ทรู และ มูลนิธิถันยรักษ์ ผนึกกำลัง ม.ราชภัฏ ทั่วประเทศ ให้ความรู้ประชาชน ผ่านการประกวดโครงการพิชิตมะเร็งเต้านม ชิงทุนการศึกษากว่า 1 ล้านบาท
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 มูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดย นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ และ นางบุษดี เจียรวนนท์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ และกลุ่มทรู โดย ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการศึกษา บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
จัดการประกวดรอบชิงชนะเลิศ “โครงภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ตั้งชมรมถันยรักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏประจำปี 2565” โดยมีชมรมผ่านเข้ารอบ 12 ชมรม ชิงถ้วยเกียรติยศจาก มูลนิธิฯ และทุนการศึกษามูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 6 ทรู ดิจิทัล พาร์ค
นางบุษดี เจียรวนนท์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2539 มีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนให้ผู้หญิงไทยพ้นจากภัยมะเร็งเต้านม ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้อย่างเหมาะสม ผ่านรักษาคนทุกกลุ่มโดยเท่าเทียมกัน
มูลนิธิฯ ดำเนินงานตามปณิธานดังกล่าวมาโดยตลอด ทั้งด้านการรณรงค์ผ่านเครือข่าย และการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมผ่านศูนย์ถันยรักษ์ที่โรงพยาบาลศิริราช
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทย กว่า 2 หมื่นรายต่อปี และมีอัตรการเสียชีวิตมากถึง 8 พันราย โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งผู้หญิงในเอเชียยังมีอัตราการพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุยังน้อย มากกว่าผู้หญิงตะวันตก
อย่างไรก็ดีเต้านมเป็นอวัยวะภายนอก จึงตรวจและคัดกรองหาสิ่งผิดปกติเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง และรักษาให้หายขาดได้
มูลนิธิฯ จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินโครงการเผยแพร่ความรู้การดูแลเต้านมและการตรวจเต้าด้วยตนเองเบื้องต้น ผ่านกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ตัวแทนคณาจารย์ และนักศึกษาที่เข้าร่วมนำไปขยายผลภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งประชาชนในทุกพื้นที่
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว มูลนิธิฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้ร่วมกันต่อยอดสู่การประกวด โครงการ ภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ตั้งชมรมถันยรักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประจำปี 2565 เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยมะเร็งเต้านมอย่างเป็นรูปธรรม
โดยมูลนิธิฯ ได้สนับสนุนทุนในการจัดตั้งชมรมพร้อมด้วยอุปกรณ์และสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ รวมถึงจัดอบรมให้ความรู้พื้นฐานในการเผยแพร่องค์ความรู้ได้อย่างถูกต้อง ครอบคลุม ทั้งการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ (E-Learning) และ ระบบบันทึกการตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตนเอง (BSE Application) อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ มีมหาวิทยาลัยที่ส่งโครงการจัดตั้งชมรมถันยรักษ์ เข้าประกวดจำนวน 26 แห่ง ตลอดเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ขอชื่นชมความตั้งใจอย่างจริงจังในการวางแผนดำเนินการ ซึ่งสามารถเผยแพร่ข้อมูลสู่กลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า 20,000 คนแล้ว
ด้าน “ตุ๊ก-ชนกวนันท์ รักชีพ” ในฐานะพรีเซ็นเตอร์ของโครงการ ที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพมาตลอด และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการในการตัดสินครั้งนี้ กล่าวว่า สุขภาพมีความสำคัญ ซึ่งต้องดูแลแบบพอดี เพื่อให้เกิดความสมดุลของร่างกาย ไม่ใช่สุดโต่งเกินไป
สิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ ตระหนัก และเข้าใจถึงโรคมะเร็งเต้านม คือ การประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงง่าย นำเสนอแบบสนุก และใช้คำง่าย ๆ ให้ชาวบ้านเข้าใจ ทั้งสุภาพบุรุษและสตรี รวมถึงคนทุกวัย
ผู้ชายสามารถนำความรู้ไปเผยแพร่สู่ภรรยาหรือคนรักได้ เยาวชนก็เช่นกันที่เป็นกระบอกเสียงให้คนในครอบครัว เพื่อตระหนักถึงภัยดังกล่าว
สำหรับการประกวดในครั้งนี้ หนึ่งสิ่งที่โดดเด่นคือ ความคิดสร้างสรรค์ของทุกชมรม ที่พยายามถ่ายทอดกิจกรรมที่ดำเนินงานเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมออกสู่สาธารณะ นั่นคือ ความตั้งใจที่จะทำให้สังคมเห็น
สุดท้ายนี้ขอฝากถึงประชาชนทุกเพศทุกวัย ร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องดูแลให้ดี ส่วนมะเร็งเต้านม มีคีย์เวิร์ดง่าย ๆ คือ “รู้เร็ว รักษาง่าย” ต้องทำลายความคิดที่ว่า “ไม่ตรวจ ไม่เจอ” ทิ้งไป
พลังนักศึกษาสู่ภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม
ทุกวันนี้มะเร็งเต้านมเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่อายุน้อยลง มูลนิธิฯ เห็นถึงความสำคัญของการป้องกัน มากกว่าการรักษา จึงเกิดการดำเนินงานในเชิงรุก
โดยเล็งเห็นความสามารถของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ที่มีศักยภาพในการเข้าถึงชุมชน ทั้งในกรุงเทพมหานคร ต่างจังหวัด และชุมชนเล็ก ๆ เพื่อให้ความรู้กับประชาชน
มูลนิธิฯ มีแอปพิลเคชั่นเพื่อติดตามและให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่แค่จบการประกวดโครงการแล้วจบไป นักศึกษาทุกคนจึงทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ด้วยความตั้งใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์
เป้าหมายของมูลนิธิฯ คือ การมุ่งไปสู่จำนวนของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เป็นศูนย์ ไม่ใช่ว่าไม่มีโรค แต่ต้องเจอและรักษาให้เร็ว อีกทั้งยังต้องทำให้ประชาชนเข้าถึง ที่ผ่านมามีกิจกรรมมากมาย เช่น แอปพลิเคชั่นซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีช่วยได้เป็นอย่างมาก
สำหรับการประกวด เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ละชมรมต้องมีกิจกรรมที่ส่งอิทธิพลกับชุมชนให้ได้มากที่สุด
“ส่วนตัวมีความประทับใจและทึ่งในความสามารถของนักศึกษา บางมุมเราคิดไม่ถึง แต่น้อง ๆ สามารถสร้างแรงดึงดูดให้กับกิจกรรมได้ ประชาชนจึงสนใจและเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมมากขึ้น ซึ่งเริ่มจากคนในครอบครั้ว เพื่อน และคนในมหาวิทยาลัย กระจายสู่คนในชุมชนและพื้นที่ ซึ่งทุกคนเข้าใจจุดหมายของชมรม พลังเหล่านี้ส่งถึงเราอย่างน่าอัศจรรย์” นางบุษดี กล่าว
มูลนิธิฯ วางแผนที่จะต่อยอดโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องมีกิจกรรมใหญ่เพื่อประชาสัมพันธ์ในทุก ๆ ปี และติดตามผลอย่างใกล้ชิด ซึ่งแน่นอนว่ายังเป็นการร่วมมือกับเด็ก ๆ รุ่นต่อไป และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทุกท่าน
โดยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าชมรมถันยรักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศจะเป็นกำลังสำคัญในการลดอัตรการเสียชีวิตของโรงมะเร็งเต้านมในประเทศไทยได้
ผู้ชนะ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ชมรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ โครงภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ตั้งชมรมถันยรักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏประจำปี 2565 ได้แก่ “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา” ซึ่งได้ทุนการศึกษามูลค่ากว่า 50,000 บาท
สำหรับรอบชิงชนะเลิศ มีชมรบถันยรักษ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏผ่านเข้ารอบ 12 ชมรมด้วยกัน ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ราชภัฏอุดรธานี, ราชภัฏสุรินทร์, ราชภัฏพระนคร, ราชภัฏนครราชสีมา, ราชภัฏภูเก็ต, ราชภัฏอุบลราชธานี, ราชภัฏเพชรบุรี, ราชภัฏกาญจนบุรี, ราชภัฏเชียงใหม่, ราชภัฏเลย และ ราชภัฏสวนสุนันทา