ผอ.ร.ร.ดังชี้สอบรับเด็ก 100% ต้องศึกษาให้รอบคอบ “นักวิชาการ” เห็นด้วย แนะแยก “ความเป็นเลิศ-เสมอภาค” ออกจากกัน

กรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณาปรับหลักเกณฑ์การรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2563 โดยให้กำหนดเป็นแผนแม่บท เพื่อเกณฑ์การรับนักเรียนจะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงทุกปี เช่นการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการกำหนดไว้ที่ 60% เกณฑ์จำนวนนักเรียน 40 คนต่อห้อง ไม่ควรไปบังคับโรงเรียนต้องรับเด็กในพื้นที่ 100% ทั้งหมด โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงให้รับนักเรียนทั่วประเทศเข้ามาเรียนด้วยการสอบ 100% เพราะโรงเรียนกลุ่มนี้ถือเป็นโรงเรียนที่ทำหน้าที่พัฒนานักเรียนเก่งของประเทศ ส่วนโรงเรียนอื่นที่ไม่อยู่ในกลุ่มโรงเรียนแข่งขันสูง สามารถรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการได้เลย

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม นายโสภณ กมล ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนเตรียมอุดมฯ นั้นเป็นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง และรับนักเรียนเข้าเรียนด้วยการจัดสอบเข้าเรียน 100% อยู่แล้ว แต่ตนมองว่า การให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดรับนักเรียนทั่วประเทศเข้ามาเรียนด้วยการสอบ 100% นั้น สำหรับในกรุงเทพฯ ตนเห็นด้วยและมีความเหมาะสมที่ให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงจัดสอบ 100% แต่ในต่างจังหวัดอาจจะไม่ได้ ต้องศึกษาดูรายละเอียดทุกอย่างให้รอบคอบ

“ไม่อาจสรุปว่าทั้งประเทศเหมาะหรือไม่เหมาะ ที่จะให้โรงเรียนที่อัตราแข่งขันสูงรับนักเรียนด้วยการสอบ 100% เมื่อเกณฑ์รับนักเรียนนี้ออกมาและไปตีกรอบให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงไม่รับเด็กในเขตพื้นที่บริการแล้ว อาจจะมีโรงเรียนดังหลายแห่งใช้ช่องทางนี้เพิ่มการรับจำนวนนักเรียน เช่น เกณฑ์กำหนดให้รับนักเรียน 40 คนต่อห้อง โรงเรียนอาจจะมาขอขยายเป็น 45 คนต่อห้อง ถ้าทำอย่างนี้ กระทบโรงเรียนอื่นที่อยู่รอบๆ แน่นอน ดังนั้นควรมีความชัดเจน กำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้อง จะมาขอขยายห้องเรียนไม่ได้ เป็นต้น เรื่องนี้ต้องดูอีกหลายจุด ต้องวิเคราะห์กันตามแต่ละพื้นที่ รับฟังความคิดเห็นของผู้ปกครอง และเวลาประกาศเกณฑ์การรับนักเรียนที่มีสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ควรจะประกาศอย่างน้อยล่วงหน้า 2 ปี เพื่อให้ผู้ปกครองได้เตีรยมตัว แต่ถ้าปรับใช้เกณฑ์นี้ทันที จะสร้างกระทบทั้งผู้ปกครองและโรงเรียน” นายโสภณกล่าว

นายโสภณกล่าวต่อว่า ข้อดีที่ให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงรับนักเรียนด้วยการสอบ 100% คือสร้างมารถยกคุณภาพนักเรียน คุณภาพทางการศึกษาได้แน่นอน แต่การยกคุณภาพไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนได้นักเรียนที่เก่งเข้ามาเรียนเพียงอย่างเดียว อยู่ที่โรงเรียนด้วยว่ามีความสามารถในการบริหารจัดการ มีวิธีการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการสร้างคุณภาพทางการศึกษาอย่างไร

น.ส.วรรณา จันทวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ กล่าวว่า ถ้าให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงรับนักเรียนด้วยการสอบ 100% ถือเป็นเรื่องดีที่จะได้นักเรียนที่เก่งมีศักยภาพ แต่ข้อเสียคือ นักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการ จะไม่ได้สิทธิในการสอบเข้าในเขตพื้นที่บริการอีกต่อไป ต้องเข้าสอบเหมือนกับนักเรียนคนอื่น และเนื่องจากโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ ไม่ใช่โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง อย่างในปีการศึกษาที่ผ่านมา อย่างในปีที่ผ่านมาเกณฑ์การรับนักเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้รับนักเรียนระดับชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 ในโรงเรียนเดิมได้ทั้งหมด โรงเรียนก็รับนักเรียนได้เต็มจำนวน เนื่องจากนักเรียนส่วนหนึ่งออกไปเรียนต่อในสายอาชีพ

น.ส.วรรณา กล่าวต่อว่า ส่วนที่ กพฐ.เสนอให้มีการกำหนดการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัว เช่น โรงเรียนสามารถรับนักเรียนได้จำนวน 1,200 คน หากเกินกว่านี้จะได้รับเงินอุดหนุนน้อยลงนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะโรงเรียนต้องนำงบประมาณเหล่านี้มาบริหารจัดการเพื่อจัดการศึกษาให้นักเรียน และสิ่งนี้เป็นพื้นฐานที่รัฐต้องดูแลนักเรียนด้วย

ด้าน น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงรับนักเรียนเข้าเรียนด้วยการสอบ 100% และให้โรงเรียนชื่อดังประจำจังหวัด อย่างน้อย 1 แห่ง ควรรับนักเรียนด้วยการสอบเช่นเดียวกัน เพื่อให้โรงเรียนผลิตนักวิชาการของประเทศ ผลิตคนที่เก่งออกมาสู่สังคม เป็นมันสมองของประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องจำกัดอัตราครูกับจำนวนนักเรียนต่อห้องให้ดี เช่น 1:25 1:30 คน เป็นต้น

“ความเป็นเลิศทางการศึกษาและความเสมอภาคทางการศึกษานั้น เป็นคนละแนวคิดกัน โรงเรียนเหล่านี้ต้องการสร้างความเป็นเลิศ ไม่ใช่ความเสมอภาค และใฟ้โรงเรียนที่อยู่รอบโรงเรียนขนาดใหญ่เหล่านี้ รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการเข้าเรียนแทน แต่การให้โรงเรียนขนาดใหญ่ที่สอบแข่งขันเข้าเรียน รัฐต้องจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้อย่างเพียงพอ เพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนจัดการศึกษามุ่งสู่ความเป็นเลิศให้ได้ จึงไม่สามารถนำความเป็นเลิศ และความเสมอภาคเข้ามาอยู่ด้วยกันได้ เพราะหากให้เด็กอ่อนเด็กเก่งเรียนร่วมกัน ครูจะสอนเร็วก็ไม่ได้ ต้องจัดการศึกษาแบบคละชั้น หากเด็กเก่งเรียนร่วมกันสามารถจัดการศึกษาสู่ความเป็นเลิศได้” น.ท.สุมิตร กล่าว

น.ท.สุมิตร กล่าวต่อว่า เมื่อทำให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เป็นโรงเรียนที่เป็นเลิศแล้ว รัฐจะต้องไม่ลืมโรงเรียนที่อยู่โดยรอบด้วย ต้องสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนเหล่านี้เพียงพอในการจัดสรรงบประมาณต่างๆ เพื่อใช้จ่ายภายใน และพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย ส่วนข้อเสนอให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงสอบ 100% จะมีผู้ปกครองออกมาโวยหรือไม่ มีแน่เพราะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และเกณฑ์นี้จะต้องมีการประกาศให้ผู้ปกครองทราบล่วงหน้าด้วย เพื่อให้ผู้ปกครองเตรียมตัวได้ถูก

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์