“วิเลิศ” สวนหมัดดิสรัปต์ ปั้นบัญชีจุฬาฯสู่ World Class

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นชื่อว่า “ดัง และสอบเข้ายาก” ด้วยหลักสูตรเข้มข้น และคณาจารย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่พร้อมส่งต่อความรู้ไปยังนักศึกษา ให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในตลาดวิชาชีพ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร” คณบดีคนใหม่ ถึงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาหลักสูตรให้แข็งแกร่งในยุคที่สถาบันการศึกษาก็ไม่รอดพ้นจาก disruption

“จุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และจะชี้ให้เห็นว่าสภาวะภายนอกไม่สามารถดิสรัปต์ได้ เพราะจุฬาฯมีในสิ่งที่ดิจิทัลไม่มี” ผศ.ดร.วิเลิศเปิดมุมมองในยุคดิสรัปต์ที่หลายธุรกิจที่ทำได้เพียงตั้งรับและปรับตัว แต่สำหรับคณะพาณิชยศาสตร์ฯถือเป็นการเปิดหน้าสู้ “ผศ.ดร.วิเลิศ” ระบุว่า เข้ามารับไม้ต่อในช่วง disruption หรือบางทีอาจจะเรียกว่า “big change” แต่สำหรับคณะพาณิชยศาสตร์ฯเรียกยุคนี้ว่า “Dramatichange” ทำให้ต้องกำหนดนโยบายของคณะว่า ไม่ว่าโลกของเทคโนโลยีจะถูกพัฒนาไปอย่างไรก็ตาม ก็จะต้องป้องกันไม่ให้ปัจจัยภายนอกเข้ามาดิสรัปต์ได้ และสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือ ต้องทำให้โลกเปลี่ยนตาม “ดิสรัปต์มา ก็ดิสรัปต์กลับ” สวนหมัดต่อหมัดแลกกัน

“ผศ.ดร.วิเลิศ” บอกอีกว่า คณะพาณิชยศาสตร์ฯไม่เชื่อว่าการเรียนผ่านระบบออนไลน์หรือการใช้ดิจิทัลต่าง ๆ จะทำให้การเรียนสัมฤทธิผล เนื่องจากหลักสูตรไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการสอนให้ได้ความรู้เท่านั้น แต่ยังสอนให้นักศึกษามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีจริยธรรม และมีความเฉลียวฉลาด รอบรู้ด้วย รวมถึงสอนให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาด้วย “เหล่านี้จะทำให้บัณฑิตที่จบจากจุฬาฯมีคุณสมบัติที่ “เหนือกว่า” สามารถสู้รบปรบมือกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมไปจนถึงในอีก 5-10 ปีข้างหน้าได้”

เมื่อมองถึงอนาคตของคณะพาณิชยศาสตร์ฯ ผศ.ดร.วิเลิศ บอกว่า ได้กำหนดแนวทางไว้ 5 มิติ ในมิติที่ 1) เปลี่ยนจากการเป็น business school มาเป็น chief business school ซึ่ง chief แปลว่า “ผู้นำ” ฉะนั้น บัณฑิตจากคณะพาณิชยศาสตร์ฯต้องมีความเป็นผู้นำ นั่นหมายถึงว่าตำแหน่งสูงสุดขององค์กร คือ CEO ด้านการตลาด คือ CMO และด้านการเงิน คือ CFO จะต้องมีบัณฑิตจากจุฬาฯแน่นอน ในขณะเดียวกัน จะต้องหาพันธมิตรที่จะเข้ามาช่วยยกระดับการศึกษา

“ยกตัวอย่างภาควิชาการตลาดที่เดิมเป็น “Master in Marketing” และ Masterof Science in Marketing เมื่อได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษพัฒนาหลักสูตรอันแรกที่เป็น Master in Branding and Marketing เป็นแห่งแรกในไทย ถือเป็นหลักสูตรปริญญาตรีภาคภาษาอังกฤษที่เข้ายากที่สุดอันหนึ่งของไทย และเด็กที่เข้ามาเรียนนี้ยังทำคะแนน SAT อันดับหนึ่งด้วยคะแนนสูงถึง 1,530 คะแนนอีกด้วย”

มิติที่ 2) คุณภาพของการเรียนการสอน เรามีคณาจารย์ที่จบการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกและมีวิทยากรจากบริษัทชั้นนำระดับโลกมาร่วมสอนในความรู้เชิงประยุกต์และภาคปฏิบัติ เป็นต้น มิติที่ 3) การสร้างระบบรองรับ หรือ facility plan จากที่วางเป้าหมายการเป็น chief business school แล้ว ต้องนำดิจิทัลมาผสมผสานกับการเรียน เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ใน “เชิงลึกและกว้าง” โดยเฉพาะนักศึกษาที่มี passion เพราะเมื่อเรียนจบแล้วบัณฑิตจะมีอาชีพที่สามารถเติบโตในแต่ละสาขา สิ่งที่คณะพาณิชยศาสตร์ฯมองอีก คือ การเรียนไม่ได้เรียนจบออกไปเพื่อให้มีอาชีพเท่านั้น แต่อาชีพคือชีวิตของบัณฑิต

“การเรียนในคณะนี้จะเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้เรียนแค่หาความรู้ แต่ต้องสร้างวิชาชีพและสร้างชีวิตให้ดีขึ้น เหมือนกับที่เราต้องการ คือ ต้องการเป็น “Life changing experience” เพราะเชื่อมั่นว่าประสบการณ์สามารถเปลี่ยนคนได้ จากที่ไม่รู้เรื่องเมื่อมาเรียนกับเรา 4 ปี ทัศนคติและมุมมองจะเปลี่ยนในเชิงธุรกิจว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรได้รับการพัฒนาถึงขีดสุด และต้องมีจริยธรรม พร้อมช่วยเหลือสังคม ฉะนั้น สิ่งที่ต้องลงทุนคือ การเพิ่มเรื่องดิจิทัลเข้ามาช่วย”

