ศธ.เดินหน้าแก้สารพัดปัญหาการศึกษา ลุยควบรวมโรงเรียน แจกแท็บเลต

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมเดินหน้าแก้สารพัดปัญหา ลุยนโยบายควบรวมโรงเรียน แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ครูไม่ครบชั้น ส่วนความคืบหน้าแจกแท็บเลต อยู่ระหว่างปรับคำของบประมาณปี 2567

วันที่ 22 กันยายน 2566 มติชนรายงานว่า นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้พบปะหารือร่วมกับผู้บริหาร ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

นายสุรศักดิ์กล่าวว่า สพฐ.เป็นองค์กรที่สำคัญในการดูแลจัดการศึกษา เป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุด เพราะมีบุคลากรในสังกัดมากถึง 5 แสนคน การดำเนินงานภายใต้นโยบายของ พลตำรวจเอกพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นสิ่งที่ตนตระหนัก และหลายนโยบายมีความเกี่ยวข้องกับ สพฐ.โดยตรง ทั้งนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ นโยบายเรื่องการแนะแนว การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น ก็เกี่ยวข้องกับ สพฐ.ในการพิจารณาโยกย้ายครูกลับไปอยู่ในภูมิลำเนาของตัวเอง

“นโยบายหลัก ๆ จะเกี่ยวข้องกับการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการลดภาระนักเรียน การสร้างอาชีพระหว่างเรียน ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบหมาย ผมตระหนักว่าจะต้องทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ประสบความสำเร็จมากที่สุด ผมรู้ว่าตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เป็นตำแหน่งที่สำคัญ จะต้องทำให้ดีที่สุดและจะเข้ามาทำให้กลไกส่งเสริมการทำงานของข้าราชการมีความง่ายขึ้น

จะไม่เข้ามาเป็นตัวถ่วง เป็นภาระ หรือขัดขวางการทำงาน โดยขอเน้นย้ำตามแนวทางของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูนในเรื่องความเรียบง่าย การลงพื้นที่ตรวจราชการต่าง ๆ ใครไม่เกี่ยวข้องก็ขอให้ทำงานตามหน้าที่ ไม่อยากให้ มาเป็นขบวนใหญ่ ๆ ซึ่งส่วนตัวผมเองก็ไม่อยากให้ทุกคนเสียเวลา แต่ใครที่เกี่ยวข้องก็ขอให้มา เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพ”

Advertisment

ลุยนโยบายยุบควบรวมโรงเรียน

นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาที่ได้รับฟังข้อมูลมา ทั้งอัตราการเกิดลดลง โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ครูไม่ครบชั้น ขาดนักการภารโรง ทั้งหมดเหล่านี้จะต้องมีวิธีที่จะทำให้ดีขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน การยุบหรือควบรวมโรงเรียน

เป็นแนวทางที่ทำกันมานาน แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งหวังว่า “นโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียน” คุณภาพ จะไปช่วยตอบโจทย์เรื่องดังกล่าว ช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก หากสามารถดำเนินการสร้างคุณภาพให้ชุมชนไว้ใจ ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องตั้งคณะทำงานในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ

ปรับของบแจกแท็บเลต

ส่วนการเดินหน้านโยบายแจกแท็บเลตนักเรียนและครูนั้น ได้ให้คณะทำงานศึกษาว่าเบื้องต้นจะแจกจ่ายในระดับชั้นใดเพื่อเป็นการเริ่มต้น ซึ่งขณะนี้แต่ละหน่วยงานอยู่ระหว่างการปรับคำของบประมาณ 2567 ให้สอดคล้องกับนโยบาย

โรงเรียน 2.9 หมื่นแห่งกับสารพัดปัญหา

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.มีนักเรียนที่ต้องดูแลตั้งแต่อนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งสิ้นกว่า 6.5 ล้านคน มีโรงเรียนในสังกัด 29,315 โรงเรียน สำหรับปัญหาที่อยากให้คิดร่วมกันคือ ใน 10 ปีที่ผ่านมาอัตราเด็กเกิดน้อยลง

Advertisment

ขณะที่การคมนาคมสะดวกมากขึ้น ประกอบกับผู้ปกครองให้ความสำคัญกับมิติด้านคุณภาพการจัดการศึกษามากขึ้น ทำให้มีสภาวะเด็กเกิดน้อยและมาเรียนในเมืองมากขึ้น ทำให้โรงเรียนขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ที่อยู่ในชนบท ในหมู่บ้าน กลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้เกิดปัญหาครูไม่ครบชั้น ครูไม่ครบวิชา

ขณะที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ยกเลิกตำแหน่ง “นักการภารโรง” ที่เป็นลูกจ้างประจำของทุกโรงเรียน หากเสียชีวิต หรือลาออกให้ตำแหน่งยุบตามตัว ทำให้ขณะนี้บางโรงเรียนไม่มีภารโรง ครูบางโรงเรียนต้องมาทำหน้าที่แทนภารโรงไปด้วย รวมถึงยังกระทบเรื่องอาหารกลางวัน ทำให้ครูมีภารงานที่ไม่ใช่งานสอนมากขึ้น

“อีกปัญหาหนึ่งคือการขับเคลื่อนมติด้านคุณภาพที่ยังไม่สามารถทำได้มาตรฐานด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ส่งผลให้คะแนนการทดสอบต่าง ๆ ทั้งการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต คะแนนประเมินตามโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ยังค่อนข้างมีปัญหา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความท้าทายที่จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง

“จากปัญหาดังกล่าวผมจึงได้มีนโยบายเดิมไว้ อาทิ ต้องการเห็นโรงเรียนมีความปลอดภัย และเป็นโรงเรียนแห่งความสุข ลดความเหลื่อมล้ำ และความด้อยโอกาสของนักเรียน การยกระดับคุณภาพผู้เรียน แก้ปัญหาการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยสร้างโรงเรียนคุณภาพให้ไปอยู่ในตำบลต่าง ๆ ซึ่งถ้าจะปรับให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็จะต้องลดให้เหลือ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ เป็นต้น”