มอบโล่ยกย่อง 25 อันดับมหาวิทยาลัย จ่ายหนี้ กยศ.ดีที่สุด

มอบโล่ยกย่อง สถาบันการศึกษา 25 อันดับแรกของประเทศที่จ่ายหนี้ กยศ.ดีที่สุด ด้าน “ชวน หลีกภัย” ฝากมหาวิทยาลัยช่วยรณรงค์ สร้างวินัย ผู้กู้ยืม ย้ำประเทศจะรุ่งเรืองประชากรต้องเคารพกฎกติกา

วันที่ 8 ธันวาคม 2565 ที่กระทรวงการคลัง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีอัตราชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรกของประเทศ จากสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 313 แห่ง เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่สถานศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมของผู้กู้ยืม บ่มเพาะผู้กู้ยืมให้มีวินัยทางการเงิน

ชวน หลีกภัย

โดยภายในงาน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษผ่านระบบออนไลน์ตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีกับ 25 มหาวิทยาลัยที่ได้รับมอบโล่เกียรติคุณในวันนี้ ซึ่งผมได้มีการส่งหนังสือไปแสดงความชื่นชมแก่ทั้ง 25 มหาวิทยาลัยแล้ว รวมถึงส่งหนังสือไปให้กำลังใจยังมหาวิทยาลัยที่มีการชำระหนี้คืนต่ำด้วย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง พบว่ามีการค้างชำระสูงมาก โดยมีเงินต้นค้างมากกว่า 4.8 พันล้านบาท

หนังสือที่ผมส่งไปเป็นการให้กำลังใจผู้บริหาร ให้ช่วยกันรณรงค์นักศึกษาผู้กู้ยืมว่าจบออกไปก็ต้องชำระเงินคืน เพื่อให้กองทุน กยศ.สามารถดำรงอยู่ได้ และมีเงินส่งต่อไปยังรุ่นน้องให้มีโอกาสเรียนต่อ เพราะการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญของโลก เราต้องสร้างโอกาสลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

“กองทุน กยศ.เราเริ่มต้นด้วยเงินทุน 3 พันล้านตั้งแต่ปี 2538 จากจุดเริ่มต้นมีผู้กู้ยืมหลักหมื่น จนปัจจุบันมีผู้กู้ยืมรวมแล้วมากกว่า 6 ล้านคน จำนวนที่มากขนาดนี้เป็นเพราะช่วงหลังไม่ได้มีแค่ผู้ยากไร้เข้ามายืม แต่ผู้ที่มีความพร้อมอยู่แล้วได้เข้ามากู้ยืมด้วย จึงทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา อาทิ ยืมแล้วเรียนจบไปไม่คืน ซึ่งจากการศึกษาปัญหาพบว่ามีปัจจัยหลายด้าน เช่น บางส่วนเรียนจบไปไม่มีงานทำ หรืออยู่นอกระบบ ซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทย กยศ.ก็ต้องหาวิธีการบริหารจัดการ ไม่ควรไปเร่งรัดกดดัน ควรปล่อยให้คนกลุ่มนี้ได้มีเวลาหางาน อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องการปรับดอกเบี้ย”

นายชวนกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าในการพิจารณาของร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ประชุมวุฒิสภามีมติให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 และคิดค่าปรับร้อยละ 0.5 ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางวุฒิสภาต้องส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ตามมาตรา 81 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบกับร่างดังกล่าว จะได้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมร่วมกันของทั้งสองสภาเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เมื่อที่ประชุมให้ความเห็นชอบจะส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

“จากประเด็นการพิจารณาร่างกฎหมายกยศ.ที่ผ่านมาต่อเนื่อง ทำให้ผมได้เห็นวิสัยทัศน์ของนักการเมืองแต่ละคน ว่าเขามองเห็นปัญหาบ้านเมืองในรูปแบบใด ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการคิดดอกเบี้ย ซึ่งทุกคนต่างก็หวังดีต่อนักเรียน นักศึกษา แต่ผมคิดว่าเรื่องเงินนั้นสำคัญก็จริง แต่วินัยของคนก็สำคัญไม่แพ้กัน ถ้าเรามีประชาชนที่ร่ำรวย แต่ไม่เคารพกฎกติกาบ้านเมือง ประเทศก็พัฒนายาก ฉะนั้นวินัยคือเรื่องใหญ่ ผมย้ำตลอดว่าเงินสำคัญจริง แต่ความรับผิดชอบคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เราควรจะสร้างให้เกิดขึ้นกับคนของเราด้วย”

“ดังนั้น สถาบันการศึกษาก็ต้องใช้ความพยายามในการรณรงค์ให้นักศึกษาที่จบออกไปชำระคืน ผมคิดว่าเราต้องมีวิสัยทัศน์ มองชาติบ้านเมือง อนาคตว่าเราต้องการประชากรที่มีความรับผิดชอบไหม ถ้าเราต้องการประชากรที่มีความรับผิดชอบ ประเทศก็จะรุ่งเรือง ถ้าเราขาดคนมีจิตสำนึกรับผิดชอบ ต่อให้แผ่นดินนี้มีทรัพยากรมากมาย มีบ่อน้ำมัน บ่อเพชร ก็ไปไม่รอด จึงอยากฝากช่วยกันรณรงค์”

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า ยอดการชำระหนี้กองทุน กยศ. มีแนวโน้มลดลง หลังจากมีการพิจารณาแก้กฎหมายใหม่ ทำให้ผู้ชำระเงินเกิดความลังเล เนื่องจากรอความชัดเจนของกฎหมาย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน-30 พฤศจิกายน 2565 พบว่ายอดการชำระหนี้ในส่วนของผู้ที่สมัครใจ (ไม่ได้หักเงินเดือน) ลดลงไป 28%

ส่วนการชำระหนี้จากการหักเงินเดือนของบริษัทหรือส่วนราชการที่มีข้อตกลงกับกองทุน ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้กังวลจากยอดที่ชำระหนี้ลดลง เนื่องจากกฎหมายเริ่มมีความชัดเจน หากผ่านการเห็นชอบทุกขั้นตอนก็จะสามารถนำมาประกาศบังคับใช้ แต่หากไม่ได้เห็นชอบก็จะต้องมีการนำเข้าสู่การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา เพื่อหาข้อยุติประเด็นที่มีความเห็นต่างกันอีกครั้ง

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ปัจจุบันกยศ.ได้ให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา ไปแล้วจำนวนกว่า 6.4 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีการศึกษา มีจำนวนนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมเงินกว่า 6 แสนคน มีสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนทั่วประเทศกว่า 4,000 แห่ง

อย่างไรก็ตามสำหรับสถานศึกษาที่มีอัตราชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรก มีดังนี้

  1. มหาวิทยาลัยพะเยา
  2. มหาวิทยาลัยศิลปากร
  3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  4. มหาวิทยาลัยนเรศวร
  5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  6. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  7. มหาวิทยาลัยมหิดล
  8. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  9. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  10. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  11. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  12. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
  13. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  14. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  15. มหาวิทยาลัยบูรพา
  16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
  17. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  18. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  19. มหาวิทยาลัยแม่โจ้
  20. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  21. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
  22. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  23. สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
  24. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  25. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน