ไทยขาดดุลนำเข้าน้ำมัน-ปุ๋ย “พาณิชย์” เร่งเครื่องดันส่งออกครึ่งหลัง

ท่าเรือส่งออก

นำเข้า “น้ำมัน-ปุ๋ย” แพงลิบ ฉุดไทยขาดดุลการค้า พ.ค. ทะลุ 7.4 หมื่นล้านบาท 5 เดือนแรกขาดดุลแล้ว 2 แสนล้าน พาณิชย์ มั่นใจดันส่งออกโตทะลุเป้าหมาย 5% กวาดรายได้ 9 ล้านล้านบาท สั่งทูตพาณิชย์ทุกตลาดเร่งเครื่องครึ่งปีหลัง พร้อมผนึกเอกชนลุย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนพฤษภาคม 2565 ว่า ไทยส่งออก 25,509 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.5% มูลค่า 25,509 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากคิดเป็นเงินบาท มูลค่า 854,371 ล้านบาท ขยายตัว 19.3%

ส่วนนำเข้า มูลค่า 27,383.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24.2% และคิดเป็นเงินบาท 928,889 ล้านบาท ขยายตัว 34% และขาดดุลการค้า 1,874.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นบาทขาดดุล 74,518 ล้านบาท

ส่งผลให้ภาพรวม 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) 2565 ไทยส่งออก 122,631.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12.9% คิดเป็นเงินบาท 4.03 ล้านล้านบาท ขยายตัว 23.2% และนำเข้า 127,358.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20.2% คิดเป็นเงินบาท 4.25 ล้านล้านบาท ขยายตัว 31.1% และขาดดุลการค้า 4,726.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทขาดดุล 213,834 ล้านบาท

“ทิศทางการส่งออกไทยยังไปได้ดี ส่วนตัวผมเชื่อว่ามีโอกาสที่ปีนี้จะเกินเป้า 9 ล้านล้านบาท จากความต้องการสินค้าทั่วโลกเพิ่มต่อเนื่อง การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด แผนเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน ทำให้การส่งออกทุกหมวดสินค้าเพิ่มขึ้น

และเชื่อว่าแนวโน้มการส่งออกมีโอกาสขยายตัวเกินเป้าหมายที่วางไว้ 5% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 8.5 ล้านล้านบาท โดยสั่งการให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลก ทำแผนเชิงรุกเชิงลึกเพื่อผลักดันแต่ละประเทศนำเข้าสินค้า และให้กำหนดไฮไลต์สินค้าเฉพาะที่จะสามารถเพิ่มการส่งออกด้วย แล้วนำมาหารือภาคเอกชน เพื่อทบทวนแผนและเป้าหมายการส่งออกใหม่อีกครั้ง” นายจุรินทร์กล่าว

สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2565 มาจากสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้น 16.1% โดยสินค้าสำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 81.4% ผลไม้สด เพิ่มขึ้น 28.7% และข้าวปีนี้คาดว่าการส่งออกจะดีกว่าปีที่แล้ว ล่าสุดเพิ่มขึ้น 24.7% ส่วนสินค้าหมวดอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่มขึ้น 32.7% จากน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น 171.2%

อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่มขึ้น 32.5% อาหารสัตว์เลี้ยง 25.4% หมวดอุตสาหกรรมขยายตัวได้ 11.3% จากสินค้าสำคัญ เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับตลาดที่ขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรกในเดือน พ.ค.65 ได้แก่ 1.เอเชียใต้ เพิ่มขึ้น 55.7% 2.แคนาดา เพิ่มขึ้น 45.3% 3.ตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น 37.9% 4.สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 29.2% 5.ละตินอเมริกาเพิ่มขึ้น 22.5% 6.เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 14.5% 7.CLMV เพิ่มขึ้น 13.1% 8.สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 12.8% 9.แอฟริกา เพิ่มขึ้น 10.2% และ 10.อาเซียน (5) เพิ่มขึ้น 8.3%

