คอลัมน์ : Politics | Policy | People Forum ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง/ ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ
ในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 2024 โรงเรียนนานาชาติ KIS International School Reignwood Park ถือฤกษ์เปิดการเรียนการสอนวันแรก
KIS International School Reignwood Park เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเรนวูด ปาร์ค โครงการระดับเมกะมิกซ์ยูส มูลค่า 5 หมื่นล้าน
เป็น campus ที่ต่อยอดมาจาก KIS International School Bangkok ที่ย่านเหม่งจ๋าย รัชดาภิเษก ภายใต้คอนเซ็ปต์ one school two campus
โรงเรียนนานาชาติ KIS แห่งใหม่นี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 150 ไร่ มี กุ๊ก-พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นผู้บริหาร ก่อนหน้านี้เขาเดินหน้าโรดโชว์ตามหัวเมืองหลักทั่วประเทศ และขยับไปภูมิภาค เวียดนาม พม่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และจะไปอีกหลาย ๆ ประเทศ
“ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับ “พริษฐ์” ในใจกลางอาณาจักรเรนวูด ปาร์ค ถึงความคืบหน้าล่าสุดของโปรเจ็กต์ด้านการศึกษา KIS International School Reignwood Park อันมาจาก passion ที่เขาทุ่มแรง ทุ่มใจทำตั้งแต่วาดแปลนบนกระดาษ A4 คุมงานก่อสร้างตั้งแต่ Day 1
จนวันนี้ KIS International School Reignwood Park เหลือไม่ถึง 30 วัน ที่จะเปิดการเรียนการสอน เขายอมรับว่า ตื่นเต้นและคงได้เห็นน้ำตาวันที่เห็นนักเรียนคนแรกเดินเข้ารั้วโรงเรียน
โรงเรียนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนาคตอย่างน้อยอีก 15 ปีข้างหน้า
พร้อมเปิดเรียน วันที่ 8 เดือน 8
“พริษฐ์” เล่าการเตรียมตัวขั้นตอนสุดท้ายว่า ตอนนี้เตรียมการเรียนการสอนสมบูรณ์ รอรับนักเรียน ที่จะเริ่มเปิดภาคเรียนแรกในวันที่ 8 สิงหาคม
จำนวนนักเรียนในปีแรก 200 คน น่าจะเป็นตัวเลขที่ดี ทำให้การเรียนในแต่ละชั้น ตั้งแต่ อนุบาล 1 จนถึง เกรด 9 ห้องหนึ่งจะมีนักเรียน ประมาณ 15-20 คน เป็นตัวเลขที่เหมาะสม เราตั้งเป้าว่าค่อย ๆ ทยอยเปิด ไม่อยากเปิดโดยมีนักเรียนเยอะ เพราะอยากให้การเรียนการสอนการดูแลทั่วถึง
สำหรับสัดส่วนนักเรียนมีทั้งนักเรียนไทย 50% อีก 50% เป็นนักเรียนต่างชาติ ซึ่งโรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนแบบ day and boarding ทั้งแบบไป-กลับและแบบประจำ จึงมีผู้ปกครองหลายคนทั้งคนไทย และคนต่างชาติ ที่ส่งลูกมาเรียน
