นายแพทย์วิจารณ์ พานิช วิเคราะห์เหตุใดการศึกษา 5 ประเทศมีคุณภาพสูง

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสถาบันพระบรมราชนก_05
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสถาบันพระบรมราชนก

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสถาบันพระบรมราชนก วิเคราะห์ระบบการศึกษาใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ แคนาดา ฟินแลนด์ เซี่ยงไฮ้ (จีน) และออสเตรเลีย เหตุใดมีคุณภาพสูง พร้อมแนะประเทศไทยควรยกระดับโรงเรียนให้ทันสมัยตลอดเวลา ช่วยกันลดช่องว่างต่าง ๆ 

วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสถาบันพระบรมราชนก เปิดเผยมุมมองระบบการศึกษาของไทยและต่างประเทศ ผ่านการบรรยายหัวข้อ “การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก” ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 23 สมศ. “2 ทศวรรษแห่งการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการศึกษา” ประจำปี พ.ศ. 2566 ว่า รูปแบบของโรงเรียนในปัจจุบันอาจจะไม่ใช่รูปแบบของโรงเรียนในอนาคต

ดังนั้น การยกระดับระบบการศึกษาในโรงเรียนให้มีความทันสมัยจึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาตลอดเวลา และบางครั้งต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเพื่อให้สอดรับกับยุคสมัยและปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง

สำหรับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการประเมินสถานศึกษาที่รับการประเมินคุณภาพภายนอกทั่วประเทศ ควรให้ความสำคัญกับรูปแบบการเมิน โดยระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ดีนั้นต้องเป็นระบบที่บูรณาการทุกภาคส่วน ทุกฝ่ายมีบทบาทร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ทีมผู้บริหารโรงเรียน อาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ประกอบการ

ซึ่งแนวทางการดำเนินการควรเน้นการประเมินเพื่อการเรียนรู้มากกว่าการประเมินเพื่อกำกับ นั่นหมายความว่าการประเมินต้องเป็นการรับข้อเสนอแนะและนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นมาพัฒนาต่อ เพื่อยกระดับมาตรฐานและลดช่องว่างด้านคุณภาพการศึกษา

หากจะวิเคราะห์ระบบการศึกษาในต่างประเทศ อ้างอิงจากหนังสือการศึกษาคุณภาพสูงระดับโลกที่ยกตัวอย่างระบบการศึกษาของ 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ แคนาดา ฟินแลนด์ เซี่ยงไฮ้ (จีน) และออสเตรเลีย ซึ่งมีวิธีดำเนินการแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ แต่ทั้ง 5 ประเทศมีรูปแบบการศึกษาภายใต้เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ 1.การสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา และ 2.พัฒนาทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในอนาคต

สำหรับประเทศสิงคโปร์ เน้นระบบการศึกษาคุณภาพสูง โดยระบบการศึกษาของสิงคโปร์ถูกออกแบบใหม่อยู่เสมอ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในยุคที่ 3 เน้นความรู้ทั่วโลก เน้นนวัตกรรม เน้นการสร้างสรรค์ และการวิจัย

ประเทศแคนาดา ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท ดังนั้น สิ่งที่แคนาดาพยายามทำคือ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาคุณภาพสูง ความโดดเด่นของแคนาดาคือ ครูเป็นผู้กำหนดคุณภาพการศึกษาและแผนพัฒนาด้วยตนเอง เพื่อทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรเอง เรียกได้ว่าเป็นการมอบอำนาจให้แก่ครูและโรงเรียนในการดำเนินการ

ประเทศฟินแลนด์ พัฒนาจากประเทศเกษตรกรรมที่การศึกษาค่อนข้างล้าหลัง ใช้เวลา 30 ปี พลิกสู่ประเทศที่มีการศึกษาคุณภาพสูงระดับชั้นนำของโลก มีแนวทางในการออกแบบการศึกษาเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ โดยภาครัฐได้กำหนดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ให้แก่เด็กทุกคน ไม่จำกัดฐานะ อาชีพ และที่อยู่อาศัย โรงเรียนสำหรับการศึกษานี้เรียกว่า Common School ศูนย์กลางของการพัฒนาระบบการศึกษาคือโรงเรียน และครูคือหัวใจของคุณภาพการศึกษาภายใต้หลักสูตรที่เปิดกว้างและยืดหยุ่น

สาธารณรัฐประชาชนจีน จีนพลิกฟื้นระบบการศึกษาที่ถูกทำลาย สู่การเป็นประเทศที่มีคุณภาพทางการศึกษาอันดับหนึ่งของโลกภายในระยะเวลา 20 ปี โดยการมุ่งปฏิรูปเพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่ ซึ่งหัวใจสำคัญไม่ใช่หลักการหรือความรู้ แต่เป็นการประยุกต์หลักการหรือความรู้ โดยเป้าหมายคือการเรียนรู้ของนักเรียน จัดตั้งโรงเรียนนำร่อง โดยมีการกระจายครูที่สอนเก่งไปทั่วมลฑล มีการทำงานเป็นทีมร่วมกันสังเกตพฤติกรรมเด็ก ปฏิกิริยาที่มีต่อการสอน และนำผลมาปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น

ประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีเด็กที่อยู่ห่างไกลจึงมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่ใช้ระบบเทเลคอนเฟอร์เรนจากที่ห่างไกลเข้ามาเรียนเป็นรูปแบบของลักษณะการเรียนทางไกล และสิ่งที่เป็นความท้าทาย คือโรงเรียนมีความแตกต่างและมีความหลากหลาย ดังนั้น นโยบายภาครัฐจึงมุ่งให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่อ่อนแอเป็นพิเศษและเปลี่ยนหลักสูตรการผลิตครูและพัฒนาครูประจำการให้ตอบสนองกับหลักสูตรใหม่

“หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาคุณภาพสูง เน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อพัฒนาเยาวชนไปสู่การเป็นพลเมืองของโลก วงการการศึกษาควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและพลิกผันของโลกและสังคม เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันและสามารถจัดการกับระบบการศึกษาในอนาคตได้”