พร้อมกันนี้ นายจุรินทร์ยังได้แถลงตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนพฤษภาคม 2565 รวม 142,405 ล้านบาท หดตัว 5.64% โดยไทยส่งออก 90,704 ล้านบาท ลดลง 3.77% ไทยนำเข้า 51,701 ล้านบาท ลดลง 8.76% ไทยได้ดุลการค้า 39,003 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าปีนี้ภาพรวมค้าชายแดนและผ่านแดนจะขยายตัวได้ 5%

ทั้งนี้ หากแยกเป็นการค้าชายแดน 4 ประเทศ (มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา ลาว) เดือน พ.ค. มูลค่า 55,002 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.33% และ 5 เดือนแรกไทยส่งออก 267,052 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.24% โดยมาเลเซีย ส่งออก ลดลง 1.57% มูลค่า 14,932 ล้านบาท จากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทำให้ขาดแคนวัตถุดิบ ส่วน 5 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 3.08% มูลค่า 75,348 ล้านบาท

เมียนมา การส่งออกเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 23.28% มูลค่า 13,432 ล้านบาท และ 5 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 34.25% มูลค่า 59,986 ล้านบาท กัมพูชา เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 13.82% มูลค่า 13,405 ล้านบาท และ 5 เดือน เพิ่มขึ้น 17.76% มูลค่า 67,503 ล้านบาท ส่วน สปป.ลาว เดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น 40.25% มูลค่า 13,223 ล้านบาท 5 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 21.90% มูลค่า 64,216 ล้านบาท

ส่วนการค้าผ่านแดน 3 ประเทศ(จีน เวียดนามและสิงคโปร์) เดือน พ.ค. 65 ลดลง 24.01% มูลค่า 35,702 ล้านบาท และช่วง 5 เดือนแรก ลดลง 23.81% มูลค่า 137,534 ล้านบาท จากโควิดทำให้การส่งออกทางบกติดขัดต้องหันไปส่งออกทางเรือและทางอากาศมากขึ้น จึงทำให้ตัวเลขผ่านแดนผ่านเส้นทางบกลดลง

แต่ไม่มีผลทำให้ตัวเลขการส่งออกในภาพรวมลดลงกลับเพิ่มขึ้น เพราะเราสามารถแก้ปัญหาระบบการขนส่งโลจิสติกส์จากทางบกที่มีปัญหาอุปสรรค ในการข้ามด่านเพราะโควิดไปทางเรือและทางอากาศคล่องตัวขึ้น

และหากแยกรายประเทศ พบว่า การส่งออกไปจีนเดือน พ.ค. ลดลง 18.80% มูลค่า 19,083 ล้านบาท และ 5 เดือน ลดลง 24.90% มูลค่า 56,549 ล้านบาท ตลาดสิงคโปร์ ส่งออก พ.ค.ลดลง 11.18% มูลค่า 3,887 ล้านบาท และ 5 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 2.5% มูลค่า 20,101 ล้านบาท

ซึ่งสาเหตุที่ส่งออกลดลงจากการขนส่งทางบกปิดด่าน จึงไปส่งทางเรือมากขึ้น และช่วงหลังตู้คอนเทนเนอร์คล่องตัวขึ้นค่าระวางเรือปรับลดลง และการค้าผ่านแดนเวียดนาม พ.ค.ลดลง 15.24% มูลค่า 3,737 ล้านบาท และ 5 เดือนแรก ลดลง 8.27% มูลค่า 18,438 ล้านบาท

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การนำเข้าที่มีมูลค่าสูงและไทยขาดดุลการค้า เป็นผลราคาสินค้าที่ไทยนำเข้ามีราคาสูง เป็นการขาดดุลในแง่มูลค่า ไม่ได้เป็นเพราะมีการนำเข้าในปริมาณที่สูงกว่าปกติ เช่น น้ำมัน ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น