สจล.ยึด 6 แนวคิด ปั้นนักศึกษาสู่ดิสรัปเตอร์

ประเทศไทยกำลังพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่นำเทคโนโลยีมาผสมผสานจุดแข็งของประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน บนความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินในโลกดิจิทัล ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและไม่หยุดนิ่งในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น (technology disruption) ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ส่งผลให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยประยุกต์ใช้จุดแข็งของสถาบันที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 60 ในการเป็นรากฐานการพัฒนานวัตกรรมเคียงคู่สังคมไทยมากับ 6 แนวคิดการพัฒนานักศึกษาสู่บัณฑิตที่สมบูรณ์แบบ

 

“ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล.ก้าวเข้าสู่ปีที่ 60 หากเปรียบเทียบกับอายุคนถือว่าล่วงมากว่าครึ่งชีวิต แต่ในแง่มุมของประสบการณ์ และการสร้างบัณฑิตสู่การพัฒนาประเทศในทุกมิติ ถือได้ว่าลูกพระจอมเกล้าฯลาดกระบังได้ใช้ศักยภาพและอยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างเต็มความสามารถสจล.ได้ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงหลักสูตร และรูปแบบการเรียนการสอน เตรียมปั้นนักศึกษา และคณาจารย์ สู่การเป็นนวัตกรเคียงคู่สังคมไทย ด้วย 6 แนวคิดการพัฒนานักศึกษาสู่บัณฑิตที่สมบูรณ์แบบ ได้แก่

1.GO Trans-formation : จัดการกับความท้าทาย และความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง-ภาคธุรทั่วโลกล้วนเผชิญกับความเสี่ยงของเทคโนโลยีดิสรัปชั่น จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรคลื่นลูกใหม่ที่มีทักษะความรู้ในโลกดิจิทัล เช่น artificial intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์, คลาวด์ (cloud) อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ (internet of things-IOT) เป็นต้น ดังนั้น คลื่นลูกใหม่นอกจากจะเป็นความหวังในการสร้างสรรค์นวัตกรรมแล้ว ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะสร้างสังคมที่เท่าเทียมทางเทคโนโลยีโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกด้วย

2.GO Creativity เราปั้นบัณฑิตให้เป็นดิสรัปเตอร์ (disruptor) เพราะโลกกำลังคาดหวังบุคลากรที่มีทักษะหลากหลาย มีวัฒนธรรมเปิดกว้างทางความคิด สร้างสรรค์ผลงานผ่านทีมเวิร์ก และกระตือรือร้น ตอบโจทย์ในยุคที่แบรนด์ด้านเทคโนโลยีมีบทบาทกับระบบเศรษฐกิจสูงสุด (disruptive brands) เช่น เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) อูเบอร์ (Uber) เทสล่า (Tesla) แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ฯลฯ เราจึงมี 2 ทางเลือกคือการเป็นดิสรัปเตอร์สร้างสรรค์เทคโนโลยีดิจิทัลขึ้นมา หรือยอมถูกดิสรัปต์กับการไม่เปลี่ยนแปลง

3.GO Active Learning ลดการเรียนแบบบรรยาย เพิ่มการเสวนา หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การทำโปรเจ็กต์หรือประดิษฐ์นวัตกรรม และการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์สมมุติในระบบเกม (gamification) เป็นต้น ที่สำคัญครูเป็นโค้ช เปิดพื้นที่ให้เด็กมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งที่พวกเขาต้องการจะเรียนรู้ ควบคู่กับการทำงานจริงกับพาร์ตเนอร์ และเน้นการทำงานเป็นทีม ที่พร้อมด้วยทักษะด้านวิชาการและทักษะด้านการใช้ชีวิต

4.GO Facilitators ครูต้องมีทักษะมากกว่าการสอนในเชิงวิชาการ เป้าหมายของ สจล. คือ มุ่งสร้างนวัตกรไทยไปสู่การเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งใหม่ของเอเชียนั้นไม่ใช่แค่ความฝัน แต่เกิดจากการวางแผนสร้างต้นแบบ หรือโค้ชที่มีประสบการณ์และคลุกคลีกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมในโลกเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเชื่อหรือไม่ว่าซอฟต์แวร์สิริ (Siri) บนแพลตฟอร์มของแอปเปิล (APPLE) อย่างไอโฟน (iPhone) ไอแพด (iPad) สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้เสมือนมนุษย์จริงเป็นผลงานของคนไทย คือ “รศ.ดร.วีระ บุญจริง” อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ สจล. ไม่เพียงแค่ท่านเท่านั้น แต่ยังมีนักวิชาการและนักวิจัยลูกพระจอมเกล้าฯลาดกระบังอีกหลายคนที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม

5.GO Smart Disruptor การสร้างทักษะการเรียนรู้ในยุคดิสรัปชั่น นอกเหนือไปจากการเรียนรู้แบบผสมผสานทั้งศาสตร์ และศิลป์แล้ว ทักษะในเชิงสังคมและอารมณ์ก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถสมบูรณ์แบบ เช่น ทักษะการรับมือและแก้ปัญหา ทักษะการคิดสร้างสรรค์และการวิพากษ์ ทักษะความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น

6.GO Collaboration ผ่านการผสานความร่วมมือจากนักศึกษา เราจะสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้แบบโปรดักทีฟ (productive) หรือการเรียนรู้สองทาง (two-way learning based) เพื่อกระตุ้นกระบวนการคิด การฝึกตั้งคำถามและวิเคราะห์ด้วยตัวเอง จนทำให้ สจล.สามารถสร้างดีเอ็นเอให้กับครู และบัณฑิตในยุคดิจิทัล พร้อมกับถ่ายทอดสิ่งดี ๆ ด้วยการยึดจุดยืนของการเป็นสถาบัน และรากฐานนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคมไทยอย่างแท้จริง