กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการ และอนุกรรมการ 5 ชุด วางแผนขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” พร้อมดัน 8 สาขาสร้างกำลังคนมืออาชีพ สอดรับ 10 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
วันที่ 6 ตุลาคม 2566 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษ กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (5 ต.ค.) พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1 โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารองค์กรหลัก และข้าราชการ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง
ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมหารือ แสดงความคิดเห็น และพิจารณาวางกรอบการดำเนินงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข มีความก้าวหน้าในหลายประเด็น
นายสิริพงศ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี รมว.ศธ. เป็นประธาน เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ไปสู่แผนการดำเนินงานตามเป้าหมาย ประสานการทำงานภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และงานประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องทุกระยะ เน้นสื่อสารกับสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครู นักเรียน และผู้ปกครอง
“โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา มาเป็นที่ปรึกษา ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทราศุ นายมีชัย วีระไวทยะ และรองศาสตราจารย์สุขุม เฉลยทรัพย์ ซึ่งเชื่อว่าการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ จะทำให้การขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาไปสู่เป้าหมายได้อย่างแน่นอน”
นโยบายเร่งด่วน
ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นต่อนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 14-20 กันยายน 2566 จำนวน 24,153 หน่วยตัวอย่าง ครอบคลุมผู้บริหาร ข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ มีผลสรุปที่สำคัญ คือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับนโยบายทุกข้อ เพราะมีความเหมาะสม ชัดเจน และตรงกับความต้องการ
ส่วนนโยบาย 5 อันดับแรกที่ควรดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ อันดับแรก นโยบายปรับวิธีการประเมินวิทยะฐานะครูฯ ค่าเฉลี่ย 4.29 รองลงมา นโยบายครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น ค่าเฉลี่ย 4.28 นโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ค่าเฉลี่ย 4.26 นโยบายมีรายได้ระหว่างเรียนฯ ค่าเฉลี่ย 4.15 และนโยบายระบบแนะแนวการเรียนฯ ค่าเฉลี่ย 4.02 ตามลำดับ
ข้าราชการกังวลภาระงาน-ความคุ้มค่าแจกแท็บเลต
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างได้สะท้อนถึงปัญหาและให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ เช่น ปัญหาภาระงานอื่นที่กระทบต่อการสอนของครู การขาดแคลนบุคลากร งบประมาณสนับสนุนการศึกษา และขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อที่ทันสมัย และสาธารณูปโภคที่จำเป็น การประเมินวิทยฐานะล่าช้า ปัญหาด้านคุณภาพและความคุ้มค่าของการแจก Tablet
ส่วนข้อเสนอแนะเรื่องนโยบายฯ เสนอว่าควรเป็นนโยบายที่ดำเนินการแล้วไม่เป็นภาระด้านเอกสารและไม่เป็นภาระของครู ควรยึดความถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล เน้นส่งเสริมการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กมีความรู้ มีความสุขในการเรียนและมีทักษะอาชีพ โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และควรพัฒนาคุณภาพชีวิต สวัสดิการและขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ตั้งอนุกรรมการ 5 ชุด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาและเห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา จำนวน 5 ชุด เพื่อดำเนินการตามแผนงานนโยบายการศึกษาของ ศธ. ได้แก่
- คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เป็นเลขานุการ
- คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) จัดทำแพลตฟอร์ม และพัฒนาระบบแนะแนวการเรียน (coaching) และเป้าหมายชีวิต โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และมีรองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นเลขานุการ
- คณะอนุกรรมการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill certificate) และส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to earn) โดยมีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และมีรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นเลขานุการ
- คณะอนุกรรมการจัดทำระบบการวัดผล เทียบระดับการศึกษา ประเมินผลการศึกษา และธนาคารเครดิตแห่งชาติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และมีรองเลขาธิการ กพฐ. เป็นเลขานุการ
- คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษา โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และมีรองเลขาธิการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นเลขานุการ
- รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อวางระบบการดูแลสุขภาพจิตในสถานศึกษา โดยจะเชิญผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับทักษะสื่อสารกับเด็ก และเรื่องสุขภาพจิต มาวางแผนการทำงานร่วมกันต่อไป
นายสิริพงศ์กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ รมว.ศธ.ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และ รมว.ศธ.เป็นกรรมการ จึงได้มอบฝ่ายเลขานุการร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์ ของกระทรวงศึกษาธิการ
โดย รมว.ศธ.จะนั่งเป็นประธานฯ เอง เพื่อกำกับดูแลการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันแรงงานทักษะสูงใน 8 สาขา ให้สอดรับกับหมุดหมายและแผนงาน Quick Win ของรัฐบาล ได้แก่
- สาขาอาหาร โดยปรับหลักสูตรอาชีพระยะสั้น
- สาขาเกม ส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียนในการสร้างเกมที่ตรงกับความต้องการของตลาด
- สาขาแฟชั่น
- สาขาศิลปะ
- สาขาการออกแบบ ส่งเสริมการเรียนการสอนออกแบบแฟชั่นตามอัตลักษณ์ความเป็นไทย ถูกใจตลาดโลก
- สาขาดนตรี
- สาขากีฬา ส่งเสริมการสอนเพื่อสร้างพื้นฐานดนตรีและกีฬาในระดับมัธยมศึกษาให้เข้มข้น
- สาขาหนังสือ ปรับปรุงและพัฒนาห้องสมุดและสถาบันหนังสือทั่วประเทศ ในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย และตั้งสถาบันหนังสือและการอ่านแห่งชาติต่อไป