อว.สั่งคณะแพทย์ทั่วประเทศ ช่วยติดตาม สถานการณ์ซีเซียม-137

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)

กระทรวง อว. ประชุมคณะแพทย์ทั่วประเทศ สั่งทุกโรงเรียนแพทย์ติดตามสถานการณ์กรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 รายงานผู้มีอาการหรือประวัติได้รับสารดังกล่าว พร้อมให้ข้อมูลทางวิชาการที่เข้าใจง่าย น่าเชื่อถือ และถูกต้องต่อสาธารณชน

วันที่ 21 มีนาคม 2566 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ในสังกัดกระทรวง อว. ทั่วประเทศ

ซึ่งประกอบด้วยคณบดีและผู้แทนจากโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ชั้นนำทั่วทุกภูมิภาค อาทิ ศิริราช , จุฬาฯ, ธรรมศาสตร์, รามาธิบดี มศว. เชียงใหม่ นเรศวร เป็นต้น เพื่อรับทราบและติดตามความก้าวหน้าของสถานการณ์กรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายที่ จ.ปราจีนบุรี ทั้งในมิติสุขภาพ และมิติทางวิชาการ

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เปิดเผยหลังประชุมว่า คณะแพทย์ทุกแห่งได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ทราบข่าวการสูญหายของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 แล้ว ในครั้งนี้เป็นการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตนได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติม 4 ข้อต่อคณะแพทยศาสตร์และโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ดังนี้

1.ให้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวดเพื่อค้นหาและรายงานผู้ที่มีอาการหรือมีประวัติเข้ากันได้กับการได้รับสารรังสี ย้อนหลัง ไป 3 เดือน รวมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์ หากพบว่ามีผู้ป่วยต้องสงสัยว่าจะได้รับสารรังสี หรือหากพบคลัสเตอร์ในพื้นที่ใดขอให้รายงานเข้ามาที่ศูนย์ปฏิบัติการของกระทรวง อว. และเข้าไปดูแลโดยทันที

2.คณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลที่มีความสามารถในการตรวจการสัมผัสสารรังสี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด ปัสสาวะ หรืออื่นใด หรือหากมีผู้เชี่ยวชาญหรือเครื่องมือให้แจ้งมาที่ศูนย์ปฏิบัติการของกระทรวง อว. เพื่อให้เกิดการสนธิกำลังโดยทันที

3.มหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้พื้นที่เหตุการณ์ ซึ่งมีเครือข่ายแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครที่ประสงค์จะสนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้เข้าไปร่วมดำเนินการโดยทันที ทั้งในแง่การดูแลสุขภาพ ความรู้สึก และความวิตกกังวล

4.ให้นักวิชาการ แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลความรู้ทางวิชาการที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือเข้าใจง่ายต่อสาธารณชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและลดความตระหนกในสังคม รวมทั้งให้คำแนะนำและคำปรึกษาต่อประชาชน

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางรังสีวิทยาของคณะแพทยศาสตร์หลายแห่งได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ปริมาณรังสีที่สูญหายและที่ตรวจพบปรากฎในพื้นที่เหตุการณ์มีปริมาณที่น้อยมาก เทียบได้กับการทำ CT Scan 1 ครั้ง ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพน้อย