รมว.ศึกษาฯ ยกประสบการณ์แก้หนี้ตำรวจ ชี้จ่ายเงินเดือน 2 งวดอาจดีกว่า

เพิ่มพูน ชิดชอบ

เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้านโยบายแก้หนี้ครู ยกประสบการณ์แก้หนี้ตำรวจ ชี้แบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 ครั้งต่อเดือนอาจจะดีกว่า ต้องคิดนอกกรอบ 

วันที่ 14 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายจะเปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็น 2 รอบ เพื่อบรรเทาทุกข์ข้าราชการชั้นผู้น้อยพอสมควร และการจ่าย 2 รอบจะได้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน คาดว่าเริ่มได้วันที่ 1 มกราคม 2567 ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นด้วยจำนวนมากนั้น 

ล่าสุดพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เสียงวิจารณ์ที่ไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องนานาจิตตัง เหมือนเหรียญที่มีสองด้านเสมอ เรื่องนี้เป็นนโยบายรัฐบาล ซึ่งก็ต้องดำเนินการ แต่จากประสบการณ์นโยบายการแก้หนี้ตำรวจที่เคยทำมา มองว่าการจ่ายเงิน 2 ครั้งต่อเดือนอาจจะดีกว่า เพราะกว่าจะได้รับเงินเดือน ตอนสิ้นเดือนก็จะได้มีเงินเพียงพอในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เรื่องนี้อยู่ที่มุมมอง ต้องคิดนอกกรอบ ไม่อยู่ในวังวนเดิม ซึ่งเท่าที่ทราบเรื่องนี้ให้เป็นทางเลือก ไม่ได้บังคับ

ศธ.มีนโยบายแก้หนี้สินครู เราต้องความเข้าใจที่ถูกต้องในการวางแผนการใช้เงิน และการเก็บออมเงินให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งปลูกฝังผู้ที่ได้รับการบรรจุใหม่ ให้มีความรู้ สร้างวินัยการบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของหน่วยงานต้นสังกัด ประสานการจัดการให้ครู บุคลากรทางการศึกษาได้รีไฟแนนซ์ หรือรวมหนี้เป็นก้อนเดียว เพื่อลดภาระผ่อนชำระหนี้จากหลายที่ โดยลดดอกเบี้ยให้ถูกลง ระยะเวลาผ่อนส่งยาวขึ้น สามารถชำระเงินต้นเพิ่มเติมจากเงินที่ผ่อนชำระเป็นรายงวดได้ พักชำระดอกเบี้ยให้แก่ครูทุกคนที่เป็นลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงิน โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้มีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้ชำระเพียงเงินต้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและลดภาระค่าใช้จ่ายครูทั่วประเทศ 

Advertisment

“อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการแก้ไขหนี้เป็นเรื่องที่ยาก และแก้หนี้ครูอาจยากกว่าตำรวจ เพราะมีบุคลากรมากกว่า ซึ่งครูมี 4 แสนกว่าคน ตำรวจมี 2 แสนคน การแก้หนี้ อาจจะใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศึกษาปัญหาต่าง ๆ ภาระค่าใช้จ่ายที่เกินจำเป็นก็ให้ลดลง เช่น กรณีไปร่วมงานต่าง ๆ ก็ให้บริจาคตามความเหมาะสม ยึดหลักพอเพียง”