ส่องนโยบาย “เพิ่มพูน ชิดชอบ-ศุภมาส อิศรภักดี” 2 รัฐมนตรีผู้ดูแลระบบการศึกษาไทย เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัย
วันที่ 24 มกราคม 2567 ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา Thailand 2024 : The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส โดยพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ร่วมเสวนาในหัวข้อ เรียนดี มีความสุข ขยายโอกาสเพื่อคนไทย มี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นวิทยากร
ศธ.เดินหน้าการศึกษาเท่าเทียม
พลตำรวจเอกพิ่มพูนกล่าวว่า นโยบายของ ศธ. คือ “เรียนดี มีความสุข” เป็นนโยบายที่ผมคิดว่าเราจะต้องทำให้เด็กนักเรียนและผู้ปกครองมีความสุขก่อน จึงจะส่งผลดีต่อการเรียนและด้านอื่น ๆ โดยจากการประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ หรือ PISA ล่าสุดที่ค่อนข้างตกต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ความสนใจของเด็กเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ดังนั้นวิธีการเรียน การสอนก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม
“มาตรฐานการศึกษาของเราไม่เท่าเทียม ซึ่งผมได้เห็นปัญหา และเรียนรู้พร้อม ๆ กับทีมบริหารการศึกษา และตระหนักว่าเราจะต้องทำระบบการศึกษาของเราให้เท่าเทียม โดยมีแนวทางคือการเฉลี่ยความสุข กระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงมากขึ้น จะเห็นว่าที่ผ่านมา ประเด็นการศึกษาโดยเฉพาะเรื่องของผลสอบ PISA เป็นที่พูดถึงมาก โดยการสอบ PISA เป็นการทดสอบเรื่องการคิด วิเคราะห์ ก็ต้องมาฝึกให้เด็ก เรียนแบบรู้จักคิดวิเคราะห์ เชื่อว่า ผลคะแนน PISA รอบต่อไปน่าจะดีขึ้นแน่นอน
“จริง ๆ ผลประเมิน PISA ของไทยประเมินแบบกระจาย ขณะที่ประเทศที่ได้คะแนนดีเป็นการประเมินแบบกลุ่ม ดังนั้นในการสอบปี 2025 ก็อาจจะเลือกประเมินเฉพาะกลุ่มที่มีความพร้อม ส่วนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ ONET ตอนนี้เด็กไม่ค่อยสนใจ เพราะผลคะแนนไม่มีผลต่อการเข้าเรียนต่อ และไม่ได้นำคะแนนไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นอาจจะต้องมีการปรับกระบวนในการทดสอบให้สามารถวัดประเมินได้รอบด้าน และสามารถนำคะแนนไปใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้เด็กให้ความสำคัญกับการสอบมากขึ้น”
พลตำรวจเอกพิ่มพูนกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ศธ.ยังลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง จัดทำแพลตฟอร์ม Anywhere Anytime เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา เตรียมจัดระบบสอบเทียบ เพราะเด็กเก่ง ซึ่งมีความเป็นเลิศอยู่แล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งหากสอบเทียบได้ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีนโยบาย มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn)
ขณะที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) จะเข้ามาช่วยเสริมในส่วนการศึกษานอกระบบ เป็นการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ซึ่งไม่ถือว่าซ้ำซ้อน เป็นการซ่อมเสริมในส่วนที่ขาดสำหรับกลุ่มที่ไม่สามารถเรียนในระบบการศึกษาได้ตามปกติ โดยผู้ที่เรียน กับ สกร. สามารถไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้”
อว.ส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัย
ด้านนางสาวศุภมาสกล่าวว่า นโยบายทิศทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา อว. ต้องการผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับคนทุกช่วงวัย เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองให้ก้าวทันเทคโนโลยี องค์ความรู้และทักษะใหม่ ๆ รวมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงได้ อย่างการเป็นพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ในการสร้างธุรกิจทางเทคโนโลยี สร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม และสร้างอาชีพใหม่ ๆ
นอกจากนี้ ยังต้องการให้เป็นพื้นที่ของคนวัยทำงาน ที่จะมาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในอาชีพและธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งเป็นพื้นที่ของคนสูงวัยที่ต้องการกลับมาเรียนรู้ เพื่อที่จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปได้
ด้านแนวทางในการการลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา อว. จะ “นำการอุดมศึกษาไทย สร้างโอกาสทางการศึกษา” โดยการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับเยาวชนไทยให้มีทางเลือกในการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากขึ้น
โดยให้นักเรียนสามารถสมัครเลือกคณะ 1-10 อันดับได้ฟรี ซึ่งเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระได้สูงสุด คนละ 900 บาท ในการสมัครคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยผ่านระบบการรับสมัครสอบกลาง ประจำปี 2567 หรือ “TCAS 67”
“นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์ให้คนไทยทุกคนเรียนรู้ได้ฟรี ผ่านระบบ Thai MOOC (Thailand Massive Open Online Course) โดย อว. ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนกว่า 120 สถาบัน
อีกทั้งยังขยายความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยเริ่มลงนามความร่วมมือระหว่าง JMOOC ของญี่ปุ่น และ K-MOOC ของเกาหลี ในการแลกเปลี่ยนรายวิชาระหว่างกัน ผ่านแพลตฟอร์มด้านการศึกษาออนไลน์ เพื่อรองรับพื้นที่การศึกษาระบบเปิดสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทยทั้งด้าน Upskill และ Reskill ให้พร้อมสู่การทำงานยุคใหม่
รวมถึงมีการพัฒนาระบบคลังหน่วยกิตของสถาบันอุดมศึกษามีระบบในการเทียบ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียน ทั้งนักเรียน วัยทำงาน และผู้สูงอายุ เข้ามาเรียนรู้และเก็บสะสมหน่วยการเรียนรู้ไว้ได้ตลอดชีวิตตามความต้องการ และความสนใจในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของแต่ละบุคคล ได้ทุกที่ ทุกเวลาอีกด้วย”