ขณะนี้สัดส่วนของนักเรียนประจำมีประมาณ 25% ของนักเรียนทั้งหมด แต่ในระยะยาวตั้งเป้าจะมี 30% เราอยากให้หอพักเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโรงเรียน
open well กับครูระดับท็อป
“ในวันนี้เป้าหมายแรกของผม และทีมงานทุกคน คือเราใช้คำว่า open well เปิดมาแล้วทำให้ดีที่สุด ในปีแรกเราต้องแสดงศักยภาพของเราให้เต็มที่ คิดว่าผู้ปกครองนักเรียนน่าจะประทับใจกับสิ่งที่เห็น สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และห้องเรียน บวกกับบุคลากรที่เราเชื่อมั่นว่าเป็นระดับที่ท็อปที่สุดแต่ละสาขาวิชาชีพ”
“เรื่องการเรียนการสอนเราไม่ห่วงเลย เพราะเราลงทุนกับการจ้างครู บุคลากรต่าง ๆ ที่มีคุณภาพ เน้นบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำโรงเรียน เพราะเราไม่ต้องการให้เกิดข้อผิดพลาดใด ๆ ทั้งสิ้น และลดความเสี่ยงต่าง ๆ ทำให้เนื้องานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยที่สุด”
เด็ก KIS อยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก
“พริษฐ์” มั่นใจว่าว่าเด็กที่จบจาก KIS International School Reignwood Park จะอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก
“เด็กคนไหนที่จบที่นี่ จะไปเรียนที่ไหน จะไปอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้ทำได้หมดเลย เพราะทั้ง facility บุคลากร สภาพแวดล้อม เราได้จำลองโลกแห่งความเป็นจริงเอาไว้ในโรงเรียน การมาเจอคน เจอบุคลากรที่โรงเรียน จะช่วยหล่อหลอม พัฒนาน้อง ๆ ในสภาพที่เปรียบเสมือนจริงมากที่สุด”
“ประกอบกับหลักสูตรการเรียนแบบ IB (International Baccalaureate) เป็นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักเรียนแบบองค์รวม ไม่ได้พัฒนาเด็กหรือสอนเด็กแค่วิชาการ แต่ให้ความสำคัญกับทักษะการดำรงชีวิต และ skill set ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ 21 เช่น วิธีการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น วิธีการทำงานร่วมกับผู้อื่น วิธีจัดการบริหารอารมณ์ตัวเอง จัดการเวลา skill เหล่านี้สำคัญในโลกอนาคต”
เพราะในอนาคต อยากรู้อะไรถาม google ได้คำตอบเร็วกว่าถามครู หรือ อ่านหนังสือ แต่สิ่งที่ google สอนไม่ได้คือ เมื่อมีทรัพยากรทุกสิ่งที่คุณต้องการ จะเอาไปใช้กับชีวิตคุณอย่างไร ตรงนี้ไม่มีใครสอนได้ ต้องเป็นสิ่งที่เด็กเติบโตในสภาพแวดล้อม โดยครูของเราผันหน้าที่ “ไม่ใช่แค่ครู” แต่เป็น “ครูบวกโค้ช” หรือ “ครูบวกเมนเทอร์” ในการสอนให้เขาใช้ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี มาทำให้เกิดประโยชน์กับชีวิตของเขามากที่สุด
