
ถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยไทยจะได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับที่ดีขึ้นจากหลาย ๆ สถาบันระดับโลก โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับ THE Impact Rankings มากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 จาก 122 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับในปี 2023
ส่วนในปีนี้มีถึง 19 สถาบันเข้าไปอยู่ในลิสต์ World University Rankings 2024 ของ Times Higher Education ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาของไทยมีศักยภาพและความเป็นเลิศทางวิชาการ จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น
- หมอธีระวัฒน์ ชี้ งานวิจัยระบุ ชอบกินเนื้อสัตว์เสี่ยงตาย ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ไม่ช่วย
- พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี
- พระราชทานอภัยโทษ คดีทักษิณ ที่มาวาระอันเป็นมงคล วโรกาสสำคัญ
แต่ทั้งนั้นยังมีความท้าทายหลายด้านที่สถาบันอุดมศึกษาไทยยังต้องปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคน ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมายังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมผู้ใช้แรงงานมากนัก
โดยปัญหาหลักคือผลิตบัณฑิตน้อย หลักสูตรไม่ทันสมัย ฯลฯ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงมีการเร่งปฏิรูป ทลายข้อจำกัด และอุปสรรคของการพัฒนาอุดมศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจมากขึ้น
“พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี” หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) กล่าวว่า ระบบการศึกษาของไทยมีศักยภาพไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่น แต่การผลิตบัณฑิตยังไม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นฝั่งผู้ใช้ได้มากนัก หรือเรียกว่ายังผลิตซัพพลายไม่ตอบโจทย์ฝั่งดีมานด์
ดังนั้น การแก้ไขจึงต้องร่วมมือกับหลายภาคส่วน เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถของบุคลากรให้มีคุณภาพ
“ที่ผ่านมาเรามีการจัดงาน Thailand Future Careers เป็นงานที่จัดให้มีการพบปะกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อหารือกันถึงความต้องการด้านแรงงานในอนาคต
โดยในส่วนของ อว.มีการนำเสนอ 2 เรื่องคือ 1.นโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (higher education sandbox) และ 2.การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (reinventing university) ซึ่งเป็นโครงการที่เราพยายามผลักดันมาตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา”
ปลดล็อกทุกข้อจำกัดอุดมศึกษา
“พันธุ์เพิ่มศักดิ์” อธิบายเพิ่มเติมว่า นโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (higher education sandbox) เป็นการปลดล็อกทุกข้อจำกัดในอุดมศึกษาไทย เช่น การปรับหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หมายความว่า ที่ผ่านมาหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะมีการปรับเปลี่ยนทุก ๆ 5 ปี ซึ่งมองว่าช้าไป ทำให้เนื้อหาการเรียนการสอนไม่ทันสมัย
ดังนั้น เราจึงอยากให้หลักสูตรจากนี้ไปมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงจากเดิมที่การศึกษาภาคบังคับ คืออาจจะต้องจบใน 4-5 ปี อาจลดระยะเวลาให้สั้นลง สามารถเรียนจบได้ภายใน 2-3 ปี
หรือแม้แต่เรื่องของอาจารย์ผู้สอน ข้อจำกัดเดิมคือจะต้องมีตำแหน่งทางวิชาการเท่านั้น จึงจะเข้ามาสอนในมหาวิทยาลัยได้ ตอนนี้ไม่จำเป็นแล้ว อาจจะเชิญบุคคลภายนอกที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านเป็นนักธุรกิจจากอุตสาหกรรมนั้น ๆ เข้ามาสอนได้
เพราะนโยบายจะมุ่งเน้นผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง ตามความต้องการของประเทศ โดยตั้งเป้าว่าจะต้องผลิตกำลังคนที่ตรงต่อความต้องการของประเทศในด้านต่าง ๆ กว่า 20,000 คน ใน 11 สาขา ได้แก่ 1.กำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ในระดับผู้ประกอบโรคศิลปะ 2.high-tech entrepreneur
3.วิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล 4.การผลิตกําลังคนศักยภาพสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และแนวคิดเชิงนวัตกรรม 5.สาขาวิศวกรคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล 6.การจัดการการบินนานาชาติ 7.สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แขนงพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า
8.สาขาผู้ประกอบการตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG) 9.สาขาผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมเวลเนส 10.สาขาวิศวกรบูรณาการระบบ (system integrator) 11.ผู้บริหารระดับต้นและระดับปฏิบัติการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบองค์รวม เป็นต้น
