อาชีวะ จับมือ 38 หน่วยงาน ทำหลักสูตรยานยนต์ EV

อาชีวะ จับมือ 38 หน่วยงานทำหลักสูตรยานยนต์ EV

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จับมือ 38 ภาครัฐ เอกชนพัฒนาหลักสูตรรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ EV

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา การวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

โดยมีว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.), นายกฤษฏา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ผู้บริหารสถานประกอบการ 38 แห่ง ผู้บริหาร และผู้อำนวยการสถานศึกษา เข้าร่วม

นางสาวตรีนุช เทียนทอง เปิดเผยว่าปัจจุบันภาครัฐให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่สังคมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกในตลาดยานยนต์และช่วยลดมลพิษในอากาศในระยะยาว กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู และพัฒนานักเรียนนักศึกษา ให้มีความพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย

โดยสำรวจความต้องการแรงงานของตลาด และวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เพียงพอและมีทักษะสมรรถนะที่จำเป็น พร้อมปรับปรุงหลักสูตรรายวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย อาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานและสถานประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ สอดรับกับความต้องการนักเรียนนักศึกษาที่มีความรู้ด้านรถยนต์ Electric Vehicle (EV) จำนวนมากของกระทรวงอุตสาหกรรม ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะนำพาให้การจัดการอาชีวศึกษาบรรลุสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ในอนาคต

ด้านว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จิดา เลขาธิการ กอศ. กล่าวเสริมว่า สอศ.ร่วมกับกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยและสถานประกอบการทั้ง 38 แห่ง โดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ

ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ รมว.ศธ. ที่สนับสนุนให้สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ สร้างผู้เรียนที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความเข้าใจในด้านต่าง ๆ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่ง สอศ. ตั้งเป้าหมายผลิตบุคลากรในระดับช่างฝีมือ ช่างเทคนิค และนักเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับการผลิตและพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ โดยคำนึงถึงคุณภาพความเป็นเลิศทางวิชาชีพ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในยุคปัจจุบัน