้าปุ๋ยซาอุฯ คาดว่าจะมีการนำเข้าตั้งแต่ 8 แสนตัน ไปจนถึงสูงสุด 1 ล้านตัน แต่ยังต้องใช้เวลาในการเจรจารายละเอียดด้านราคาของผู้ผลิตแต่ละราย และเตรียมกระบวนการนำเข้าคงใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน

จากนั้นจะนำไปสู่โครงสร้างราคาตามต้นทุนใหม่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ให้หลักการว่าจะพิจารณาตามต้นทุนนำเข้า จะถูกลงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนนำเข้า ซึ่งระดับราคาแม่ปุ๋ยต้นปีและราคาขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความแตกต่างกันสูง จึงควรจะนำมาพิจารณาถัวเฉลี่ยกัน เพื่อสร้างความสมดุลให้ผู้ผลิตอยู่ได้เกษตรกรอยู่ได้ และต้องดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องปุ๋ยปลอมที่ไม่ได้คุณภาพคู่ขนานไปด้วย

“เอกชนขอบคุณกระทรวงพาณิชย์และหอการค้าไทยที่ช่วยประสานให้เกิดการเจรจานำเข้า ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระเรื่องปุ๋ยช่วยเกษตรกร ทั้งการช่วยประสานกับผู้ผลิตปุ๋ยซาอุดีอาระเบียให้กับผู้ผลิตปุ๋ย ทั้งยังมีการจัดทำโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี แต่สิ่งสำคัญในการดูแลภาคเกษตรจะต้องไปพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตตั้งแต่ต้นทาง คือ เมล็ดพันธุ์ที่ดีเป็นต้นมา ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเกษตรกรไทยแข่งขันได้ในตลาดโลกในอนาคต”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบสถานการณ์การนำเข้าปุ๋ยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 44,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 มูลค่า 6,850.28 ล้านบาท ลดลง 5.74% คิดเป็นสัดส่วน 15.56% ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 แต่มีสัดส่วนถึง 15.47% ห่างกันไม่มากนัก และมูลค่านำเข้า 6,808.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171.94% ซึ่งจากนี้มีโอกาสจะนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 8 แสน-1 ล้านตัน ก็มีโอกาสขยับขึ้นเป็นอันดับ 1 ส่วนแหล่งนำเข้าอันดับ 3คือ รัสเซีย มูลค่า 4,841.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171.02% คิดเป็นสัดส่วน 11% (ตามกราฟิก)

ราคาปุ๋ย