“ตรงนี้ทำไมผมถึงบอกว่า เด็กคนไหนที่จบจากโรงเรียนของเรา จบด้วยระบบ IB ของเรา สามารถใช้ชีวิตที่ไหนก็ได้ สอนให้เขาเข้าใจศักยภาพตัวเอง ช่วยให้เขาพัฒนา skill ที่จำเป็นไปใช้ในโลกอนาคต” พริษฐ์ เล่าอย่างตั้งใจ
ให้เด็กอยู่ร่วมกับเทคโนโลยี AI
กับเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 อย่าง AI จะปลูกฝัง พัฒนาเด็กอย่างไร “พริษฐ์” กล่าวว่า เราไม่ได้แบน หรือ ห้ามเทคโนโลยี เพราะหลาย ๆ โรงเรียนจะแบนหรือห้ามการใช้เทคโนโลยีบางประเภท เพราะเราเชื่อว่ายิ่งห้ามยิ่งยุ และห้ามไปวันนี้ในอนาคตยิ่งหนัก ทวีคูณกว่านี้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าไม่ใช่แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุคือห้าม แต่เราต้องสอนเขาดำรงชีวิตควบคู่กับเทคโนโลยีใหม่ให้ได้
วันนี้เรามี AI มี Chat GPT หลายโรงเรียนจะห้ามเด็กใช้ เพราะ Chat GPT ทำการบ้านให้เด็กได้ แต่ถามว่าในอนาคต Chat GPT จะหายไปหรือเปล่า…มันไม่หายไป แต่จะมีเวอร์ชั่นใหม่ ๆ ที่เก่งกว่านี้อีก ดังนั้น เราต้องสอนว่า ในวันนี้เมื่อมีเครื่องมือใหม่ ๆ แล้วจะปรับและนำมาใช้ในการเรียนการสอน และการดำรงชีวิตในวันนี้อย่างไร
เพราะในอนาคตเด็กต้องอยู่กับเทคโนโลยี ต้องสอนให้เขาอยู่ควบคู่กับเทคโนโลยี และใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้อย่างมีความรับผิดชอบ เพราะเทคโนโลยีทุกวันนี้ เรามักคุยในแง่บวกของเทคโนโลยี แต่ถ้าดูผลเสีย เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฟิชชิ่ง อีเมล์ สแปม สิ่งแบบนี้ต้องสอนให้เด็กเห็นแง่ลบ ดังนั้น การสอนให้เด็กเป็นผู้ใช้อย่างรับผิดชอบจึงสำคัญ
KIS 1 โรงเรียน 2 แคมปัส
เขาบอกว่า โรงเรียนนานาชาติ KIS ย่านเหม่งจ๋าย ที่เปิดมานานกว่า 25 ปี กับ campus ที่ Reignwood Park เป็นโรงเรียนเดียวกันแค่แยกออกมา แต่ทั้ง 2 campus เสริมกันและกัน เพราะเราต้องการเติบโตในคอนเซ็ปต์ One school Two campuses เรามองว่าที่นี่เป็น campus ที่ 2 แต่ตัวตนของโรงเรียนที่นี่ไม่ได้สร้างมาเพื่อทดแทนที่เดิม ที่เดิมยังคงเปิดการสอนอยู่
แต่มีข้อดีต่างกัน เพราะที่เดิม (KIS ย่านเหม่งจ๋าย) เป็นโรงเรียนขนาดกลาง นักเรียนไม่เกิน 1 พันคน ปัจจุบันก็ใกล้เต็มความจุแล้ว ซึ่งโรงเรียน KIS ย่านเหม่งจ๋าย เหมาะกับครอบครัวที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ต้องการห้องเรียนที่ไม่ใหญ่มาก ต้องการโรงเรียนที่เน้น community โรงเรียนใหม่อาจเหมาะกับผู้ปกครองที่ชอบ KIS ชอบจิตวิญญาณของเรา แต่ต้องการโรงเรียนที่มี facility ที่ครบสมบูรณ์
KIS Reignwood โรงเรียนสำหรับอนาคต
เราเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเรนวูดปาร์ค มี ecosystem ที่สมบูรณ์ ทั้งบ้านพักอาศัย โรงเรียน สนามกอล์ฟ คอมมิวนิตี้มอล์ แทบจะเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งที่ตอบทุกโจทย์ของชีวิต และเราเป็น full IB เป็นทั้ง day and boarding แห่งแรกและแห่งเดียวในกรุงเทพฯ และตั้งอยู่บนพื้นที่ 150 ไร่ สิ่งอำนวยความสะดวก เรามั่นใจน่าจะครบสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ คิดว่า 2 ส่วนหลัก ๆ ที่เป็นจุดแข็ง
อีกส่วนหนึ่งเรามี track record ที่เราทำโรงเรียนมา 25 ปี ดังนั้น แม้เป็นโรงเรียนแห่งใหม่ แต่เราถูกพัฒนาโดยทีมงานคุณภาพที่ทำงานมา 25 ปี เรื่องการเรียนการสอนเรามั่นใจว่ามีประสิทธิภาพ และคุณภาพ
ผมทำโรงเรียนครั้งนี้เป็น passion project ทำมาจากความตั้งใจ ความรักที่ชอบทำโรงเรียน ในปีแรกเราต้องการเปิดให้ดีที่สุด และระยะยาว เป็นหนึ่งในโรงเรียนนานาชาติที่ดีที่สุดในภูมิภาค และขอย้ำว่าโรงเรียนแห่งเดิมที่เหม่งจ๋ายไม่ได้ปิด หรือ ย้ายไปไหน ยังเปิดการเรียนการสอนตามเดิม
เจาะลึก KIS Reignwood
สำหรับ KIS International School Reignwood Park ในการเปิดปีแรกจะเปิดประตูต้อนรับนักเรียนอายุ 3 ถึง 14 ปี ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากนั้น KIS Reignwood Park จะค่อย ๆ เติบโตขึ้น โดยเพิ่มระดับชั้นถัดไปในแต่ละปี ตั้งแต่ระดับอนุบาล (อนุบาล 1-3) ระดับประถมศึกษา (เกรด 1-5) และมัธยมศึกษา (เกรด 6-12)
ส่วนพื้นที่ 150 ไร่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ ห้องซ้อมดนตรี, ห้อง Orchestra, โรงละครขนาดเล็ก, สระว่ายน้ำ มาตรฐานระดับ Olympic ที่ระบบ touch panels เมื่อถึงเส้นชัย, สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน FIFA 2 สนาม, Football Academy, Golf Academy, Sport Complex, Track ลู่วิ่งในร่ม, Gymnastic Hall, สนามบาสเกตบอล, มีพยาบาล ประจำตลอด 24 ชั่วโมง
LAB ทดลองทางวิทยาศาสตร์ ด้านเคมี ด้านหุ่นยนต์ นอกจากนี้ สำหรับเด็ก boarding (เด็กประจำ) จะมีการสอน Skill set เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การเปลี่ยนยางรถยนต์ ฯลฯ
เปิดเรียนวันแรกคงกลั้นน้ำตาไม่อยู่
พริษฐ์ ยอมรับตรง ๆ ว่า วันแรกที่โรงเรียนเปิดสอน เขาอาจกลั้นน้ำตาไม่อยู่
“ผมพูดกับทีมงานเสมอว่า ในวันที่โรงเรียนเปิด เห็นนักเรียนคนแรก รุ่นแรกเดินผ่านประตู ยังไงก็มีน้ำตา เพราะรู้สึกว่าเราทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 คิดคอนเซ็ปต์โครงการมาตั้งแต่ปี 2020 ออกแบบแผนผัง บนกระดาษ A4 วาด master plan คร่าว ๆ ว่าอยากจะมี facility อะไรบ้าง ต่อมามีผู้ออกแบบมาทำงานร่วม ต่อมาเริ่มปั้นขึ้นมา เราเป็นส่วนหนึ่งของทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ จนถึงกระบวนการสุดท้าย”
