ทำความรู้จัก Future Food ธุรกิจคลื่นลูกใหม่ในอุตสาหกรรมอาหาร ทำมูลค่าส่งออกไทยโตแรง 9.8 หมื่นล้านบาท ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ โชว์หลักสูตรปริญญาตรี สอนทำอาหารพร้อมให้ความรู้ด้านการแพทย์โภชนาการ
วันที่ 19 ธันวาคม 2565 วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CIM DPU) เผยแพร่บทความ Future Food-อาหารแห่งอนาคต ธุรกิจคลื่นลูกใหม่ในอุตสาหกรรมอาหาร ทางเลือกของคนรักสุขภาพว่า
Future Food หรืออาหารแห่งอนาคตเกิดจากแนวคิดการดูแลโลกผ่านมื้ออาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) และสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาสร้างสรรค์วัตถุดิบต่าง ๆ ให้เกิดเป็นอาหารรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
ขณะเดียวกันยังต้องรสชาติดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย Future Food จึงนับเป็น Movement มาแรงในอุตสาหกรรมอาหาร และเป็นเมกะเทรนด์ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก
ไทยมูลค่าส่งออก 9.8 หมื่นล้านบาท
โดยมีตัวเลขที่น่าสนใจมาก ๆ และเติบโตไปตามทิศทางของเมกะเทรนด์โลก โดยช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2565 ไทยทำยอดส่งออกอาหารแห่งอนาคตสูงถึง 98,056.78 ล้านบาท (2,883.49 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งตลาดหลักต่างประเทศคือ สหรัฐอเมริกา, เวียดนาม, กัมพูชา, จีน และเมียนมา (อ้างอิง : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร)
Future Food 4 หมวด
สถาบันอาหารแห่งประเทศไทย จัดประเภทของ Future Food โดยแบ่งตามลักษณะของอาหาร และวิธีการผลิต ออกเป็น 4 หมวดดังนี้
อาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) อาหารที่ให้พลังงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย และมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างการเติมวิตามิน แร่ธาตุ หรือส่วนผสมของสมุนไพร ลงในผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ สารต้านอนุมูลอิสระ โพรไบโอติกส์ เส้นใยอาหาร โอเมก้า-3 เป็นต้น
อาหารใหม่ (Novel Food) เป็นอาหารที่ผลิตผ่านนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีในร่างกาย และระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เห็ดที่ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต เพื่อเพิ่มวิตามินดี หรือ เนื้อ ผัก ผลไม้ ที่พาสเจอไรซ์ด้วยวิธีแรงดันสูง
อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) เป็นอาหารที่ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ได้มีคุณสมบัติในการรักษาโรคโดยตรง แต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา หรือบรรเทาอาการของโรค เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหารรุนแรง หรือผู้ต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้นหลังผ่าตัด
อาหารอินทรีย์ (Organic Food) เป็นอาหารที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ โดยจะมีส่วนประกอบที่มาจากธรรมชาติ 100% ไม่ใช้สารเคมีและไม่สร้างมลพิษในกระบวนการผลิต
8 เทรนด์ที่ผู้ประกอบการควรรู้
1.Immunity Boosting คือ การเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายกลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ร่างกายอ่อนแอ (เช่น การรับประทานกิมจิเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร)
2.Personalized Nutrition คือ การออกแบบโภชนาการให้เหมาะกับร่างกายของแต่ละคน โดยประเมินจากรูปแบบการใช้ชีวิต สุขภาพ และสารพันธุกรรม (เช่น ร้านอาหาร Vita Mojo ใน UK ร่วมมือกับ DNA fit ผู้เชี่ยวชาญด้าน HealthTech นำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้บริโภค เลือกทานอาหารที่เหมาะสมกับ DNA หรือร้านอาหาร Sushi Singularity ในญี่ปุ่น จะส่งชุดตรวจ DNA ให้ลูกค้าหลังการจองอาหาร เพื่อปรับส่วนผสมของซูชิให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากที่สุด)