สิ่งที่ต้องลงทุนเพิ่ม คือ 1) การสร้างไฟแนนเชียลแล็บที่มีลักษณะคล้ายกับห้องลงทุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2) สร้างมาร์เก็ตติ้งแล็บ และ 3) สร้าง flagship lounge เป็นสถานที่รวมนักศึกษาให้มาระดมความเห็น หรือทำการบ้านและโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ทำให้คณะพาณิชยศาตร์ฯมีความก้าวหน้าและล้ำสมัย ที่สำคัญกว่านั้นยังช่วยสร้างความผูกพันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา

มิติที่ 4) สร้างหน่วยงานใหม่ของคณะเพื่อทำ “กิจกรรมเพื่อสังคม” เพื่อนำเรื่อง CSR เข้ามาผสมในการเรียนการสอน เมื่อมีระบบดิจิทัลที่ดีแล้ว จะช่วยเหลือสังคมผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า DSR digital social responsibility ถือเป็นขั้นกว่าของการช่วยเหลือสังคมที่แตกต่างจากรูปแบบ social enterprise หรือ SE ในทุกกิจกรรมของ DSR จะเน้นไปที่ความรับผิดชอบสังคมผ่านระบบดิจิทัล

“เราต้องสรรหาสิ่งใหม่ ๆ เพราะจุฬาฯเป็นตัว “ชี้นำสังคม” หากดูโลกโซเชียลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือว่า LINE มีส่งข้อความประณาม หยามเหยียด หรือการค้าขายผ่านออนไลน์ ในโลกดิจิทัลนั้น คำถามคือ วันนี้ถึงเวลาหรือยังที่จะรณรงค์ให้ภาคธุรกิจทางด้านดิจิทัลนั้นมี “จริยธรรม” ไม่เอาเปรียบสังคมผ่านโลกดิจิทัล ทำให้ยูสเซอร์ทั้งหลายใช้วิจารณญาณก่อนที่จะแชร์ข้อมูล”

และมิติที่ 5) เชื่อมโยงกับโลกธุรกิจ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่มีทั้งความสดและใหม่ นอกจากนี้ จะใช้เครือข่ายของศิษย์เก่าเพื่อให้เกิด cluster database คือการจัดเก็บข้อมูลศิษย์เก่า-ปัจจุบันในกรณีที่มีการจัดอบรมต่าง ๆ ศิษย์เก่าก็สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ ช่วยเสริมให้คณะมีการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานระดับเวิลด์คลาสด้วย

นอกเหนือจาก 5 มิติข้างต้นแล้ว ผศ.ดร.วิเลิศขยายความให้ฟังอีกว่า การตั้งเป้าไปสู่การเป็น chief business school แล้ว ยังมองไกลไปถึงการแข่งขันด้านมาตรฐานการศึกษาในระดับเอเชียไปถึงระดับโลกด้วยการสร้างความเป็นต้นฉบับ หรือ originality ของตัวเองให้ได้

“เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้มีปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษ แต่ยังขาดการคิดอะไรใหม่ ๆ เพราะตอนนี้ทุกอย่างเกิดจากต่างชาติหมดเลย คนไทยสอนหนังสือผ่านความจำและนำมาเล่า ซึ่งต้องมีอะไรที่เหนือกว่า สิ่งที่นักบัญชีควรมีคือ ความเฉลียวฉลาดและเมื่อเจอปัญหาจะต้องแก้ไขให้ได้ เพราะสิ่งที่องค์กรต้องการคือ นักบัญชีที่ฉลาดและมีความรู้รอบด้าน”

เมื่อถามถึงการเรียนข้ามศาสตร์ที่มีการพูดถึงอย่างมากนั้น ผศ.ดร.วิเลิศอธิบายว่า ในอนาคตเทรนด์ของการเรียนข้ามศาสตร์จะมากขึ้น รวมถึงในปัจจุบันคณะพาณิชยศาสตร์ฯได้ทำมาต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปในยุคนี้คือ จากเดิมที่นักศึกษาที่เข้ามาเรียนจะมาจากสายวิทย์และสายศิลป์ แต่ปีล่าสุดนี้นักเรียนสายศิลป์-คณิตที่มีคะแนนเป็นอันดับ 1 เลือกเรียนในคณะพาณิชยศาสตร์ฯ

“เราอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกเมื่อเทียบกับสายวิทย์ แต่ปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่เข้าใจความสามารถของตัวเอง มีแรงบันดาลใจ และพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า ที่สำคัญสังคมไม่ได้มองกันตรงที่เรียนเก่งแล้วจะเป็นแพทย์หรือวิศวกรเท่านั้น ยังมีอีกหลายอาชีพที่เรียนเก่งในระดับเดียวกันที่เลือกเรียนสาขาอื่น ๆ ด้วย

ในช่วงท้าย ผศ.ดร.วิเลิศกล่าวว่า นักศึกษาในปัจจุบันมีความกล้ามากขึ้นที่จะเดินตามฝันของตัวเอง และเชื่อมั่นว่าจะได้เห็นนักศึกษาเก่ง ๆ เข้ามาในคณะพาณิชยศาสตร์ฯมากขึ้น เป็นภาพอนาคตที่อยากเห็น…