“ภูมิใจในสิ่งที่ทำ ประกอบกับความตื่นเต้น เพราะเราไม่รู้ว่าเปิดมาแล้วจะเป็นอย่างไร แต่มั่นใจทีมงาน และศักยภาพทีมงานทุกคน ว่า ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน ทุกคนเชื่อมั่นในโรงเรียน มีวิสัยทัศน์เดียวกัน ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นว่าเรามี backing ที่ดี ทั้งจากทีมงาน ทั้งจากผู้ปกครอง ครอบครัว”
“ผมว่า..ก็เหมือนที่คิดไว้ เป็นไปตามเป้า ในวันแรกไม่ได้ตั้งเป้าสูงเกินไปจนแตะไม่ได้ เราตั้งเป้าที่ความเป็นจริง และพยายามทำเป้านั้นให้ดีที่สุด ผมไม่ต้องการเปิดโรงเรียนในวันนี้เพื่อให้มีนักเรียนเต็ม แต่เปิดในวันนี้ จะมา 5 คน 100 คน หรือ 200 คน เราทำยังไงที่จะดูแลคนกลุ่มนี้ให้ดีที่สุด ทำไมเราถึงบอกว่า open well”
“และเชื่อว่าถ้าเราทำตามสัญญาณที่ให้ไว้กับผู้ปกครอง เราสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เราพูดทำได้จริง และในอนาคตจำนวนนักเรียนจะมาเอง เมื่อเขาเห็นว่าเราทำได้ตามสิ่งที่พูดไป”
“ส่วนเป้าหมายปี 2025 พริษฐ์ อธิบายแบบไม่มีอะไรซับซ้อน ว่า ปีนี้เปิดให้ดี ปีหน้าก็ทำให้ดียิ่งขึ้นทุก ๆ ปี ผมเชื่อว่าโรงเรียนเปิดใหม่ ไม่มีทางที่จะสมบูรณ์แบบหรือราบรื่น 100% ระหว่างทางต้องมีอุปสรรค เราต้องเรียนรู้กับมัน ครอบครัวที่สมัครมา หลาย ๆ ครอบครัวก็เชื่อมั่นในตัวโรงเรียน ดังนั้น ตรงไหนที่เราคิดว่าเวิร์ก เราก็ทำให้ดียิ่งขึ้น ตรงไหนที่เป็นอุปสรรค เราก็แก้ไขให้ไม่กระทบการเรียนการสอน”
โอกาสในสนามการเมือง
ครั้งหนึ่ง “พริษฐ์” เคยบอกความฝันว่า เขาอยากลุกขึ้นยืนพูดในสภาเหมือนกับที่พ่อ “พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” ประธานบริหาร โครงการเรนวูด ปาร์ค นักการเมืองคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย
วันนี้โอกาสและความหวังในสนามการเมืองของ “พริษฐ์” ยังมีอยู่หรือไม่ และนี่คือคำตอบ
“ถามว่ามีหวังไหม…มี คิดว่าให้เป็นเรื่องของอนาคต ยังชอบอยู่ มันคือ passion ยังไงก็ถอดออกไปไม่ได้ แต่แทนที่พูดในสภา ก็มาพูดให้กับพนักงานฟัง พูดกับเด็ก ๆ คิดว่ามีสีสันมากกว่าในสภา เพราะ public speaking ก็ต้องพูดอยู่แล้ว เพียงแต่ในบริบทไหน”
“นักการเมืองกับนักการศึกษา ผมว่ามันเหมือนกัน เพราะทั้ง 2 สาขาอาชีพ ต้องมีความเป็นผู้นำสูง ไม่ว่านักการเมืองหรือ นักธุรกิจ ต้องสามารถเป็นผู้นำได้ ทั้งในยามดี และยามลำบาก เพราะในยามดี พูดอย่างไรคนก็มีความสุข แต่ในช่วงที่ผ่านมาไม่ใช่ทุกอย่างจะสวยหรูตลอด ต้องมีอุปสรรค แต่เราเป็นผู้นำต้องปลุกกำลังใจ จิตวิญญาณในตัวคนออกมา ต้องมีสภาวะผู้นำที่ดี”