3.Well-Mental Eating คือ การกินเพื่อสุขภาพจิตใจ ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ประกอบไปด้วยสารที่ช่วยลดความเสียหายของอนุมูลอิสระและการอักเสบของสมอง (เช่น CBD-Infused อาหารที่ผสมสารสกัดจากกัญชา มีสรรพคุณช่วยให้รู้สึกสงบและลดความวิตกกังวล หรือ Probiotic ที่มักนำมาใช้ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้า)
4.Gastronomy Tourism คือ อาหารพื้นบ้าน หรือ อาหารประจำถิ่น โดยการท่องเที่ยวเชิงอาหารนับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเดินทาง นักท่องเที่ยว 53% มักเลือกสถานที่ท่องเที่ยวจากอาหารและเครื่องดื่ม (เช่น แกงไตปลา อาหารพื้นบ้านภาคใต้ และข้าวซอย อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ)
5.Elderly Food คือ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ มีแนวคิดจากการที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงทำให้ตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุมีการเติบโตควบคู่ไปด้วย มีการคาดการณ์ว่าปี 2025 ตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุจะขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 25% (เช่น 3D Printed Food การขึ้นรูปอาหารที่ช่วยให้กลืนง่ายและย่อยง่าย หรือ Elderly Snack ขนมขบเคี้ยวที่ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย)
6.Biodiverse Dining คือ การรับประทานอาหารที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะนอกจากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามที่ร่างกายต้องการแล้ว ยังต้องกินอาหารในหมวดหมู่เดียวกันที่มีความแตกต่างทางสายพันธุ์ด้วย (เช่น กะหล่ำปลีและบ๊อกฉ่อย จัดเป็นพืชตระกูลกะหล่ำเหมือนกัน อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสบำรุงกระดูกเหมือนกัน แต่กะหล่ำปลีมีกรดทาร์มาริก ช่วยยับยั้งไม่ให้น้ำตาลและแป้งกลายเป็นไขมัน ส่วนบ๊อกฉ่อยมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง)
7.Newtrition คือ โภชนาการรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยลดการเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในอนาคต โดยไม่บริโภคอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ เลือกบริโภคเฉพาะอาหารที่มาจากผัก ผลไม้ และธัญพืช 100% (เช่น Plant Based Meat อาหารโปรตีนทางเลือกที่มีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์แต่ไม่ได้ผลิตจากเนื้อสัตว์)
8.Food Waste Rescue คือ การแก้ปัญหาขยะอาหาร ซึ่งอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวันกลายเป็นขยะมากถึง 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั่วโลก โดยจะมีอาหาร 30-50% ไม่ถูกรับประทาน คำนวณเป็นมูลค่าแล้วสูญเสียไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (เช่น โครงการรักษ์อาหาร ของมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ มูลนิธิกู้ภัยอาหารแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเพื่อรับบริจาคอาหารส่วนเกินจากโรงแรม ภัตตาคาร หรือร้านค้าปลีกที่เข้าร่วมโครงการ แล้วตรวจสอบความสะอาด ปลอดภัย ก่อนนำไปแจกจ่ายให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือสถานพักพิง)
หลักสูตรประกอบอาหาร DPU
เทรนด์ดังกล่าวเป็นแนวโน้มที่มีประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการสร้างอาชีพสร้างรายได้ในวงการธุรกิจอาหาร ซึ่งนอกจากการศึกษาเทรนด์และปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถเริ่มได้ด้วยตนเองแล้ว ยังมีสถาบันการศึกษาที่พร้อมมอบทักษะและประสบการณ์สำคัญเฉพาะด้าน
โดยที่วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CIM DPU) มีหลักสูตรการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ (ปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต) ซึ่งเป็นที่เดียวที่เปิดสอนการทำอาหารพร้อมความรู้ด้านการแพทย์โภชนศาสตร์และการกำหนดอาหาร
สามารถต่อยอดเป็น Chef, Food Style, Food Scientists หรือเจ้าของธุรกิจอาหารที่ครบเครื่องเรื่องโภชนาการ เรียกได้ว่าเป็นหลักสูตรอนาคตไกลตอบโจทย์ตลาดสุขภาพ และยังได้ความรู้ศาสตร์ชะลอวัย รวมถึงองค์ความรู้ด้าน Wellness อีกด้วย สมัครเรียนที่นี่