“กกร.” ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ชี้ ค่าจ้างแรงงานไม่ควรกำหนดอัตราเดียวกันทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลรับข้อเสนอจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีของไทยในปี 2561 โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. การพิจารณาปรับค่าจ้างแรงงานประจำปีควรปรับให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงาน

2. การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีไม่ควรกำหนดในลักษณะอัตราเดียวกันทั่วทั้งประเทศ เนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ควรมอบอำนาจให้ “คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด” ประกอบด้วย ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัด แรงงานจังหวัด ธนาคารแห่งประเทศไทย พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานสถิติจังหวัด เป็นผู้พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีตามสภาพข้อเท็จจริงและความจำเป็นของจังหวัดนั้น ๆ

3. การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างรอบด้าน ทั้งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME และภาคการเกษตร

4. การปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีที่สูงเกินไป อาจเป็นปัจจัยในการส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศได้

5. ภาครัฐควรผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่แรงงานไทยที่มีทักษะสูง (Skill Labor) หรือ Brainpower ผ่านนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อสร้างสังคมการทำงานแห่งปัญญา คือใช้ความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาในการทำงานที่มูลค่าสูง และยกระดับแรงงานไทย เพื่อรองรับไทยแลน 4.0

นายสมพาศกล่าวว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการโดยด่วนต่อไป