“ผมทำงานโรงเรียน ทำแล้วรู้สึกดี เพราะเราเห็นผล และเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ เราว่าเราคือใคร เช่น ทำงานโรงเรียน เราอยู่สภาพแวดล้อมไปด้วยเด็กและผู้ปกครอง ดังนั้น กำลังใจ หรือสภาพแวดล้อมจะค่อนข้างทำให้เรารู้สึกสบายใจ อิ่มอกอิ่มใจ มีสิ่งใหม่ ๆ ให้เห็นและให้ทำในทุก ๆ วัน”
ส่วนการเมืองแห้งแล้งเกินไปไหม…ทำให้ใจฟูบ้างหรือไม่ “พริษฐ์” ตอบว่า ก็มี…แต่มาพร้อมกับความเครียด แต่ทำที่โรงเรียนทำในสภาพแวดล้อมที่น่ารัก ทำงานกับเด็ก ๆ เครียดก็เครียดแป๊บเดียว เมื่อคุณเห็นเด็ก ๆ ความเครียดก็หาย
ถามว่าหวังได้ไหมว่าจะเห็น “พริษฐ์” เข้าไปพูดในสภา เรื่องการศึกษา เขายืนยันคำเดิมว่า “ได้…จริง ๆ ผมสนใจเรื่องการศึกษา แล้วเราทำโรงเรียนนานาชาติ เราเห็นข้อดี ข้อเสีย แต่เราเห็นข้อดีมากกว่า เราเห็นสิ่งที่เราสามารถนำไปปรับใช้กับระบบการศึกษาไทยหลายอย่าง เพราะโรงเรียนนานาชาติถือเป็น golden standard แต่ผมไม่ได้ด้อยค่าโรงเรียนไทยนะ แต่บอกว่ามาตรการหลาย ๆ อย่าง โรงเรียนนานาชาติเพียบพร้อมกว่า และมีกฎกติกาที่เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโรงเรียนไทยได้เยอะ และคิดว่าจะช่วยให้ระบบการศึกษาไทย สมบูรณ์แบบมากขึ้น”
สิ่งที่ไม่อยากเห็นอีกต่อไปของโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 คือ เด็กที่ถูกล่วงละเมิด เด็กที่ถูกทำร้าย และการขาดแคลนคุณภาพออาหาร สิ่งเหล่านี้ต้องไม่มีในโรงเรียนอีกต่อไป
ถ้า “พริษฐ์” เป็นรัฐมนตรี
ถ้าทำได้…อย่างแรก คือ ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการศึกษา ให้ความสำคัญกับครู ความแตกต่างอย่างหนึ่ง ครูโรงเรียนไทย สวมหมวกหลายใบ เป็นทั้งครู และ admin staff ทำงานเอกสาร แต่โรงเรียนนานาชาติเขาแบ่งแยกชัดเจน ครูมีหน้าที่สอน ส่วน admin staff มีหน้าที่ทางธุรการ งานเอกสาร ดังนั้น ครูหนึ่งคนจึงมีเวลาเตรียมการเรียนการสอน 100%
ดังนั้น ครูไทย ต้องยกระดับเขาขึ้นมา ทำยังไงก็ได้ให้เขารู้สึกว่ามีปากมีเสียง มีเวลาคิดเพื่อเตรียมการสอนให้ดีที่สุด สอง คือการพัฒนาบุคลากร ผมเชื่อว่าครูหลายคนอยากพัฒนาตัวเอง แต่ปัญหาคือเขาไม่รู้ว่าเขาจะพัฒนาตัวเองยังไง เพื่ออะไร
ยกตัวอย่างโรงเรียน KIS มีโครงการนำครูไทย ไปพัฒนาครูไทยในชนบท สอนวิธีการเรียนการสอนให้น่าสนใจมากขึ้น ผมเชื่อว่าครูหลายคนต้องการพัฒนาตัวเอง แต่ปัญหาคือเขาไม่รู้จะพัฒนาตัวเองอย่างไร เพราะโอกาสในการพัฒนาไม่มี
ทำอย่างไรก็ได้ให้คนเก่ง ๆ อยากเป็นครู ดังนั้น เราต้องเพิ่มสวัสดิการเขา เราบอกว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แต่เราไม่ลงทุนกับระบบการศึกษาเลย แม้จะมีงบประมาณเยอะที่สุด เยอะทุกปี แต่จัดสรรอย่างไรไม่รู้ ไม่ลงไปถึงข้างล่าง