“ทั้ง 11 สาขาเป็นสาขานำร่องที่ปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา ปัจจุบันทยอยเปิดรับสมัครผู้เรียนไปแล้วประมาณ 7-8 หลักสูตร มีจำนวนนักศึกษาเข้าร่วมโครงการอยู่ประมาณหลักพันราย ซึ่งเป้าหมายคือ จะผลักดันให้มีผู้เรียนในโครงการนี้ให้ได้หลักหมื่นภายใน 5 ปี และตอนนี้มีหลักสูตรอีกกว่า 10 หลักสูตรที่อยู่ในขั้นพิจารณา”
ศักดิ์และสิทธิเทียบเท่าปริญญาตรี
“พันธุ์เพิ่มศักดิ์” กล่าวต่อว่า ผมมองว่าหลักสูตรแซนด์บอกซ์ เปรียบเสมือนเป็นทางลัดในการผลิตกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญชั้นสูง เพื่อไปตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ทัน มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดได้ว่าจะให้ใครมาสอน หลักสูตรเรียนได้กี่ปี เพียงแค่รายงานให้ อว.ทราบถึงรายละเอียด ความชัดเจนเกี่ยวกับหลักสูตร และต้องเป็นหลักสูตรที่ขาดแคลน ตลาดต้องการตัวจริง ๆ
ยกตัวอย่าง การผลิตกำลังคนทางด้าน cyber security หรือทางด้านของปัญญาประดิษฐ์ ในประเทศไทยอาจมีบุคลากรที่จะสอนไม่เพียงพอ ก็อนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในอุตสาหกรรมจริง ๆ มาเป็นอาจารย์ผู้สอน หรือในหลาย ๆ หลักสูตรตั้งเป้าผลิตคนไว้สูง
เช่น ด้านไอที ปัญญาประดิษฐ์ตั้งเป้าไว้ที่ 5,000 คน ในระยะเวลา 5 ปี มหาวิทยาลัยเดียวน่าจะผลิตไม่ทัน จึงต้องมีการร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ ช่วยกันผลิต
หรือจะเป็นสาขาฉุกเฉินการแพทย์ เป็นสาขาที่ต้องการคนสูงมาก เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคน บทบาทหน้าที่คือช่วยรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้นก่อนถึงโรงพยาบาล ตั้งเป้าไว้ที่ 15,000 คน ซึ่งสูงมาก ก็เกิดจากความร่วมมือของ 10 สถาบันที่จะช่วยกันผลิต
ได้แก่ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, มหาวิทยาลัยมหิดล, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, สถาบันพระบรมราชชนก, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สถาบันพระบรมราชชนก เป็นต้น
“แต่ละหลักสูตรอาจมีทั้งนักศึกษาปริญญาตรีเข้ามาเรียน หรืออาจเป็นผู้ที่จบแล้ว แต่อยากพัฒนาทักษะเพิ่มก็เรียนได้ เพราะเมื่อจบหลักสูตรไปแล้วจะมีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่าปริญญาปกติ ซึ่งผมต้องบอกว่าหลักสูตรนี้เหมือนปริญญาตรีปกติ เพียงแต่หลักสูตรที่อยู่ในแซนด์บอกซ์ถูกประกาศใช้ภายใต้ข้อกำหนด มาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562
ซึ่งผู้ที่มีอำนาจในการอนุมัติจบหลักสูตรจะเป็นคณะรัฐมนตรี และกฎหมายมอบอำนาจให้คณะกรรมการจัดการศึกษาเฉพาะกิจ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานใช้อำนาจแทน ครม.อนุมัติ จึงแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไป พูดง่าย ๆ คือหลักสูตรพิเศษ”
ส่วนสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแพทย์ วิศวะ พยาบาล เรากำลังหารือกับสภาวิชาชีพ ถึงแนวทางการพิจารณารองรับหลักสูตร เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเรียนสามารถที่จะสอบขอรับใบอนุญาตการทำงานในแต่ละอาชีพต่อไป
แบ่งกลุ่มพัฒนาตามศักยภาพ
“พันธุ์เพิ่มศักดิ์” กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งเรื่องที่ อว.ดำเนินการคือ การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (reinventing university) ตอนนี้มีการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยกว่า 61 แห่ง เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มการพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก 2.กลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม 3.กลุ่มการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ 4.กลุ่มการพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา 5.กลุ่มการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาเฉพาะ เป็นต้น
ทั้ง 5 กลุ่มมีการประกาศรายชื่อมหาวิทยาลัยไปแล้วว่าอยู่กลุ่มไหนบ้าง ทั้งนั้น เพื่อให้มหาวิทยาลัยดำเนินการตามความถนัดของแต่ละสถาบัน เช่น ในกลุ่มแรกที่เป็นแนวหน้าด้านงานวิจัย ก็จะมีทั้งจุฬาฯ ขอนแก่น เกษตรศาสตร์ และอื่น ๆ จะเห็นว่าในกลุ่มนี้มีการพัฒนางานวิจัยที่โดดเด่นเยอะมาก หรือในกลุ่มที่ 3 พัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ ก็จะเป็นกลุ่มราชภัฏ ที่มีจุดเด่นการทำงานร่วมกับชุมชน มีความใกล้ชิดกับชุมชน ฯลฯ
“อย่างไรก็ตาม หลังจากเสนอ 2 โครงการนี้ไป ภาคเอกชนให้ความเห็นว่า เรามาถูกทางแล้ว เพียงแต่ยังเป็นช่วงเริ่มต้น ก็อาจต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งจะเน้นไปที่ด้านการพัฒนาหลักสูตร เน้นเชิงปฏิบัติการควบคู่ทฤษฎีทำงานได้จริง ซึ่งหลังจากที่เราผลักดันโครงการเหล่านี้ ก็เริ่มเห็นผลชัดเจนว่าอันดับมหาวิทยาลัยของไทยเริ่มอยู่ใน rangking ที่ดีขึ้นของโลก”