มะเร็งปอด รักษาได้ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ
ผู้เขียน : รศ.พญ.ธัญนันท์ ใบสมุทร (เรืองเวทย์วัฒนา) สาขาวิชามะเร็งวิทยา 
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล

มะเร็งปอด ถือเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ในไทย นับว่าเป็น 1 ใน 5 ของโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด และมีจำนวนผู้ป่วยใหม่ในแต่ละปีสูงมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาเมื่ออยู่ในระยะที่ 3-4 ของโรค เนื่องจากผู้ป่วยบางรายที่เป็นระยะแรกไม่มีอาการผิดปกติ

สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งปอด

การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ หรือได้สัมผัสสารก่อมะเร็งมาเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดชนิด small cell carcinoma และ squamous cell carcinoma

มีการกลายพันธุ์ของยีนในร่างกายบางชนิด หรือมีการสลับที่ของยีนบางชนิด ที่ทำให้เซลล์เติบโตกลายเป็นเซลล์มะเร็งปอดชนิด adenocarcinoma เช่น ยีน EGFR, ALK, KRAS, BRAF, HER2, RET, ROS, MET และยีน NTRK ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ในครอบครัว

ฝุ่น PM 2.5 เริ่มมีการศึกษาวิจัยเบื้องต้นพบว่า เมื่อสูดดมเข้าไปโดยตรงทำให้เกิดการอักเสบต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ อย่างไรก็ตาม สมมุติฐานนี้ยังต้องวิจัยสนับสนุนอีกมาก

อาการของโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวก้อนมะเร็ง เช่น หากอยู่ใกล้หลอดเลือดแดงและหลอดลมอาจมีอาการเหนื่อย ไอเป็นเลือด หากอยู่ในกระดูกจะมีอาการปวดกระดูกอย่างมาก หากอยู่ในตับจะมีอาการปวดท้อง ตับโต และการทำงานของตับอาจผิดปกติ หากอยู่ที่สมองจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นต้น

ที่พบได้บ่อย เช่น มีอาการไอเป็นระยะเวลานาน ไอเรื้อรัง อาจมีเสมหะปนเลือด, เหนื่อย, หายใจไม่สะดวก, เบื่ออาหาร, น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ, ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อย ๆ

ระยะของโรค

ระยะที่ 1 ระยะต้นพบว่าเซลล์มะเร็งอยู่ในปอด มักไม่มีอาการที่แสดงความผิดปกติ

ระยะที่ 2 ระยะที่มีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด

ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งอยู่ในปอดเริ่มออกมาบริเวณต่อมน้ำเหลืองกลางทรวงอก

ระยะที่ 4 ระยะที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น กระดูก ต่อมหมวกไต และสมอง