หนุนติดอาวุธทางปัญญาให้ครู
ดังนั้น ถ้าต้องการให้เด็กเป็นอนาคตของชาติ ได้รับทรัพยากร โอกาสที่ดีที่สุด คุณก็ต้องมั่นใจว่าคนที่สอนเขา ใกล้ชิดกับเขามากที่สุด ทำอย่างไรให้คนที่อยู่กับเด็กทั้งวัน มีอาวุธ มี tools ที่จะไปพัฒนาเด็กให้ดีที่สุด ทำเขามีแรงกาย แรงใจ ไปสอนเด็ก ทุกวันนี้แค่เอาเงินเดือนไปจ่ายเงินกู้ก็หมดแล้ว ไหนยังต้องจ่ายค่านู่น ค่านี่ เขาก็ไม่มีเวลาไปสอนเด็กแล้ว เด็กเลยไม่ได้อะไร
โรงเรียนนานาชาติไม่ได้ดีกว่าโรงเรียนไทย แต่แค่บอกว่าเรามีมาตรการหลาย ๆ อย่างนำไปปรับและประยุกต์ใช้กับระบบการศึกษาไทย อย่างแรกคือ บุคลากร คือหัวใจ
เราพูดมาตลอดว่า เราจะบูรณาการระบบการศึกษาไทย พูดมามา 20-30 ปี ยังไม่เห็นแผนที่ชัดเจนเลย และถามว่าเวลาเราบูรณาการแต่ละครั้ง ใครเป็นคนกำหนดกติกา คุณก็ต้องเอาคนที่เขาอยู่ในระบบ อยู่กับเด็ก ซึ่งก็คือครู ต้องถามเขาว่าเขาต้องการอะไร และต้องพัฒนาบูรณาการร่วมกับครู ต้อง bottom up ไม่ใช่ top down
ทุกวันนี้ที่ดูไปเรื่อยๆ 2 ฝ่าย ไม่คุยกัน รู้ว่าอยู่ด้วยกันแต่เส้นคู่ขนานกันตลอด ข้างบนอยากได้แบบนี้ ข้างล่างอยากได้แบบนี้ และรัฐมนตรีก็เปลี่ยนทุกปี ไม่มีความต่อเนื่อง
ต้องมีองค์กรอิสระดูแลยุทธศาสตร์การศึกษา
สิ่งที่อยากได้อีกอย่างหนึ่ง อยากให้มีองค์กรอิสระหรือ องค์กรใดองค์กรหนึ่งที่ดูแลยุทธศาสตร์ วิธีการพัฒนาระบบการศึกษาไทย แบบ long term อย่างที่เรารู้ รมว.ศึกษาธิการ ใน 20 ปีที่ผ่านมา 1 ปี เปลี่ยนเกือบ 2 คน ภาพจึงไม่ปะติดปะต่อ
สิ่งที่ควรทำเหมือนระบบการศึกษาอเมริกัน คือ แยกการศึกษากับการเมืองที่ไม่ควรอยู่ด้วยกัน เพราะสิ่งที่เราเห็นตลอดช่วงหาเสียงเลือกตั้ง นักการเมืองพูดว่า เด็กคืออนาคตของชาติ การศึกษาสำคัญ เราจะไม่มีทางให้เด็กกินขนมจีนกับน้ำปลาอีกต่อไป แต่เมื่อวาระในการเอาเข้าสภา การศึกษาไม่เคยนำเข้ามาเป็นวาระแรกๆ เพราะใช้ได้เฉพาะตอนหาเสียง แต่ทุกคนเข้ามาแล้วก็ต้องคิดถึง 4 ปีถัดไป ว่าสิ่งไหนที่ทำให้เขากลับเข้ามาได้ ก็คือแก้ปัญหาด้านปากท้อง
“ทุกอย่างจึงลงไปที่กระทรวงบางกระทรวงที่จะเห็นผลภายใน 3-4 ปี แต่การศึกษากว่าจะเห็นผล 15 ปี ไม่มีใครรอได้ ยกเว้นจะดึงออกมาให้อยู่นอกการเมือง และมีองค์กรขึ้นมาดูเรื่อง long term เหมือนกับโรงเรียนนานาชาติไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง เพราะเป็นเอกชน ก็ขึ้นอยู่กับเอกชนในการพัฒนา ไม่กระทบจากปัจจัยการเมืองภายนอก แต่ระบบการศึกษาไทยอยู่ในเข่งเดียวกัน ข้างบนเป็นอย่างไร ข้างล่างก็ต้องเปลี่ยนไปทั้งหมด”